การใช้ยา teriparatide และยาdenosumabร่วมกันให้ผลต่อมวลกระดูกที่ดีกว่าการใช้ยาเดี่ยวๆ
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน ตุลาคม ปี 2555 -- อ่านแล้ว 14,149 ครั้ง
ก่อนหน้านี้มีการศึกษาพบว่า การใช้ยา bisphosphonate ร่วมกับกลุ่มยาเพิ่มการสร้างกระดูก (anabolic agent)เช่นยา teriparatide ไม่ได้ให้ประโยชน์ที่มากกว่าการใช้ยาเดี่ยวๆในการรักษาโรคกระดูกพรุน แต่จากการศึกษาในสัตว์ทดลองกลับพบว่า การใช้ยา teriparatide และยาdenosumab ซึ่งเป็นยากลุ่มลดการทำลายกระดูกร่วมกันจะเพิ่มมวลกระดูก นายแพทย์Benjamin Leder และคณะ จึงได้ทำการศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มเพื่อดูผลของการใช้ยาทั้งสองตัวนี้ร่วมกันในการรักษาโรคกระดูกพรุน ในกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนอายุระหว่าง 51-91 ปี ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดภการแตกหักของกระดูก จำนวน 92 ราย โดยผู้ป่วยจะถูกสุ่มให้ได้รับยา teriparatide 20 mcg วันละครั้ง (n=31) หรือ ยา denosumab 60 mg ฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุก 6 เดือน (n=33) หรือทั้งสองชนิดร่วมกัน (n=30) ผลการศึกษาพบว่า เมื่อสิ้นสุดการศึกษา 12 เดือน กลุ่มที่ได้รับยาสองชนิดร่วมกันมีมวลกระดูกที่สะโพกมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาteriparatide และยาdenosumabเดี่ยวๆ อย่างมีนัยสำคัญ คิดเป็นร้อยละ 4.9 เทียบกับร้อยละ 0.7 และ 2.5 ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่ามวลกระดูกที่สะโพกช่วงต้นและกระดูกสันหลัง แต่เมื่อวัดมวลกระดูกที่ปลายแขนด้านนอกพบว่าการใช้ยาสองชนิดร่วมกันและการใช้ยา danosumab เดี่ยวๆช่วยเพิ่มค่ามวลกระดูก แต่ยา teriperatide กลับลดค่ามวลกระดูก ในด้านกลไกของการใช้ยาสองชนิดร่วมกันทั้งยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกี่ยวข้องกับการที่ยา danosumab ช่วยป้องกันผลการสลายกระดูกจากยา teriparatide (pro-resorptive effect) ในขณะที่ช่วยเพิ่มการสร้างกระดูก อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษายืนยันอีกครั้ง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะกระดูกหัก