การใช้ยากลุ่ม Bisphosphonate ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจช่วยรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้ป่วยบางกลุ่ม
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน พฤษภาคม ปี 2555 -- อ่านแล้ว 13,718 ครั้ง
โรคกระดูกพรุนเกิดจากมวลกระดูกในร่างกายลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการมีกระดูกเปราะ หรือแตกหักได้ง่าย ยากลุ่ม Bisphosphonate จะช่วยชะลอการสูญเสียมวลกระดูก ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มนี้แม้จะพบได้ไม่บ่อยแต่ก็มีรายงานว่าทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น กระดูกต้นขาหักแบบผิดปกติ หรือกระดูกขากรรไกรตายจากการขาดเลือด และมะเร็งหลอดอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจึงได้ทำการประเมินประสิทธิผลของการใช้ยากลุ่ม Bisphosphanate ในระยะยาวขึ้นภายใต้การดำเนินการวิจัยของ Dr. Whitaker และคณะซึ่งได้ทำการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ พบมีการศึกษาควบคุมแบบสุ่ม 3 แห่งเกี่ยวกับการใช้ยากลุ่ม Bisphosphonate (alendronate, zolendronate, risedronate) เป็นเวลา 6 ถึง 10 ปีในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เคยมีกระดูกหักมาก่อน หรือมีค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำ (T score น้อยกว่าหรือเท่ากับ -1.5) หรือมีทั้งสองอย่าง ผลสรุป คือ การใช้ยาติดต่อกันนาน 5 ปีช่วยลดอัตราการเกิดกระดูกหักได้ แต่ถ้าใช้ยาต่อไปมากกว่า 6 ปีขึ้นไปไม่ได้ทำให้จำนวนครั้งของการเกิดกระดูกหักลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกวิเคราะห์ย่อย พบว่า การใช้ยา alendronate เป็นระยะเวลา 10 ปี ช่วยลดจำนวนครั้งของการเกิดกระดูกหักในคนไข้ที่ไม่มีการหักของกระดูกมาก่อนแต่มีค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกน้อยกว่า -2.5 เมื่อวัดที่กระดูกสะโพก ดังนั้น จากงานวิจัยนี้ชี้แนะให้เห็นว่าผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดกระดูกหัก เช่น ผู้ที่มีอายุน้อย ไม่มีประวัติกระดูกหักมาก่อน และมีค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกใกล้เคียงค่าปกติ อาจให้หยุดการใช้ยากลุ่ม Bisphosphonate ได้หลังจากใช้ยามาแล้ว 3-5 ปี ขณะที่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหัก เช่น ผู้สูงอายุที่มีประวัติกระดูกหักมาก่อนและมีค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำอาจได้ประโยชน์จากการใช้ยากลุ่ม Bisphosphonate ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน