หลังจากการมีประจำเดือนวันแรก ร่างกายจะเตรียมพร้อมสำหรับการตกไข่ในรอบเดือนถัดไป โดยการหลั่งฮอร์โมน FSH จากต่อมใต้สมอง ทำให้รังไข่และไข่เจริญเติบโตจนสามารถสร้างฮอร์โมน estrogen ไปกระตุ้นการสร้างผนังเยื่อบุมดลูกให้หนาขึ้น เพื่อรองรับการฝังตัวของไข่หลังเกิดการปฏิสนธิได้ และฮอร์โมน estrogen ยังไปกระตุ้นต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมน LH เพื่อให้เกิดการตกไข่ซึ่งจะเกิดหลังจากการมีประจำเดือนวันแรก 14 วัน หลังจากนั้นไข่จะเคลื่อนตัวมายังปีกมดลูกเพื่อพร้อมรับการปฏิสนธิจากอสุจิ หากไม่มีการปฏิสนธิสนธิเกิดขึ้นไข่จะสลายไปพร้อมกับเยื่อบุโพรงมดลูกภายในระยะเวลา 14 วันหลังการตกไข่ และขับออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำเดือน ดังนั้นการมีประจำเดือนในครั้งถัดไปจะเกิดหลังจากการมีประจำเดือนครั้งก่อนประมาณ 28 วัน1
การรับประทานยาคุมกำเนิดสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้หลายกลไก เช่น ลดการหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดการตกไข่ เปลี่ยนแปลงเยื่อบุผนังมดลูกให้ไม่เหมาะแก่การฝังตัวของไข่ หรือทำให้เยื่อบุปากมดลูกข้นเหนียว ขัดขวางการผ่านของอสุจิ ซึ่งยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานต่อเนื่องที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมีสองชนิดได้แก่ ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมน estrogen ร่วมกับฮอร์โมน progestrogen (combined hormonal contraceptives; CHCs) ในเม็ดเดียว และชนิดที่มีฮอร์โมน progestrogen เพียงชนิดเดียว (progestin-only hormonal contraceptives; POCs) ซึ่งประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยา CHCs จะเหนือกว่ายา POCs จึงแนะนำยาคุมกำเนิดชนิด CHCs มากกว่าในการคุมกำเนิดผู้หญิงปกติ1
สำหรับคุณแม่หลังคลอดจะมีข้อควรพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องผลข้างเคียงจากยา CHCs เนื่องจากฮอร์โมน estrogen มีผลลดการผลิตน้ำนม ส่งผลกระทบต่อคุณแม่ที่ต้องการให้นมลูกด้วยตัวเอง นอกจากนั้นแล้วผลข้างเคียงที่สำคัญของฮอร์โมน estrogen อีกอย่าง คือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด เนื่องจากร่างกายหญิงตั้งครรภ์ในช่วงใกล้คลอด จะมีการสร้างสารโปรตีนที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวเพิ่มมากขึ้นร่วมกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะการไหลเวียนโลหิต ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายเพื่อลดการสูญเสียเลือดของแม่และทารกในขณะคลอด ซึ่งการรับประทานยาฮอร์โมน estrogen ร่วมด้วยจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันมากยิ่งขึ้น1,2
ดังนั้นสำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ไม่ได้ให้นมลูก ควรรับประทานยาคุมกำเนิดชนิด CHCs ได้ภายหลังจากการคลอดผ่านไป 42 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ร่างกายมีการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตกลับสู่ภาวะปกติอย่างสมบูรณ์ ส่วนคุณแม่ที่ให้นมลูกควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิด CHCs ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังการคลอด เพื่อป้องกันผลการลดน้ำนมจากฮอร์โมน estrogen ในยาดังกล่าว2,3
ซึ่งในระหว่างที่หยุดการรับประทานยาคุมกำเนิดในช่วงเวลาดังกล่าว หากคุณแม่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ สามารถรับประทานยาคุมกำเนิดชนิด POCs ซึ่งมีเพียงฮอร์โมน progestrogen เพียงชนิดเดียว จึงไม่ได้รับผลข้างเคียงจากฮอร์โมน estrogen ดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะด้อยกว่าการใช้ยา CHCs จึงควรมีการคุมกำเนิดโดยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยในเพศชาย หรือการนับวันที่เป็นระยะปลอดภัยสำหรับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์คือช่วงเวลา 7 วันก่อนการมีประจำเดือนในครั้งถัดไป และช่วง 7 วันหลังการมีประจำเดือน เป็นต้น อย่างไรก็ตามในคุณแม่ที่ให้นมลูกจะมีการตกไข่อีกครั้งหลังการคลอดในระยะเวลา 9 สัปดาห์ถึง 18 เดือน ซึ่งช้ากว่าคุณแม่ที่ไม่ได้ให้นมลูกที่จะเริ่มมีการตกไข่อีกครั้งเมื่อผ่านไป 25 วันหลังการคลอด3
ทั้งนี้เมื่อพ้นช่วงในการหยุดรับประทานยา CHCs ดังกล่าว คือ 6 เดือนในแม่ที่ให้นมลูก และ 42 วันในแม่ที่ไม่ได้ให้นมลูก คุณแม่สามารถกลับมารับประทานยาคุมกำเนิดชนิด CHCs ได้อย่างปกติ ซึ่งในคุณแม่ตั้งครรภ์และหลังคลอด การพิจารณาใช้ยาทุกชนิดควรอยู่ในความดูแลของสูตินารีแพทย์ และเภสัชกรในการให้คำแนะนำด้านการใช้ยาอย่างถูกต้อง
เอกสารอ้างอิง
1. Dipiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM.Pharmacotherapy. 8th ed. San Juan: China Translation & Printing, Ltd.; 2011.
2. World Health Organization. Combined hormonal contraceptive use during the postpartum period. Department of Reproductive Health and Research [Internet]. 2011[cited 2014 Oct 1]. Available from: http://www.who.int/reproductivehealth/publications/family_planning/rhr_10_15/en/.
3. Centers for Disease Control Prevention. Update to CDC’s U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 2010: Revised Recommendations for the Use of Contraceptive Methods During the Postpartum Period. MMWR 2011; 60:878-83.