หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เชื้อราแมว...ไม่อันตรายแต่ติดง่ายจากสัตว์สู่คน

โดย นศภ.ปิยธิดา ทองแสง ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภญ.ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2566 -- 57,192 views
 

ปัจจุบันคนนิยมเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น โดยเฉพาะสุนัขและแมว รวมถึงมีการเปิดคาเฟ่สุนัขและแมวกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งการใกล้ชิดกับสัตว์เหล่านี้อาจทำให้โรคบางโรคติดต่อมาสู่คนได้ โรคหนึ่งที่สามารถพบได้บ่อย คือ “โรคผิวหนังจากเชื้อรา” หรือที่คนนิยมเรียกกันว่า “เชื้อราแมว” ซึ่งแท้จริงแล้วไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับแมวเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ และยังสามารถติดต่อสู่คนได้ โดยเชื้อราที่สามารถก่อโรคมีหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยในสุนัขและแมว ได้แก่ Microsporum canis (เรียกสั้น ๆ ว่า M. canis ซึ่งเป็นเชื้อที่พบบ่อยที่สุด), Nannizzia gypsea และ Trichophyton [1]

ข้อมูลในปี 2005-2010 พบว่ามีประชากรโลกติดเชื้อราที่ผิวหนัง 20-25% โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเขตร้อนและร้อนชื้น[2] สำหรับในประเทศไทย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาอุบัติการณ์การติดเชื้อ M. canis ในแมว พบว่ามีอุบัติการณ์การติดเชื้อ 20.29% แบ่งเป็นกลุ่มที่พบอาการทางผิวหนังร่วมด้วย 13.04% และกลุ่มที่ไม่พบอาการทางผิวหนัง 7.25%[1] เชื้อ M. canis สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ทั้งจากการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อโดยตรงหรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้ออยู่ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ผ้าปูที่นอนหรือของใช้ต่าง ๆ ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อควรทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงและสิ่งของอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เล็มขนสัตว์เลี้ยงไม่ให้ยาวเกินไป[3] หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อและล้างมือหลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยงทุกครั้ง

ในคนที่ติดเชื้อจะพบอาการทางผิวหนัง ได้แก่ คัน มีผื่นลักษณะขอบแดง ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณศีรษะ ลำตัวหรือเท้า ผมร่วง รวมถึงอาจมีการติดเชื้อราที่เล็บ โดยทั่วไปมักมีอาการไม่รุนแรง แต่ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่รับประทานยากดภูมิ ผู้ป่วยเอชไอวี (HIV) อาจมีอาการที่รุนแรงกว่า เช่น ผมร่วงถาวร เป็นแผลเป็น[4,5] ดังนั้นผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจึงควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดสัตว์ที่ติดเชื้อ ซึ่งผู้เลี้ยงสามารถสังเกตอาการที่พบได้ในสัตว์ เช่น ขนร่วง มีผื่นขอบแดง ซึ่งอาจจะพบได้มากกว่าหนึ่งตำแหน่ง[6]

โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อรา หากมีผื่นแค่ 1-2 ตำแหน่งสามารถใช้ยาทาภายนอกได้ แต่ในกรณีที่มีผื่นหลายตำแหน่งหรือทั่วร่างกายอาจจำเป็นต้องใช้ทั้งยาทาภายนอกและยารับประทานร่วมกัน ซึ่งการใช้ยาในคนแสดงรายละเอียดดังตารางด้านล่าง

การรักษาในคน[7,8]

ชื่อยาและความแรง

บริเวณที่มีอาการ

วิธีใช้/วิธีรับประทาน

ยาใช้ภายนอก (ทา)

1% Clotrimazole

ผิวหนังบริเวณต่าง ๆ

วันละ 2 ครั้ง 4-6 สัปดาห์

1% Econazole

ผิวหนังบริเวณต่าง ๆ

วันละ 1-2 ครั้ง 4-6 สัปดาห์

2% Miconazole

ผิวหนังบริเวณต่าง ๆ

วันละ 2 ครั้ง 4-6 สัปดาห์

2% Sertaconazole

ผิวหนังบริเวณต่าง ๆ

วันละ 2 ครั้ง 4 สัปดาห์

1% Terbinafine

ศีรษะหรือจุดอับชื้น

วันละ 2 ครั้ง 2 สัปดาห์

มือหรือเท้า

วันละ 2 ครั้ง 4-6 สัปดาห์

ยารับประทาน

Terbinafine

ศีรษะหรือจุดอับชื้น

250 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง 2-3 สัปดาห์

เท้า

250 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง 2 สัปดาห์

ง่ามนิ้วเท้า

250 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง 1 สัปดาห์

Itraconazole

ศีรษะหรือจุดอับชื้น

200 มิลลิกรัมต่อวัน 1-2 สัปดาห์

เท้า

100-200 มิลลิกรัมต่อวัน 2-4 สัปดาห์

Fluconazole

ศีรษะหรือจุดอับชื้น

150-300 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์ 3-4 สัปดาห์

เท้า

150 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์ 4 สัปดาห์

Griseofulvin

ศีรษะหรือจุดอับชื้น

Micro size 500 มิลลิกรัมต่อวัน 2-4 สัปดาห์ หรือ

ultra-micro size 300-375 มิลลิกรัมต่อวัน 2-4 สัปดาห์

เท้า

Micro size 750-1000 มิลลิกรัมต่อวัน 4-8 สัปดาห์ หรือ

ultra-micro size 660-750 มิลลิกรัมต่อวัน 2-4 สัปดาห์

ทั้งนี้นอกจากจะต้องรักษาในคนแล้ว การรักษาสัตว์เลี้ยงก็มีความจำเป็นด้วยเช่นกัน โดยยาที่ใช้รักษาสัตว์เลี้ยง มีดังนี้

การรักษาในสัตว์[3,6,9,10]

ชื่อยาและความแรง

ขนาดยา

วิธีใช้/วิธีรับประทาน

ยาใช้ภายนอก (ทา)

0.2% Enilconazole shampoo

อาบสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

2% Miconazole/2% chlorhexidine shampoo

ยารับประทาน

Itraconazole

5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักในหน่วยกิโลกรัมต่อวัน

ใช้ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ เว้น 1 สัปดาห์ โดยใช้ระยะเวลาการรักษา 6 สัปดาห์

Terbinafine

30-40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักในหน่วยกิโลกรัม

วันละ 1 ครั้ง 3 สัปดาห์

Ketoconazole

2.5-5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักในหน่วยกิโลกรัม

วันละ 2 ครั้ง 4-8 สัปดาห์

Griseofulvin

25-50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักในหน่วยกิโลกรัม

ทุก 12-24 ชั่วโมง 4-6 สัปดาห์

โรคผิวหนังจากเชื้อราเมื่อรักษาหายแล้ว สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ ดังนั้นการแก้ไขที่สาเหตุจึงมีความสำคัญ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์จึงควรรักษาความสะอาดสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราที่จะติดต่อมาสู่คนได้ ทั้งนี้เพื่อให้การรักษาด้วยยาเป็นไปอย่างเหมาะสมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

เอกสารอ้างอิง

  1. Chupia V, Ninsuwon J, Piyarungsri K, Sodarat C, Prachasilchai W, Suriyasathaporn W, et al. Prevalence of Microsporum canis from Pet Cats in Small Animal Hospitals, Chiang Mai, Thailand. Vet Sci. 2022; 9(1):21.
  2. Vena GA, Chieco P, Posa F, Garofalo A, Bosco A, Cassano N. Epidemiology of dermatophytoses: retrospective analysis from 2005 to 2010 and comparison with previous data from 1975. New Microbiol. 2012; 35(2):207-13.
  3. Moriello KA, Coyner K, Paterson S, Mignon B. Diagnosis and treatment of dermatophytosis in dogs and cats.: Clinical Consensus Guidelines of the World Association for Veterinary Dermatology. Vet Dermatol. 2017; 28(3):266-e68.
  4. Hariu M, Watanabe Y, Shimada D, Imai H, Takano K, Kamioka Y, Seki M. A Household Microsporum canis Dermatophytosis Suggested by Matrix-Assisted Laser Desorption/Ionization Time-Of-Flight Mass Spectrometry Analysis. Am J Case Rep. 2021; 22:e930713.
  5. Zhang, F., Tan, C., Xu, Y., Yang, G. FSH1 regulates the phenotype and pathogenicity of the pathogenic dermatophyte Microsporum canis. International Journal of Molecular Medicine. 2019; 44(6):2047-56.
  6. Frymus T, Gruffydd-Jones T, Pennisi MG, Addie D, Belák S, Boucraut-Baralon C, et al. Dermatophytosis in cats: ABCD guidelines on prevention and management. J Feline Med Surg. 2013; 15(7):598-604.
  7. Aneke CI, Otranto D, Cafarchia C. Therapy and Antifungal Susceptibility Profile of Microsporum canis. J Fungi (Basel). 2018; 4(3):107.
  8. Sahoo AK, Mahajan R. Management of tinea corporis, tinea cruris, and tinea pedis: A comprehensive review. Indian Dermatol Online J. 2016; 7(2):77-86.
  9. Moriello K, Coyner K, Trimmer A, Newbury S, Kunder D. Treatment of shelter cats with oral terbinafine and concurrent lime sulphur rinses. Vet Dermatol. 2013; 24(6):618-20, e149-50.
  10. Michael Shipstone. Antifungals for Integumentary Disease in Animals. [Internet]. 2022. [cited 3 December 2022]. Available from: https://www.msdvetmanual.com/pharmacology/systemic-pharmacotherapeutics-of-the-integumentary-system/antifungals-for-integumentary-disease-in-animals.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
เชื้อราแมว โรคผิวหนังจากเชื้อรา ยาฆ่าเชื้อรา
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้