หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นทะเบียน Xeljanz สำหรับรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน พฤศจิกายน ปี 2555 -- อ่านแล้ว 7,027 ครั้ง
 
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 คณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) ได้ขึ้นทะเบียนยาชื่อการค้า Xeljanz ที่มีตัวยาสำคัญคือ tofacitinib ซึ่งมีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในระดับความรุนแรงปานกลางถึงมาก (moderate to severe rheumatoid arthritis) ที่ตอบสนองต่อการรักษาไม่เพียงพอ ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่สามารถทนอาการข้างเคียงของยา methotrexate ได้

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis : RA) เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เกิดการทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อ ซึ่งส่วนมากจะพบที่บริเวณข้อต่างๆ ตามร่างกาย เช่น ข้อมือ ข้อเท้า นอกจากนั้นยังส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณต่างๆ ของร่างกายได้ เช่น การอักเสบของเนื้อเยื่อที่ปอด การอักเสบของหลอดเลือด จากข้อมูลของกรมควบคุมและป้องกันโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ประชาชนชาวอเมริกัน ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ประมาณ 1.5 ล้านคน

Xeljanz (tofacitinib) ออกฤทธิ์ ยับยั้งโปรตีนภายในเซลล์ที่ชื่อว่า Janus kinase ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณของเซลล์เพื่อให้เกิดการแบ่งเซลล์ในกระบวนการอักเสบ ยานี้จะต้องรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง

มีงานวิจัย 7 งานที่ประเมินประสิทธิภาพของยา tofacitinib ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่ความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับปานกลางถึงมาก พบว่างานวิจัยทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ายา tofacitinib มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ทั้งในแง่ของการตอบสนองทางคลินิกและการทำงานของข้อ อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับยาหลอก สำหรับอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากงานวิจัย ได้แก่ การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน (upper respiratory tract infection), ปวดศีรษะ(headache), ท้องเสีย (diarrhea), การอักเสบของทางเดินอากาศภายในโพรงจมูก (inflammation of nasal passage), ระดับของเอนไซม์ตับและระดับคลอเรสเตอรอลในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบอาการข้างเคียงที่รุนแรง ได้แก่ เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาส (increase risk of opportunistic infection), วัณโรค (tuberculosis) และมะเร็ง (cancer) เป็นต้น

 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้