การได้รับยากันชักระหว่างอยู่ในครรภ์ สัมพันธ์กับการเป็นออทิสติก
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2556 -- อ่านแล้ว 4,917 ครั้ง
Rebecca Louise Bromley และคณะ ทำการศึกษาผลของการรับประทานยากันชักในหญิงตั้งครรภ์ ต่อบุตรหลังจากคลอด โดยศึกษาในเด็กจำนวน 415 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 214 ราย และกลุ่มที่เกิดจากมารดาที่เป็นโรคลมชักและได้รับยากันชัก 201 ราย พบว่าเมื่อเด็กมีอายุได้ 6 ปี เด็กจำนวน 19 รายมีการพัฒนาของระบบประสาทที่ผิดปกติ โดยแบ่งเป็น ออทิสติก 12 ราย สมาธิสั้น 3 ราย ออทิสติกร่วมกับสมาธิสั้น 1 ราย และมีภาวะระบบประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวทำงานผิดปกติ 4 ราย
จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเด็กที่มีการพัฒนาของระบบประสาทที่ผิดปกติเกิดจากมารดาที่เป็นโรคลมชักซึ่งได้รับยากันชัก (ร้อยละ 7.46) มากกว่ากลุ่มควบคุม (ร้อยละ 1.87) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
นอกจากนั้น เมื่อแบ่งกลุ่มยาที่มารดาได้รับระหว่างตั้งครรภ์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับ valproate เดี่ยวๆ และกลุ่มที่ได้รับ valproate ร่วมกับยาอื่นๆ มีโอกาสที่บุตรจะเกิดมาความผิดปกติของระบบประสาทสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญถึง 6 และ 10 เท่า ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับ carbamazepine หรือ lamotrigine ไม่พบว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้วิจัยได้แนะนำว่า แพทย์และเภสัชกรควรให้คำปรึกษา คำแนะนำ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อรับประทานยา แก่หญิงตั้งครรภ์ที่มี valproate เป็นยารักษาหลัก