ในปัจจุบันยาเคมีบำบัดหรือยาต้านมะเร็งนั้นถูกนำมาใช้การรักษามะเร็งหลายชนิดเนื่องจากสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ดี จึงเรียกได้ว่าเป็นยาที่มีประโยชน์มากในการรักษา แต่เนื่องจากการที่ยาเคมีบำบัดมีอาการข้างเคียงค่อนข้างมากจึงทำให้ผู้ป่วยมักรู้สึกท้อแท้และไม่อยากรับยาเคมีบำบัด ซึ่งอาจส่งผลทำให้มะเร็งกลับมาก่อโรคได้ใหม่ ดังนั้นการป้องกันผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
สำหรับอาการข้างเคียงของยาเคมีบำบัดนั้นทั้งตัวผู้ป่วยเองและผู้ใกล้ชิดควรทำความเข้าใจไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย และเพื่อให้การรักษาดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในบทความนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อลดผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดที่หลายๆ ท่านมีความสนใจ ไม่ว่าเพื่อที่จะนำไปใช้กับผู้ป่วย หรือเพื่อเป็นความรู้ให้กับตนเอง
สำหรับแนวทางการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการต่างๆ มีดังนี้
อาการคลื่นไส้อาเจียน[1] เนื่องจากยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดจึงควรรับประทานยาแก้อาเจียนที่ได้จากโรงพยาบาลให้ครบเพื่อป้องกันไม่ได้เกิดอาการและแจ้งแพทย์หากยาไม่สามารถควบคุมอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถปฏิบัติตัวเพิ่มเติมได้โดยการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ย่อยง่าย ไม่ควรฝืนรับประทานหากรู้สึกคลื่นไส้ ให้รับประทานอาหารมื้อละน้อยๆ แต่บ่อยๆ รักษาความสะอาดในช่องปากและทำความสะอาดช่องปากหลังอาเจียน ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ อยู่ในที่ๆ อากาศถ่ายเท และหลีกเลี่ยงเสียง มุมมองหรือกลิ่นที่ทำให้รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน
แผลในปาก[2] หลังรับยาเคมีบำบัดประมาณ 1 สัปดาห์ผู้ป่วยอาจเกิดแผลในปากขึ้น และจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากนั้นจะหายไป แผลเหล่านี้อาจทำให้เจ็บปวดและรับประทานอาหารได้ลำบาก ดังนั้นผู้ป่วยที่จะเริ่มการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนการรักษา นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองโดยการเลือกใช้แปรงสีฟันที่อ่อนนุ่มร่วมกับการแปรงฟันเบาๆ ด้วยความระมัดระวัง หมั่นบ้วนปากด้วยเกลือและเบคกิ้งโซดาอย่างละครึ่งช้อนชากับน้ำ 4 ถ้วยตวงเพื่อรักษาอนามัยในช่องปาก พยายามดื่มน้ำมากๆ หมั่นอมน้ำแข็ง และหากปวดมากสามารถใช้ยาแก้ปวดพวกพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟนได้
อาการชาตามปลายมือปลายเท้า[3] อาการชาปลายมือปลายเท้านั้นอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รับยาเคมีบำบัด แต่อาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อได้รับยาในครั้งถัดๆ ไป ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องสำรวจตนเองเสมอว่าการชานั้นรบกวนการดำเนินชีวิตหรือไม่ ถ้าหากมีอาการ เช่น รองเท้าหลุดโดยไม่รู้ตัว ติดกระดุมไม่ได้ หรือถือของแล้วของหล่นไม่รู้ตัวให้ทำการแจ้งแพทย์เพื่อทำการรักษา การเลือกรองเท้าที่สวมใส่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ รองเท้าที่ใช้ควรเป็นรองเท้าที่สวมใส่สบาย ไม่หลุดง่าย ไม่กัดเท้าหรือทำให้เท้าเป็นแผล ผู้ป่วยควรบริหารมือเสมอ เช่น การกำลูกบอลนิ่มๆ หากไม่สามารถทำกิจวัตประจำวันได้อาจใช้สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เครื่องมือช่วยติดกระดุม หรือใช้ช้อนส้อมที่มีที่จับใหญ่ๆ และป้องกันการหกล้มโดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ
อาการซีด, เหนื่อยง่าย, ติดเชื้อง่าย และเลือดหยุดไหลยาก[4],[5] อาการเหล่านี้เป็นผลมาจากการกดการสร้างไขกระดูกของยาเคมีบำบัด กล่าวคือยาเคมีบำบัดนอกจากจะมีผลต่อเซลล์มะเร็งแล้วยังมีผลต่อเซลล์ที่มีการเจริญอย่างรวดเร็วด้วย เช่น เซลล์ไขกระดูก และเมื่อถูกกดการสร้างไขกระดูกก็จำทำให้เม็ดเลือดต่างๆ มีการสร้างลดลง เช่นเซลล์เม็ดเลือดแดงลดลงทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เซลล์เม็ดเลือดขาวลดลงทำให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง และเกล็ดเลือดลดลงทำให้เลือดหยุดไหลยาก โดยเม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือดจะลดจำนวนลงถึงระดับต่ำสุดหลังได้รับยาเคมีบำบัดประมาณ 7-14 วัน ส่วนเม็ดเลือดแดงจะลดสู่ระดับต่ำสุดหลังได้รับยาเคมีบำบัดประมาณ 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนสู่ระดับปกติ ดังนั้นในช่วงที่เม็ดเลือดต่ำนี้ผู้ป่วยควรพักผ่อนหากมีอาการเหนื่อยง่าย หมั่นรักษาความสะอาดของร่างกาย ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์หรือผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด และควรใส่ผ้าปิดปากเสมอ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่สุก ดังนั้นอาหารทุกชนิดควรผ่านความร้อนมาก่อนและรับประทานขณะยังอุ่นอยู่ หากเป็นผลไม้ควรปอกแล้วรับประทานทันที ควรรับประทานอาหารประเภทโปรตีนมากๆ เช่น เนื้อ นม ไข่ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดควรระวังการเกิดบาดแผลเลือดออก หากบาดแผลใหญ่หรือเลือดไม่หยุดไหลควรรีบไปพบแพทย์
ผมร่วง[6] เส้นผมก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วจึงเกิดผลกระทบจากยาเคมีบำบัดเช่นกัน โดยเส้นผมจะเริ่มร่วงจากหนังศีรษะหลังได้รับยาเคมีบำบัดประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่เส้นผมนั้นสามารถงอกใหม่ในสภาพเดิมได้เมื่อหยุดยาเคมีบำบัดแล้วประมาณ 2-3 เดือน จึงไม่จำเป็นต้องกังวล ในระหว่าที่ได้รับยาเคมีบำบัดผู้ป่วยควรใช้แชมพูอ่อน เช่น แชมพูเด็ก ใช้น้ำอุ่นไม่ใช่น้ำร้อนในการสระผม หลีกเสี่ยงการเป่าแห้งผม หากเกิดแสบร้อนบริเวณหนังศีรษะให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบศีรษะ ควรหลีกเลี่ยงการเกาหรือการถูแรงๆ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการอักเสบได้ ซึ่งในระหว่างที่ผมร่วงนี้อาจเสริมความมั่นใจด้วยการตัดผมสั้นหรือใส่วิกผม
ตะคริว, กล้ามเนื้อสั่น, หงุดหงิด และซึมเศร้า[7] ยาเคมีบำบัดหลายตัวทำให้แมกนีเซียมในเลือดต่ำ ส่งผลให้เกิดตะคริว, กล้ามเนื้อสั่น, หงุดหงิด หรือซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งการป้องกันอาการดังกล่าวทำได้โดยการรับประทานอาหารที่แร่ธาตุเหล่านี้อยู่มาก เช่น ผักใบเขียว ถั่วหรือเมล็ดธัญพืชต่างๆ
อาการต่างๆ ที่ได้กล่าวมานี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนและความรุนแรงของอาการก็อาจไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของยาที่ได้รับ รวมถึงตัวผู้ป่วยเองด้วย การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำที่ได้ให้ไว้อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้อาการข้างเคียงต่างๆ จากเคมีมีบำบัดลดลง เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงคนปกติมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยกำลังใจจากคนรอบข้างและการปฏิบัติที่ต่อเนื่องและเคร่งครัดด้วย
เอกสารอ้างอิง