หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รู้จักยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

โดย นศภ.สุพัตรา เจษฎาภัทรกุล ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภญ.อัญชลี จินตพัฒนากิจ เผยแพร่ตั้งแต่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2566 -- 56,756 views
 

ยาคุมกำเนิดชั่วคราวชนิดรับประทาน โดยทั่วไปแล้วมี 3 ชนิด คือ ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (emergency contraceptive pills) ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (combined oral contraceptives - COC) และยาคุมกำเนิดชนิดโพรเจสตินเดี่ยว (progestin-only pills - POP) หรือทั่วไปเรียกกันว่ายาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งคนส่วนใหญ่นั้นมักจะคุ้นชินกับยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมากกว่า เนื่องจากเป็นที่นิยมและมีการใช้มานาน หลายคนอาจไม่รู้จักยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว หรือไม่เข้าใจว่ายาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวแตกต่างกับยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอย่างไร ในบทความนี้จะช่วยไขข้อสงสัยว่ายาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวนั้นแตกต่างจากยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอย่างไร ทั้งในแง่ของการออกฤทธิ์ในการคุมกำเนิด ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ใครที่เหมาะกับการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์ของยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

ตัวยาสำคัญในยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว1-4

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวต่างจากยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมตรงที่ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) มีแต่ฮอร์โมนโพรเจสติน (progestin) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมี 3 ตัวยา ได้แก่ ไลเนสทรีนอล (lynestrenol) ดีโซเจสตรีล (desogestrel) ดรอสไพรีโนน (drospirenone) ดังแสดงในตารางที่ 1 แต่ละตัวยานั้นมีความแตกต่างกัน ดังนี้

  • ไลเนสทรีนอล: เป็นโพรเจสตินรุ่นแรกที่มีฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (androgen) สูง ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น สิว ขนดก หน้ามัน เป็นต้น
  • ดีโซเจสตรีล: เป็นโพรเจสตินรุ่นที่ 3 ที่พัฒนาให้มีประสิทธิภาพคุมกำเนิดดีขึ้น และมีฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนลดลง ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ลดลง
  • ดรอสไพรีโนน: เป็นโพรเจสตินรุ่นที่ 4 ที่มีการพัฒนาให้มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน จึงทำให้เกิดสิว ขนดก หรือหน้ามันได้น้อยมาก รวมถึงมีการออกแบบยาเป็น 24+4 (เม็ดฮอร์โมน 24 เม็ด และเม็ดแป้ง 4 เม็ด) ทำให้มีระยะเวลาปลอดฮอร์โมน 4 วัน จึงช่วยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอกว่าฮอร์โมนรุ่นเก่า

ตารางที่ 1 ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีจำหน่ายในประเทศไทย

ฮอร์โมน

ชื่อทางการค้า

ความแรง

จำนวนเม็ด

ไลเนสทรีนอล

Exluton®, Dailyton®

0.5 mg

28*

ดีโซเจสตรีล

Cerazette®

0.075 mg

28*

ดรอสไพรีโนน

Slinda®

4 mg

24+4**

*28 หมายถึง รับประทานเม็ดยาฮอร์โมน 28 เม็ดต่อเนื่อง
**24+4 หมายถึง รับประทานเม็ดยาฮอร์โมน 24 เม็ดตามด้วยเม็ดแป้ง 4 เม็ด

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้อย่างไร5-6

การออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ของยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวคล้ายกับยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม กลไกที่สำคัญที่สุดคือการออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ ซึ่งในยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมจะมาจากฤทธิ์ของทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโพรเจสตินที่ควบคุมระดับฮอร์โมนของร่างกายเพื่อไม่ให้เกิดการตกไข่ แต่ในยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวการออกฤทธิ์นี้มาจากฮอร์โมนโพรเจสตินเพียงอย่างเดียว ส่วนกลไกอื่น ๆ นั้นมาจากกลไกของฮอร์โมนโพรเจสตินที่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะกับการฝังตัวของตัวอ่อน นอกจากนี้ฮอร์โมนโพรเจสตินยังเพิ่มความข้นหนืดของเมือกที่ปากมดลูก ซึ่งทำให้ไม่เหมาะต่อการเคลื่อนตัวของอสุจิ อีกทั้งยังเพิ่มแรงบีบตัวของท่อนำไข่ ทำให้ไข่ที่ตกแล้วเคลื่อนผ่านท่อนำไข่ได้ยาก จึงลดโอกาสที่อสุจิของเพศชายเข้าผสมกับไข่ของเพศหญิง

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวเหมาะกับใคร7,12

เนื่องจากยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวปราศจากฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงไม่ส่งผลต่อการผลิตน้ำนม มีผลข้างเคียงที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดน้อยกว่ายาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน และไม่ส่งผลให้เกิดหลอดเลือดขยายที่ทำให้เกิดการปวดศีรษะไมเกรน จึงเหมาะกับบุคคลเหล่านี้

  • หญิงให้นมบุตร
  • ผู้สูบบุหรี่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
  • ผู้ที่มีประวัติภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขาและในปอด
  • ปวดศีรษะไมเกรน

อย่างไรก็ตามยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ห้ามใช้ในบุคคลที่มีภาวะเหล่านี้

  • หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการศึกษาที่รายงานว่ายาคุมกำเนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์
  • มะเร็งเต้านม เนื่องจากยาคุมกำเนิดอาจส่งเสริมการโตของเนื้อร้ายเหล่านี้ได้
  • เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากสาเหตุของเลือดออกผิดปกติอาจมาจากปัญหาอื่น ๆ ทางระบบสืบพันธ์ที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน
  • เนื้องอกที่ตับ ตับแข็ง ตับวายเฉียบพลัน เนื่องจากยาถูกกำจัดที่ตับ ถ้าตับมีความผิดปกติอาจทำให้ยาสะสมในร่างกาย รวมถึงยาคุมกำเนิดอาจทำให้เกิดตับอักเสบได้

ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว8-9

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีฮอร์โมนโพรเจสตินเพียงอย่างเดียว มีประสิทธิภาพในการป้องกันตั้งครรภ์สูงไม่แตกต่างจากยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนทั้งเอสโตรเจนและโพรเจสติน พบว่ามีอัตราความล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 0.3 ในการศึกษาทางคลินิก แต่อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดขึ้นอยู่กับความร่วมมือในการใช้ยา การลืมรับประทานยาหรือการรับประทานยาไม่ตรงเวลา ล้วนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประสิทธิภาพและอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างดีโซเจสตรีลและดรอสไพรีโนน พบว่าตัวยาทั้งสองมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดไม่แตกต่างกัน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องของอาการไม่พึงประสงค์

อาการไม่พึงประสงค์ของยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว8,10-11

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้น้อยกว่ายาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เนื่องจากไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน อาการไม่พึงประสงค์ที่สามารถพบได้ของฮอร์โมนโพรเจสตินทั้ง 3 ตัวยา คือ อาการผิดปกติของประจำเดือน เช่น มีเลือดออกกะปริบกะปรอย ระยะเวลาในการมีประจำเดือนนานขึ้นหรือสั้นลง หรือไม่มีเลือดประจำเดือนเลย ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หลายคนเป็นกังวลและเลิกใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ อีกทั้งปัญหากวนใจที่พบได้บ่อยเช่นกัน คือ การเกิดสิว ขนดก และหน้ามัน ที่เกิดจากฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน โดยอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะเกิดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของฮอร์โมนโพรเจสตินที่ใช้และขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล นอกจากนี้ยังมีอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ที่สามารถพบได้ เช่น คัดตึงเต้านม คลื่นไส้ อาเจียน การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ น้ำหนักเพิ่มขึ้น ความรู้สึกทางเพศลดลง เป็นต้น ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วงสองถึงสามเดือนแรกของการรับประทานยาเท่านั้น แต่โดยทั่วไปอาการจะหายไปหลังจากใช้ยาต่อเนื่อง

สรุป

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิด อย่างไรก็ตามหากต้องการเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อเลือกยาคุมกำเนิดชนิดที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล รวมถึงกรณีที่มีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับยาคุมกำเนิดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้ได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง

เอกสารอ้างอิง

  1. Stuart MC, Kouimtzi M, World Health Organization, editors. The Who Model Formulary 2008. 2008th ed. Geneve, Switzerland: World Health Organization; 2009.
  2. Sutherland SE, Munarriz RM, Goldstein I. Combined estrogen-progestin oral contraceptives. N Engl J Med. 2004; 350(3):307-8.
  3. Guerra JA, López-Muñoz F, Álamo C. Progestins in combined contraceptives. J Exp Clin Med. 2013; 5(2):51-5.
  4. Nappi RE, Merki-Feld GS, Terreno E, Pellegrinelli A, Viana M. Hormonal contraception in women with migraine: is progestogen-only contraception a better choice? J Headache Pain. 2013; 14(1):66-71
  5. Monterrosa-Castro A, Redondo-Mendoza V, Monterrosa-Blanco A. Current Knowledge of Progestin-Only Pills. Electron J Gen Med. 2021; 18(6):320-31.
  6. Regidor PA. The clinical relevance of progestogens in hormonal contraception: Present status and future developments. Oncotarget. 2018; 9(77):34628-38.
  7. Curtis KM, Tepper NK, Jatlaoui TC, Berry-Bibee E, Horton LG, Zapata LB, et al. US medical eligibility criteria for contraceptive use. Morb Mortal Wkly Rep. 2016; 65(3):1-104.
  8. Kaunitz AM, Contraception: Progestin-only pills (POPs), UpToDate® https://www.uptodate.com/ contents/progestin-only-pills-pops-for-contraception?search=Progesterone%20only%20pill& source=search_result&selectedTitle=1~150&usage_type=default&display_rank=1.
  9. Duijkers IJ, Heger-Mahn D, Drouin D, Skouby S. A randomised study comparing the effect on ovarian activity of a progestogen-only pill (POP) containing desogestrel and a new POP containing drospirenone in a 24/4 regimen. Eur J Contracept Reprod Health Care. 2015; 20(6):419-27.
  10. Cooper DB, Patel P, Mahdy H. Oral Contraceptive Pills [Internet]. StatPearls Publishing; 2022 [cite 2022 Oct 10]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK430685/
  11. The progestogen-only pill [Internet]. 2022 [cited 2022 Oct 4]. Available from: https://www.nhs.uk/conditions/contraception/the-pill-progestogen-only.
  12. Waller DK, Gallaway MS, Taylor LG, Ramadhani TA, Canfield MA, Scheuerle A, et al. Use of oral contraceptives in pregnancy and major structural birth defects in offspring. Epidemiology 2010; 21:232-9.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนเดี่ยว
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้