Loading…

“นิโคติน” สารทดแทนช่วยเลิกบุหรี่

“นิโคติน” สารทดแทนช่วยเลิกบุหรี่

นศภ. สิรภัทร เกียรติศรีสินธพ นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก. อัญชลี จินตพัฒนากิจ)

63,742 ครั้ง เมื่อ 6 นาทีที่แล้ว
2020-06-25


การติดบุหรี่เกิดได้จากการติดทางจิตใจและการติดทางกาย ซึ่งการติดทางจิตใจเป็นความเคยชินจากการสูบบุหรี่ โดยอาจเกิดการเรียนรู้ว่าเมื่อสูบบุหรี่จะทำให้สมองแล่น ผ่อนคลาย จึงต้องการที่จะสูบบุหรี่ ส่วนการติดทางร่างกายเกิดจากสารในบุหรี่ที่ชื่อว่า “นิโคติน” โดยนิโคตินเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับระบบรางวัลในสมอง ทำให้ผู้สูบมีความสุข คลายกังวล จึงมีการใช้นิโคตินอย่างต่อเนื่อง หากหยุดสูบบุหรี่หรือไม่ได้รับนิโคตินอย่างกะทันหัน จะทำให้เกิดอาการถอนบุหรี่ (withdrawal symptoms) โดยจะมีอาการสำคัญคืออยากสูบบุหรี่ หงุดหงิด กระวนกระวาย ซึมเศร้า กังวล นอนไม่หลับ ดังนั้นจึงมีการนำนิโคตินมาใช้ช่วยเลิกบุหรี่ หรือที่เรียกว่าการให้นิโคตินทดแทน (nicotine replacement therapy; NRT) โดยเป็นการให้นิโคตินเข้าสู่ร่างกายอย่าง ช้า ๆ และค่อย ๆ ลดขนาดลงจนสามารถเลิกใช้นิโคตินได้ ซึ่งมีข้อดีคือมีโอกาสติดน้อยกว่าการสูบบุหรี่(1, 2) 
ในปัจจุบันมีการผลิตนิโคตินทดแทนออกมาในรูปแบบ หมากฝรั่ง แผ่นแปะ สเปรย์พ่นจมูก ยาสูดพ่น และลูกอม แต่ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ หมากฝรั่งนิโคตินและแผ่นแปะนิโคติน(3) 
 
ภาพจาก : https://assets.apomeds.com/s3r/apomeds/images/Articles/Article5/73e3b6.png 
หมากฝรั่งนิโคติน (nicotine gum) 
หมากฝรั่งนิโคตินมี 2 ขนาด ได้แก่ 2 มิลลิกรัม และ 4 มิลลิกรัม(3) โดยแนะนำให้หยุดสูบบุหรี่ทันทีเมื่อจะใช้หมากฝรั่งช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งขนาดที่ใช้ขึ้นอยู่กับจำนวนบุหรี่ที่สูบ 
หากสูบบุหรี่ไม่เกิน 24 มวน/วันแนะนำให้เคี้ยวหมากฝรั่งขนาด 2 มิลลิกรัม 
หากสูบบุหรี่ 25 มวนขึ้นไป/วันแนะนำให้เคี้ยวหมากฝรั่งขนาด 4 มิลลิกรัม โดยเคี้ยวเมื่อมีอาการอยากบุหรี่ หรือทุก 1-2 ชั่วโมง แต่ไม่เกินวันละ 30 ชิ้นสำหรับขนาด 2 มิลลิกรัมและไม่เกินวันละ 15 ชิ้นสำหรับขนาด 4 มิลลิกรัม(4) หรือใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร วิธีการใช้(5)

  1. เคี้ยวหมากฝรั่งช้า ๆจนเริ่มมีรสเผ็ดซ่า
  2. เมื่อรู้สึกถึงรสเผ็ดซ่าให้หยุดเคี้ยว แล้วนำหมากฝรั่งไปพักไว้ที่กระพุ้งแก้มข้างใดข้างหนึ่ง
  3. เมื่อรสเผ็ดซ่าหายไปให้นำหมากฝรั่งมาเคี้ยวใหม่
  4. เคี้ยวหมากฝรั่งจนมีรสเผ็ดซ่าแล้วนำไปพักไว้ที่กระพุ้งแก้มเช่นเดิม สลับกันไป ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
  5. ห่อหมากฝรั่งด้วยกระดาษให้มิดชิดก่อนทิ้ง เพื่อป้องกันเด็กหรือสัตว์เลี้ยงนำไปเคี้ยวและอาจเกิดอันตรายได้จากนิโคตินที่ค้างอยู่ในหมากฝรั่ง

ข้อควรระวังและข้อแนะนำ(4, 5)

  • ควรงดเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด เช่น กาแฟ น้ำส้ม น้ำอัดลม 15 นาทีก่อนเคี้ยวหมากฝรั่ง เนื่องจากทำให้การดูดซึมนิโคตินลดลง
  • ควรกลืนน้ำลายช้า ๆ ไม่กลืนน้ำลายมากเกินเพื่อลดการระคายเคืองทางเดินอาหาร
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีปัญหาทางทันตกรรม, แผลในทางเดินอาหาร

แผ่นแปะนิโคติน (nicotine patch) 
แผ่นแปะนิโคตินในประเทศไทยมีขนาดที่จำหน่ายอยู่ได้แก่ 17.5 มิลลิกรัม 35 มิลลิกรัมและ 52.5 มิลลิกรัม ซึ่งจะปลดปล่อยนิโคติน 7 มิลลิกรัม 14 มิลลิกรัม และ 21 มิลลิกรัมต่อวันตามลำดับ(6-8) โดยแนะนำให้หยุดบุหรี่เมื่อต้องการใช้แผ่นแปะนิโคตินเช่นเดียวกันกับหมากฝรั่ง ติดแผ่นแปะทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงแม้ว่าจะอาบน้ำหรือนอน เปลี่ยนแผ่นใหม่ในเวลาเดียวกันของทุกวัน หากมีอาการนอนไม่หลับให้นำแผ่นแปะออกก่อนนอนและแปะแผ่นใหม่เมื่อตื่นนอน หรือแปะแผ่นแปะวันละ 16 ชั่วโมง(5) ขนาดที่แนะนำให้ใช้ขึ้นกับจำนวนบุหรี่ที่สูบโดย หากสูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวน/วัน ใช้ขนาด 14 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์ แล้วตามด้วย 7 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์หากสูบบุหรี่มากกว่า 20 มวน/วัน ใช้ขนาด 21 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์ ตามด้วย 14 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์ และต่อด้วย 7 มิลลิกรัม/วัน 3-4 สัปดาห์(4) 
วิธีการใช้(5)

  1. ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง
  2. ลอกแผ่นใสที่คลุมส่วนเหนียวที่มีตัวยาอยู่ออก
  3. ติดแผ่นแปะในบริเวณที่ไม่มีขน ไม่มีบาดแผล โดยติดระหว่างบริเวณคอและสะโพก หรือต้นแขนด้านนอก
  4. กดแผ่นไว้ประมาณ 10 วินาทีเพื่อให้แผ่นติดแน่น
  5. ล้างมือให้สะอาด

ข้อควรระวังและข้อแนะนำ(5)

  • หลีกเลี่ยงการทาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ บริเวณที่ต้องการแปะแผ่น เนื่องจากทำให้แผ่นติดที่ผิวหนังไม่ดี
  • ควรเปลี่ยนตำแหน่งที่ติดทุกวันเพื่อลดการระคายเคือง

จากที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นได้ว่านิโคตินถูกนำมาใช้เป็นสารช่วยในการเลิกบุหรี่ โดยนิโคตินทดแทนทั้ง 2 รูปแบบมีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน ซึ่งหมากฝรั่งนิโคตินมีข้อดีคือ ให้ความรู้สึกคล้ายกับการสูบบุหรี่ สามารถปรับขนาดการใช้ได้ง่ายแต่ก็จำเป็นต้องเคี้ยวบ่อยตลอดทั้งวัน ส่วนแผ่นแปะนิโคตินมีข้อดีคือ สามารถใช้ได้สะดวกแปะวันละ 1 ครั้ง ลดอาการอยากบุหรี่ในตอนเช้า สามารถแปะใต้ร่มผ้าได้ทำให้ไม่เป็นจุดสังเกต แต่ก็มีข้อเสียคือไม่สามารถปรับขนาดได้ อาจระคายเคืองผิว ซึ่งการเลือกใช้นิโคตินทดแทนแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับความสะดวกและความพึงพอใจของผู้ใช้ อย่างไรก็ตามผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด สตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้นิโคติน(4) 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Benowitz NL. Nicotine addiction. N Engl J Med. 2010;362(24):2295-303.
  2. Sandhu A HS, Hosseini SA, Saadabadi A. Nicotine. StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2020.
  3. กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา. ข้อมูลยา [Internet]. 2559 [cited 20 May 2020]. Available from: http://ndi.fda.moph.go.th/drug_info/index?name=nicotine&brand=&rctype=&drugno=.
  4. เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการบำบัดรักษาโรคติดบุหรี่ในประเทศไทย ปี พ.ศ.2552 สำหรับแพทย์และบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ2552.
  5. คณะอนุกรรมการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (สมรรถนะร่วม) พ.ศ. 2562. นนทบุรี: เอช อาร์ พริ้นซ์ แอนด์ เทรนนิ่ง; 2562.
  6. Healthcare GC. Nicotinell TTS 10 Transdermal Patches 2019 [cited 2020 May 20]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/390/smpc.
  7. Healthcare GC. Nicotinell TTS 20 Transdermal Patches 2019 [cited 2020 May 20]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/389.
  8. Healthcare GC. Nicotinell TTS 30 Transdermal Patches 2019 [cited 2020 May 20]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/388.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ชาร้อน ชาเย็น ประโยชน์/โทษ ต่อสุขภาพ 1 นาทีที่แล้ว
เครื่องสำอางกับสุขภาพ 1 นาทีที่แล้ว
เมลาโทนิน (melatonin) ตัวช่วยนอนหลับยอดฮิต 1 นาทีที่แล้ว
ไม้กฤษณา (ไม้หอม): ไม้ทรงคุณค่า ตอนที่ 1 1 นาทีที่แล้ว
คันและยาบรรเทาอาการคัน 1 นาทีที่แล้ว
ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 1 นาทีที่แล้ว
โรคงูสวัดในผู้สูงอายุ : แนวทางรักษาและการดูแล 1 นาทีที่แล้ว
“เห็ด” แหล่งอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ 1 นาทีที่แล้ว
การพัฒนาอนุภาคนาโนและระบบนำส่ง ตอนที่ 4 (Development of Nanoparticles and Delivery Systems: Chapter IV) 1 นาทีที่แล้ว
น้องแมวนำโรค!! ทาสแมวต้องระวัง 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา