หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โรคซึมเศร้า กินยาอย่างไรให้ได้ผล

โดย นศภ. กฤษฎารัฐ กุลชนะยุทธ์ ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย เผยแพร่ตั้งแต่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2567 -- 2,707 views
 

ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น หลายคนอาจเป็นโรคซึมเศร้าโดยที่ตนเองไม่รู้ตัวทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมหรือได้รับการรักษาช้ากว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้มีหลายองค์ประกอบที่ส่งผลทำให้โรคซึมเศร้ารักษาได้ยาก จึงพบผู้ป่วยที่ล้มเหลวในการรักษาจนทำให้อาการแย่ลงและเกิดการฆ่าตัวตาย จากข้อมูลของระบบคลังข้อมูลสุขภาพ (Health Data Center) กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ได้รายงานสถิติการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าพบว่ามีประชากรในประเทศไทยที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 1.3 ล้านคน[1] และจากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ สถิติการฆ่าตัวตายนับตั้งแต่ตุลาคม พ.ศ. 2565 ถึงกันยายน พ.ศ. 2566 พบคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายกว่า 5 พันคน[2] เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าที่พบคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ประมาณ 4,600 คน[3] ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการรักษาโรคซึมเศร้า รวมทั้งการใช้ยาอย่างถูกต้อง จึงมีความสำคัญเพื่อช่วยให้ประสบความสำเร็จในการรักษาโรคนี้

โรคซึมเศร้าคืออะไร

โรคซึมเศร้า คือ ความผิดปกติทางอารมณ์ที่แสดงออกในลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ อารมณ์เศร้า การขาดแรงจูงใจในสิ่งที่ตนเองชอบ การขาดพลังงาน มีความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ หรือมีสมาธิจดจ่อน้อยลง เป็นต้น[4] โรคซึมเศร้ามีส่วนลดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด โรคซึมเศร้าพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยผู้ใหญ่จะมีอัตราการป่วยและการฆ่าตัวตายสูงกว่าวัยอื่น ซึ่งอาจเกิดมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ปัญหาการทำงาน เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เป็นต้น[5]

การรักษาโรคซึมเศร้ามีอะไรบ้าง

การรักษาโรคซึมเศร้ามีทั้งวิธีการใช้ยาและไม่ใช้ยา โดยยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าสามารถแบ่งได้เป็นหลายกลุ่มย่อย ซึ่งแต่ละกลุ่มอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงสำคัญที่แตกต่างกัน ดังตัวอย่างในตารางที่ 1[6]

ตารางที่ 1 ตัวอย่างยารักษาโรคซึมเศร้าที่ใช้ในประเทศไทย[6-10]

กลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้า

ตัวอย่างยา

ผลข้างเคียงสำคัญที่อาจพบ

Tricyclic antidepressants (TCAs)

Amitriptyline, Clomipramine, Doxepin, Imipramine, Nortriptyline

ปากแห้ง ปัสสาวะขัด ท้องผูก ความดันโลหิตลดลงเฉียบพลันขณะเปลี่ยนท่าทาง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชัก พิษต่อตับ

Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs)

Citalopram, Escitalopram, Fluoxetine, Fluvoxamine, Sertraline

ปวดศีรษะ สมรรถภาพทางเพศหย่อนลง เลือดออกง่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ

Serotonin norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs)

Desvenlafaxine, Duloxetine, Venlafaxine

ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตสูง เลือดออกง่าย กระดูกเสื่อม

Noradrenaline and specific serotonergic antidepressants (NASSAs)

Mirtazapine

ง่วงซึม น้ำหนักเพิ่ม ท้องผูก คลอเรสเตอรอลในเลือดสูง ไขกระดูกเสื่อม

Serotonin antagonists and reuptake inhibitors (SARIs)

Trazodone

ง่วงซึม ปวดศีรษะ ปากแห้ง ความดันโลหิตลดลงเฉียบพลันขณะเปลี่ยนท่าทาง องคชาตแข็งค้าง หัวใจเต้นผิดจังหวะ

Norepinephrine dopamine reuptake inhibitors (NDRI)

Bupropion

นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ น้ำหนักลดท้องผูก ปากแห้ง คลื่นไส้อาเจียน มือสั่น มองเห็นภาพไม่ชัด หัวใจเต้นเร็ว คอหอยอักเสบ ชัก

สำหรับการรักษาที่ไม่ใช้ยา สามารถแบ่งออกเป็นหลายวิธี ได้แก่

  1. จิตบำบัด (psychotherapy) เช่น การบำบัดโดยรำลึกความทรงจำที่ดี (reminiscence therapy) การบำบัดโดยการอาศัยสติ (mindfulness-based cognitive therapy) หรือดนตรีบำบัด (music therapy)
  2. การกระตุ้นสมองโดยไม่ผ่าตัด (non-invasive brain stimulation therapy) เช่น การรักษาด้วยไฟฟ้าชนิดให้ยานำสลบร่วม (modified electroconvulsive therapy) การกระตุ้นโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (repetitive transcranial magnetic stimulation)[11]

ทำไมการรักษาโรคซึมเศร้าจึงยากกว่าที่คิด

แม้ว่าในปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าและยาที่ใช้รักษาจะก้าวหน้าไปมาก แต่กลับพบผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ตอบสนองต่อยา เรียกภาวะนี้ว่าโรคซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา ผู้ป่วยเหล่านี้จะประสบปัญหาในการเข้าสังคม มีสุขภาพกายที่แย่ลง และมีความพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เมื่อการรักษาโรคซึมเศร้าล้มเหลว ทำให้ต้องเริ่มการรักษาใหม่[12] ซึ่งมีการศึกษาพบว่าหากต้องรักษาโรคซึมเศร้าซ้ำหลายครั้ง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการรักษาจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับการรักษาในครั้งแรก[13]

การดื้อต่อการรักษาโรคซึมเศร้าอาจมีสาเหตุมาจากทั้งตัวผู้ป่วยเอง หรือจากบุคคลากรทางการแพทย์ (เช่น แพทย์และเภสัชกร) ดังนี้[14]

ปัจจัยจากผู้ป่วย

  1. ผู้ป่วยหยุดใช้ยาเองทั้งที่การรักษายังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งอาจเกิดจากผลข้างเคียงของยา (ตารางที่ 1) ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากรับประทานยา ทั้งนี้พบผู้ป่วยจำนวนมากที่หยุดใช้ยาตั้งแต่สัปดาห์แรกหรือเดือนแรกของการรักษา ทำให้การรักษาขาดประสิทธิภาพ[14]
  2. ผู้ป่วยลืมรับประทานยา ซึ่งอาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย จึงต้องใช้ยาหลายชนิด ทำให้อาจรับประทานยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง[14]
  3. ปัญหาต่าง ๆ จากครอบครัวและสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย เช่น ปัญหาในครอบครัว สภาพเศรษฐกิจ การทารุณกรรม รวมทั้งความไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลให้สุขภาพจิตของผู้ป่วยแย่ลง โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น ทำให้เกิดการกลับมาเป็นซ้ำของโรคซึมเศร้าได้[15]

ปัจจัยจากบุคลากรทางการแพทย์

  1. ขาดการสื่อสารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยหยุดการรักษาก่อนที่ควรจะเป็น เช่น
  • หลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคดีขึ้นแล้ว แพทย์และเภสัชกรยังต้องกำชับให้ผู้ป่วยใช้ยารักษาต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 4-5 เดือน แต่บางครั้งผู้ป่วยอาจไม่ได้รับคำแนะนำหรือการเน้นย้ำเกี่ยวกับประเด็นนี้ จึงหยุดใช้ยาก่อนกำหนด ทำให้โรคซึมเศร้ากลับมาเป็นซ้ำได้
  • แพทย์และเภสัชกรทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลใจเกี่ยวกับอาการข้างเคียงของยา จนลังเลที่จะใช้ยาและตัดสินใจหยุดการรักษาเอง[16]
  1. ผู้ป่วยได้รับยาในขนาด/ปริมาณที่ไม่เหมาะสม จนไม่ได้ผลในการรักษาโรคซึมเศร้า[14]
  2. ผู้ป่วยไม่ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับข้อควรระวังต่าง ๆ เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งสารอื่น ๆ ซึ่งอาจมีผลรบกวนการรักษาโรคซึมเศร้า[17]

ควรทำอย่างไร การรักษาจึงจะได้ผล

นอกจากคำแนะนำจากบุคคลากรทางการแพทย์แล้ว ผู้ป่วยเองและคนรอบข้างมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาโรคซึมเศร้ามีประสิทธิภาพจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

คำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานยา[18]

  1. เมื่อผู้ป่วยรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งผ่านไป 1 สัปดาห์แล้ว ให้ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลเริ่มสังเกตผลลัพธ์จากการรักษา และหากรักษาไปได้ 4 สัปดาห์แล้ว แต่ผู้ป่วยยังมีอาการต่าง ๆ ของโรคซึมเศร้าอยู่ เช่น อารมณ์เศร้า เบื่อในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น ให้แจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษาเพื่อหาสาเหตุรบกวนต่าง ๆ บางกรณีอาจต้องเพิ่มขนาดยาหรือเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่น
  2. ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลควรทราบผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งวิธีการป้องกันหรือแก้ไขเบื้องต้น (ตารางที่ 2) เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากยา
  3. หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา 1 ครั้ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าใกล้กับเวลารับประทานยารอบถัดไป ให้รับประทานรอบนั้นตามปกติ (ไม่เพิ่มขนาดยาเป็นเท่าตัวเพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้) หากลืมรับประทานยามากกว่า 1 ครั้ง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม
  4. หากผู้ป่วยต้องการหยุดรับประทานยาต้านซึมเศร้า ควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยค่อย ๆ ลดขนาดยาลง เช่น ปรับลดขนาดยาสัปดาห์ละครั้ง แต่ห้ามหยุดยาทันที เพราะจะทำให้เกิดอาการถอนยา เช่น นอนไม่หลับ เหงื่อออกมาก กระเพาะอาหารปั่นป่วน และกระวนกระวาย เป็นต้น[18]

ตารางที่ 2 ตัวอย่างคำแนะนำวิธีการป้องกันและแก้ไขผลข้างเคียงจากยาต้านซึมเศร้า[19]

ผลข้างเคียง

คำแนะนำ

ง่วงนอน มึนงง วิงเวียนศีรษะ

- หลีกเลี่ยงการขับขี่และการใช้เครื่องจักรขณะใช้ยานี้

- ควรเคลื่อนไหวช้า ๆ จากท่านอนเป็นท่านั่งหรือท่ายืน

นอนไม่หลับ

- ควรรับประทานยาในตอนเช้า

- หลีกเลี่ยงกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่

ปากแห้ง

- เคี้ยวหมากฝรั่งชนิดไม่มีน้ำตาล เพื่อเร่งการสร้างน้ำลาย

- ดื่มน้ำให้เพียงพอ

ท้องผูก

- รับประทานผัก ผลไม้ที่มีเส้นใยสูง เพื่อช่วยการขับถ่าย

- ดื่มน้ำให้เพียงพอ

- ออกกำลังกายมากขึ้น

สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง

- ปรึกษาแพทย์เพื่อลดขนาดยา หรือเปลี่ยนเป็นยาอื่น

คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน[21]

  1. ผู้ป่วยควรทำกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ วาดรูป เป็นต้น
  2. ออกไปนอกบ้านกับเพื่อนหรือคนสนิทบ้าง ไม่เก็บตัวเงียบคนเดียว
  3. พูดคุยกับคนรอบข้างในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ หรือพูดคุยในเรื่องที่ทำให้ผู้ป่วยมีความสุข เพื่อช่วยลดความเครียดหรือความเศร้า

บทสรุป

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีความผิดปกติของอารมณ์ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา อย่างไรก็ตามมีหลายปัจจัยที่อาจทำให้ผู้ป่วยล้มเหลวจากการรักษา เช่น ผลข้างเคียงจากยา ตัวผู้ป่วยเองที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคและยาที่ใช้ และบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจสื่อสารกับผู้ป่วยไม่ชัดเจน ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย รวมทั้งประชาชนทั่วไป จึงควรร่วมมือกันทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและแนวทางการรักษา เพื่อช่วยลดปัญหาความล้มเหลวในการรักษา ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาสังคมของประเทศชาติอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. THAIDEPRESSION. รายงานการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าปีงบประมาณ 2567 (ฐานข้อมูล HDC) (ใช้ประชากรประจำปี2565 จาก HDC ในการคำนวณ) [อินเทอร์เน็ต]. 2567[เข้าถึงเมื่อ 20 พ.ค. 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://thaidepression.com/www/report/main_report/pdf/ahb-04-24-mix_HDC.pdf.
  2. ศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์. รายงานสถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศไทย ปีงบประมาณ 2566 [อินเทอร์เน็ต]. 2567 [เข้าถึงเมื่อ 20 พ.ค. 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://suicide.dmh.go.th/news/view.asp?id=92#:~:text=จากรายงานสถิติการฆ่า,เท่ากับ%2047.74%20ต่อแสนประชากร.
  3. ศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์. ปัญหาการฆ่าตัวตายในคนไทย ปี 2565 [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 20 พ.ค. 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://suicide. dmh.go.th/news/files/สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาการฆ่าตัวตายv2.1.pdf.
  4. Li Z, Ruan M, Chen J, Fang Y. Major Depressive Disorder: Advances in Neuroscience Research and Translational Applications. Neurosci Bull. 2021; 37(6):863-880.
  5. ธนิสา ทวิชศรี, บุญธิดา เสงี่ยมเนตร. วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติคน [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [cited 2024 May 12]. Available from https://www.pier.or.th/abridged/2021/08/
  6. Sheffler ZM, Patel P, Abdijadid S. Antidepressants. [Updated 2023 May 26]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK538182/
  7. Wang SM, Han C, Bahk WM, et al. Addressing the Side Effects of Contemporary Antidepressant Drugs: A Comprehensive Review. Chonnam Med J. 2018; 54(2):101-112.
  8. Jilani TN, Gibbons JR, Faizy RM, et al. Mirtazapine. [Updated 2023 Aug 28]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK519059/
  9. Shin JJ, Saadabadi A. Trazodone. [Updated 2024 Feb 29]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470560/
  10. Huecker MR, Smiley A, Saadabadi A. Bupropion. [Updated 2023 Apr 9]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470212/
  11. Shang W, Guo L, Liu Y, et al. PROTOCOL: Non-pharmacological interventions for older people with a diagnosis of depression: An evidence and gap map. Campbell Syst Rev. 2023; 19(4):e1354.
  12. Al-Harbi KS. Treatment-resistant depression: therapeutic trends, challenges, and future directions. Patient Prefer Adherence. 2012; 6:369-388.
  13. TMS Center of New Orleans. What to do when antidepressants don’t work for you (and why) [Internet]. 2024 [cited 2024 Jun 2]. Available from https://www.tmscenterofneworleans.com/about/depression-drugs-tms/what-to-do-when-antidepressants-dont-work-for-you-and-why.
  14. Mohr DC, Brenner C, Stiles-Shields C, et al. Medlink: A Mobile Intervention to Address Failure Points in the Treatment of Depression in General Medicine. Int Conf Pervasive Comput Technol Healthc. 2015; 2015:100-107.
  15. Halonen J, Hakko H, Riala K, Riipinen P. Familial Risk Factors in Relation to Recurrent Depression Among Former Adolescent Psychiatric Inpatients. Child Psychiatry Hum Dev. 2022; 53(3):515-525.
  16. Savard M. Bridging the communication gap between physicians and their patients with physical symptoms of depression. Prim Care Companion J Clin Psychiatry. 2004; 6 (Suppl 1):17-24.
  17. Kamusheva M, Skowron A. The Potential Role of the Pharmacist in Supporting Patients with Depression - A Literature - Based Point of View. Integr Pharm Res Pract. 2020; 9: 49-63.
  18. NHS. Dosage-Antidepressant [Internet].2021 [cited 2024 May 20]. Available from https://www.nhs.uk/mental-health/talking-therapies-medicine-treatments/medicines-and-psychiatry/antidepressants/dosage/#:~:text=Antidepressants%20are% 20usually%20taken%20in,notice%20the%20effects%20of%20antidepressants.
  19. HealthLinkBC. Dealing with Medicine Side Effects and Interactions [Internet]. 2023 [cited 2024 May 20]. Available from https://www.healthlinkbc.ca/health-topics/dealing-medicine-side-effects-and-interactions.
  20. Simon LV, Torrico TJ, Keenaghan M. Serotonin Syndrome. [Updated 2024 Mar 2]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK482377/
  21. ณหทัย วงศ์ปการันย์, ทินกร วงศ์ปการันย์, เธียรชัย งามทิพย์วัฒนา, ยุพาพรรณ ศิริอ้าย, คะนึงนิจ ไชยลังกาการณ์, วิรัตน์ นิวัฒนนันท์. คู่มือการดูแลผู้สูงวัย : สูตรคลายซึมเศร้า. ครั้งที่ 1. นนทบุรี: โอเพ่นวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์; 2559.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โรคซึมเศร้า การรักษาโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.5 น้ำตาลตกจากยาเบาหวาน (Hypoglycemia from anti-diabetics)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้