หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ลักษณะเฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์ยาสูดพ่นกับข้อควรระวัง

โดย นศภ. สุพิชชา ศิลาพัชรนันท์ เผยแพร่ตั้งแต่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2557 -- 181,931 views
 

ปัจจุบันยารูปแบบสูดพ่นได้รับความนิยมในการรักษาหรือบรรเทาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
เป็นอย่างมาก เช่น การใช้ยาในโรคหอบหืด หรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง ยาในรูปแบบนี้มีข้อดีคือสามารถนำส่งยาเข้าสู่หลอดลมหรือปอดได้โดยตรง ยาจึงออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว และลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับระบบอื่นๆของร่างกายได้ รวมทั้ง
ลดปริมาณยาที่ต้องใช้ได้เมื่อเปรียบเทียบกับการให้ยาด้วยวิธีอื่น แต่ยารูปแบบสูดพ่นมักมีวิธีการใช้ยุ่งยากและซับซ้อน ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมักมีวิธีการใช้แตกต่างกันไป ทั้งนี้เนื่องจากผลิตภัณฑ์แต่ละแบบมีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการพ่นยา และส่วนประกอบที่บรรจุอยู่ภายใน ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อนำส่งยาไปยังบริเวณที่ต้องการให้ยาออกฤทธิ์
ได้ดี ทำให้การใช้ยาเกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด และมีผลข้างเคียงต่ำที่สุด

ในที่นี้จะกล่าวถึงรูปแบบผลิตภัณฑ์ยาสูดพ่นที่พบมากในท้องตลาด 2 รูปแบบ คือ Metered Dose Inhaler และ Dry Powder Inhaler

1. Metered Dose Inhaler (MDI)

MDI เป็นเครื่องมือสูดพ่นยา ภายในบรรจุยาแขวนลอยอยู่ในก๊าซเหลว (liquefied gas) ในรูปแบบยาแขวนตะกอน (suspension)

ยาจะถูกฉีดพ่นออกมาผ่านหัวฉีดโดยอาศัยแรงดันจากก๊าซเหลวได้เป็นละอองฝอยของยาในปริมาณที่เท่ากันทุกครั้งของการกดพ่นยา ตัวยาจะถูกส่งต่อไปยังหลอดลมหรือปอดได้โดยอาศัยการหายใจเข้าของผู้ใช้ยา ตัวอย่างยาที่มีจำหน่ายในท้องตลาดได้แก่ Ventolin® Evohaler เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูดพ่นที่ประกอบด้วยตัวยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้น สำหรับบรรเทาอาการจับหืดเฉียบพลันSeretide® Evohaler เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูดพ่นที่ประกอบด้วยยาสูตรผสมระหว่างยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาวกับยาสเตียรอยด์สำหรับควบคุมอาการของโรคหอบหืดหรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง

สิ่งสำคัญของการใช้ยาในรูปแบบนี้คือควรเขย่าหลอดยาก่อนการใช้ยาทุกครั้งเพื่อให้ยาที่ถูกผสมอยู่กับก๊าซเหลวในรูปแบบของยาแขวนตะกอนกระจายตัวได้ดีในก๊าซเหลวนั้นก่อนพ่นยา นอกจากนี้ผู้ใช้ยาควรหายใจเข้าแบบ “ช้า และ ลึก” หลังกดพ่นยาในทันทีเพื่อเพิ่มปริมาตรการหายใจ ทำให้ยาถูกนำส่งไปยังปอดได้ หากการพ่นยาไม่สัมพันธ์กับการหายใจเข้าจะทำให้ละอองยาส่วนใหญ่ตกค้างอยู่ในช่องปากแทนในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจเข้าให้สัมพันธ์กับการกดพ่นยาได้แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ร่วมกับ spacer

2. Dry Powder Inhaler (DPI)

DPI เป็นเครื่องมือสูดพ่นยา ภายในบรรจุยาในรูปแบบผงแห้งผสมกับสารเพิ่มปริมาณอื่น เพื่อลดการเกาะกลุ่มของผงยา ทำให้ผงยาไหลได้ดี ง่ายต่อการผลิตและไม่เกาะกันเป็นกลุ่มก้อนขณะสูดพ่น การใช้ยาในรูปแบบ DPI อาจไม่จำเป็นต้องพ่นยาให้สัมพันธ์กับการหายใจเหมือนรูปแบบ MDI ตัวอย่างยาที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีหลากหลายชนิด เช่น Pulmicort® Turbuhaler เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูดพ่นที่ประกอบด้วยตัวยาสเตียรอยด์ Spiriva® HandiHaler ประกอบด้วยตัวยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์นาน Seretide® Accuhaler และ Symbicort® Turbuhaler ประกอบด้วยยาสูตรผสมระหว่างยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาวกับยาสเตียรอยด์ ยาที่ยกตัวอย่างดังกล่าวทั้งหมดเป็นยาสำหรับควบคุมอาการของโรคหอบหืดหรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง

สิ่งสำคัญของการใช้ยาในรูปแบบนี้ คือการหายใจเข้าแบบ “เร็ว แรง และ ลึก” เพื่อให้ผงยาที่อาจเกาะกลุ่มอยู่กับสารเพิ่มปริมาณหลุดออกจากกัน และทำให้ยาเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนลึกได้ นอกจากนี้ เนื่องจากยาที่บรรจุอยู่ภายในเป็นผงแห้ง จึงไม่ควรพ่นลมหายใจเข้าเครื่องสูดพ่น เพราะอาจทำให้ผงยาฟุ้งกระจาย และความชื้นจากลมหายใจอาจทำให้ผงยาจับตัวเป็นก้อนได้ ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือห้ามทำความสะอาดเครื่องสูดพ่นชนิดนี้ด้วยน้ำเพราะอาจทำให้ผงยาภายในเครื่องได้รับความชื้น ควรทำความสะอาดโดยใช้ผ้าแห้งเช็ดเท่านั้น

ประเภทของ DPI ที่นิยมใช้ในปัจจุบันได้แก่

ประเภทของ DPI

รายละเอียดของเครื่องมือ

Turbuhaler เป็นเครื่องสูดพ่นยาชนิด multi-unit dose ผงยาทั้งหมดจะบรรจุรวมกัน
อยู่ภายในส่วนที่ใช้กักเก็บผงยาหรือที่เรียกว่า reservoir ก่อนใช้ผู้ป่วยต้องแบ่งยาให้ได้ขนาดการใช้โดยการบิดฐานหลอดยาในทิศทวนเข็มนาฬิกาจนสุด แล้วบิดกลับในทิศตามเข็มนาฬิกา
เพื่อแบ่งผงยาจาก reservoir บรรจุลงในตำแหน่งที่พร้อมสูดผงยา ข้อเสียของเครื่องสูดพ่นยาชนิดนี้คือการที่ผงยาทั้งหมดบรรจุอยู่รวมกัน ทำให้สัมผัสกับความชื้นได้ง่ายกว่าแบบ Accuhaler นอกจากนี้ตัวเลขด้านข้างหลอดยายังบ่งบอกถึงจำนวนยาที่เหลืออยู่ และตัวเลขจะลดลงทุกครั้งที่มีการใช้ยา

Accuhaler เป็นเครื่องสูดพ่นยาชนิด multi-unit dose การบรรจุยาลงในตัวเครื่องแตกต่างจาก Turbuhaler คือ ผงยาจะถูกบรรจุใน foil-foil aluminum strip แบ่งตามขนาดการใช้แต่ละครั้ง ดังนั้นจึงมีข้อดีคือ ยาจะถูกแกะออกจาก foil-foil aluminum strip เมื่อต้องการใช้เท่านั้น ยาจึงทนต่อความชื้นได้ดีกว่าแบบ Turbuhaler ก่อนใช้ผู้ป่วยต้องเปิดเครื่อง โดยใช้มือข้างหนึ่งจับที่ตัวเครื่องด้านนอกไว้ แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือของอีกมือหนึ่งวางลงที่ร่อง ดันนิ้วหัวแม่มือในทิศทางออกจากตัวไปจนสุด จากนั้นให้ถือเครื่องไว้โดยให้ด้านปากกระบอกหันเข้าหาตัว ดัน
แกนเลื่อนออกไปจนสุด จะได้ยินเสียงคลิ๊กเพื่อลอก foil-foil aluminum strip ให้พร้อมสูดผงยา เมื่อดันแกนเลื่อนแล้วควรถือเครื่องสูดพ่นยาให้อยู่ในแนวระนาบเพื่อไม่ให้ผงยาหก เมื่อสูดยาแล้วให้ปิดเครื่องโดยวางนิ้วหัวแม่มือลงบนร่องแล้วเลื่อนกลับเข้าหาตัวจนสุด จนได้ยินเสียงคลิ๊ก แกนจะเลื่อนคืนกลับตำแหน่งเดิมและพร้อมสำหรับการใช้งานครั้งถัดไป ตัวเลขด้านข้างเครื่องบ่งบอกถึงปริมาณยาที่เหลืออยู่เป็นจำนวนครั้งที่สามารถสูดพ่นยาได้ การสูดผงยาจากเครื่อง Accuhaler จะใช้แรงสูดน้อยกว่า Turbuhaler และ HandiHaler

HandiHaler เป็นเครื่องสูดพ่นยาชนิด single-unit dose ผู้ใช้ยาต้องบรรจุยาซึ่งอยู่ในรูปแคปซูลลงในอุปกรณ์แต่ละครั้งเอง จากนั้นจึงกดปุ่มเพื่อเจาะแคปซูลและสูดผงยาผ่านอุปกรณ์ การสูดผงยาจากเครื่อง HandiHaler จะต้องใช้แรงสูดมากที่สุดในกลุ่ม DPI เนื่องจากต้องอาศัยแรงในการสูดผงยาออกจากแคปซูล เครื่องมือชนิดนี้จึงมีแรงต้านทานการสูดผงยามากกว่า DPI ชนิดอื่นๆ

เนื่องจากยาสูดพ่นมีหลายรูปแบบ ทั้งเครื่องมือและลักษณะของยาที่บรรจุอยู่ภายใน จึงมีวิธีการใช้และข้อควรระวังแตกต่างกัน ผู้ใช้ยาควรเรียนรู้วิธีการใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การใช้ยาเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

1. Atkins PJ. Dry Powder Inhalers: An Overview. Respiratory Care 2005; 50: 1304-12.

2. Capstick TG, Clifton IJ. Inhaler Technique and Training in People with Chronic Obstructive Pulmonary Disease and Asthma: Effect of Resistance of Inhaler Device on Lung Deposition. [Internet]. 2013 [cited 2014 Apr 11]. Available from: http://www.medscape.org/viewarticle/757312_5

3. Chodosh S, Flanders JS, Kesten S, Serby CW, Hochrainer D, Witek TJ. Effective Delivery of Particles with the HandiHaler® Dry Powder Inhalation System over a Range of Chronic Obstructive Pulmonary Disease Severity. Journal of Aerosol Medicine 2001; 14: 309-15.

4. อัญชลี จินตพัฒนากิจ. เอกสารคำสอนรายวิชา PYDC 404 Pharmaceutics 4 เรื่อง Nasal and Pulmonary Drug Delivery Systems

5. สภาเภสัชกรรม.(2555). คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (พ.ศ.2555) สภาเภสัชกรรม


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Metered Dose Inhaler Dry Powder Inhaler ผลิตภัณฑ์ยาสูด ยาสูด ข้อควรระวังของการใช้ยาสูดพ่น Inhaler
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้