หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รู้รอบตอบชัด สารพัด “ยาลดกรด”

โดย นศภ. ณภัทร สัตยุตม์ เผยแพร่ตั้งแต่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2557 -- 366,381 views
 

สำหรับคนที่มีนิสัยรับประทานรสจัด รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ชอบรับประทานกาแฟ
รับประทานยาแก้ปวดชนิดกัดกระเพาะตอนท้องว่างอยู่บ่อยๆ สูบบุหรี่ดื่มน้ำอัดลม มีความเครียดสะสม
วิตกกังวลเป็นประจำ อาการหนึ่งที่คนกลุ่มนี้มักจะพบ คือ อาการปวดท้องจากกรดเกินที่กระเพาะอาหาร
ซึ่งอาจนำไปสู่โรคแผลในกระเพาะอาหาร แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น หรือกรดไหลย้อนได้ในอนาคต โดยยาที่ใช้บรรเทาอาการดังกล่าว หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นยาในกลุ่ม “ยาลดกรด”

ยาลดกรดออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกในการออกฤทธิ์ของยาลดกรดคือการนำความเป็นด่างของยาสะเทินกับกรดในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เพื่อลดความเป็นกรด เมื่อความเป็นกรดลดลงการกัดกร่อนของกรดที่จะทำให้เกิดแผลหรือการทำให้แผลที่มีอยู่ระคายเคืองจึงลดลงและให้ผลในการบรรเทาอาการ

ยาลดกรดชนิดต่างๆ และคุณสมบัติ

ยาลดกรดที่มีในท้องตลาดมีหลากหลายชนิดซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติเด่นและด้อยแตกต่างกันออกไป ดังนี้

1. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminium hydroxide, AlOH3)

2. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (magnesium hydroxide, MgOH2) แมกนีเซียมไตรซิลิเกต (magnesium trisilicate) หรือแมกนีเซียมคาร์บอเนต (magnesium carbonate, MgCO3)

ยาสองชนิดนี้มักใช้เป็นสูตรผสมคู่กัน โดยจัดเป็นยาลดกรดที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย ออกฤทธิ์เฉพาะที่กระเพาะอาหารจึงไม่รบกวนสมดุลกรด-ด่างในร่างกาย โดยอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์มีผลทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ดังนั้นเมื่อใช้เป็นสูตรผสมรับประทานร่วมกันจึงมีผลต่อระบบขับถ่ายน้อย อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์อาจนำมาใช้ในการลดปริมาณฟอสเฟตในเลือดในผู้ป่วยโรคไต
ในขณะที่แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคไต ดังนั้นยาที่เป็นสูตรผสมของยาสองชนิดนี้จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคไต ยาในกลุ่มนี้เช่น แอนตาซิล (Antacil) มาล็อกซ์ (Maalox) อะลัมมิลค์ (Alum milk)

3. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบโซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate, NaHCO3) หรือโซดามินท์ (sodamint)

โซเดียมไบคาร์บอเนตเป็นยาลดกรดชนิดออกฤทธิ์เร็ว แต่มีฤทธิ์ในการรักษาสั้น การใช้ยานี้สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ คุณสมบัติของยาที่สามารถดูดซึมผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้จึงอาจทำให้เลือดและปัสสาวะเกิดสภาวะเป็นด่างมากกว่าปกติ รวมไปถึงการมีโซเดียมมากเกิดในกระแสเลือดได้ จึงเหมาะที่จะใช้ในการบรรเทาอาการกรดเกินหรือการระคายเคืองทางเดินอาหารเมื่ออาการกำเริบ แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้เป็นประจำเพื่อควบคุมภาวะความเป็นกรด นอกจากยานี้จะใช้ในการลดกรดในทางเดินอาหารแล้ว ยังอาจพบการใช้โซเดียมไบคาร์บอเนตในการควบคุมความสภาวะความเป็นกรดในเลือดในผู้ป่วยโรคไตอีกด้วย ยาในกลุ่มนี้ เช่น อีโน (ENO)

4. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate, CaCO3)

แคลเซียมคาร์บอเนตให้ฤทธิ์ในการรักษาและออกฤทธิ์ได้เร็วระดับปานกลาง ยานี้อาจมีผลทำให้ท้องผูกได้

ยาที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพของยาลดกรด

นอกจากตัวยาที่มีฤทธิ์ในการลดกรดแล้ว ยาที่วางขายในท้องตลาดมักผสมตัวยาชนิดอื่นเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรักษาและบรรเทาอาการอันเนื่องมาจากกรดอีกด้วย ยาดังกล่าว ได้แก่

1. ไซเม็ททิโคน (simethicone) หรือไดเมทิลโพลีไซโลเซน (dimethyl polysiloxane, MPS)

เป็นสารลดแรงตึงผิวที่ทำให้ฟองและแก๊สในกระเพาะอาหารสามารถระบายออกจากอาหารที่กำลังถูกย่อยได้ จึงใช้บรรเทาอาการท้องอืด เนื่องจากมีแก๊สมากในกระเพาะและลำไส้ ยาในกลุ่มนี้เช่น แอร์เอ็กซ์ (Air-X)

2. บิสมัท ซับซาลิไซเลต (bismuth subsalicylate)

เป็นยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อที่ทำให้เกิดภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหาร
โดยตัวยามีความสามารถในการลดกรดอย่างอ่อนๆ ยาในกลุ่มนี้เช่น แกสโตร-บิสมอล (Gastro-bismol)

3. กรดอัลจินิก (algenic acid) หรือ โซเดียมแอลจิเนต (sodium alginate)

เป็นสารกลุ่มเดียวกับแป้งที่เมื่อสัมผัสกับกรดจะพองตัวเป็นเจลที่มีความสามารถในการจับกับแก๊ส
คาร์บอนไดออกไซด์เกิดเป็นโฟม โดยโฟมที่เกิดขึ้นจะมีความหนืดและลอยตัวเป็นแพอยู่บนผิวของอาหาร
ที่ถูกย่อยอยู่ในกระเพาะอาหาร ยาจึงช่วยลดการระเหยของไอกรดไปที่ยังหลอดอาหาร ลดการระคาย
เคืองจากกรดในกระเพาะ มักใช้ร่วมกับยาลดกรดประเภทโซเดียมไบคาร์บอเนต ยาในกลุ่มนี้เช่น กาวิสคอน (Gaviscon)

หมายเหตุ  Gaviscon เป็นยาที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไบคาร์บอเนต แคลเซียมคาร์บอเนต และโซเดียมแอลจิเนต
     โดย Gaviscon dual action จะมีปริมาณตัวยาที่ใช้ในการลดกรดมากกว่า Gaviscon สูตรปกติ

เอกสารอ้างอิง

1. Hoogerwerf WA, Pasricha PJ. Agent used for control of gastric acidity and treatment of peptic ulcers and gastroesophageal reflux disease. In:Hardman JG, Limbird LE, editors. Goodman & Gilman’s the pharmacological basis of therapeutics. 10th ed. New York: The McGraw-Hill Companies, Inc; 2001. p.1005-20

2. Bismuth subsalicylate. In :DRUGDEX System (database on Internet). Ann Arbor (MI): Truven Health Analytics; 2014 [cited 23 May 2014]. Available from: http://www.micromedexsolutions.com

3. Erwin K, et al. Drug Fact and Comparisons. Missouri: Wolters Kluwer Health; 2009.p.1774-80.
4. Mandel KG, Daggy BP, Brodie DA, Jacoby HI. Review article: alginate-raft formulations in the treatment of heartburn and acid reflux. Aliment Pharmacol Ther. 2000 Jun;14(6):669-90.
5. MIMS Thailand. 134th ed. Bangkok: TIMs; 2014.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาลดกรด แผลในกระเพาะอาหาร ปวดท้อง กรดเกิน
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้