Loading…

โควิด-19 กับ สัตว์เลี้ยง

โควิด-19 กับ สัตว์เลี้ยง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สพญ. นรรฆวี แสงกลับ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
18,843 ครั้ง เมื่อ 10 วินาทีที่แล้ว
2020-04-15

ปัจจุบันในขณะที่เรากำลังรับมือกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) เราก็จะได้ข่าวรายงานการติดเชื้อโควิด-19ในสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว และล่าสุดเสือที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งอาจสร้างความกังวลให้กับคนรักสัตว์รวมถึงคนที่เลี้ยงสัตว์อยู่ไม่น้อย
เริ่มจากข่าวรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสุนัขและแมวในฮ่องกง และในแมวที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหารในประเทศเบลเยียมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมที่ผ่านนั้น เป็นสุนัขและแมวที่ใกล้ชิดกับเจ้าของที่ป่วยเป็นโควิด-19 และยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการแพร่เชื้อกลับจากสัตว์เลี้ยงสู่คน

ภาพจาก : https://specials-images.forbesimg.com/imageserve/5e94815a892edc0006726ba3/960x0.jpg?fit=scale
สำหรับการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสุนัขในฮ่องกงนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการติดเชื้อ เนื่องจากมีเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ในระดับต่ำ ไม่มีการแพร่เชื้อกลับจากตัวสุนัขมายังคน และนอกจากนี้สุนัขดังกล่าวมีผลตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นลบในเวลาต่อมา
และในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ได้มีรายงานข่าวการตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ตระกูลแมว ที่มีการแสดงความผิดปกติทางระบบหายใจ ในสวนสัตว์ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าเป็นการติดเชื้อจากพนักงานดูแลสัตว์ที่มีผลบวกต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะยังไม่แสดงอาการยังคงปฏิบัติงานอยู่ แต่หลังจากทำการตรวจพนักงานดูแลสัตว์ดังกล่าวแล้วผลเป็นบวก สวนสัตว์ก็ปิดทำการ และพบว่าสัตว์กลุ่มที่ได้รับการดูแลโดยพนักงานคนนี้ได้แสดงอาการผิดปกติทางระบบหายใจในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ต่อมา
จากข้อมูลการตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มสัตว์ที่ได้กล่าวถึงไปนั้นจะเห็นได้ว่า สัตว์เหล่านั้นได้ใกล้ชิดกับเจ้าของหรือได้รับการดูแลจากผู้ดูแลที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นการติดจากคนสู่สัตว์ และยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการติดเชื้อกลับมาจากสัตว์เลี้ยงสู่คน
จากงานเขียนทางวิชาการในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการเผยแพร่การศึกษาในจีนซึ่งเป็นการศึกษาความไวหรือความสามารถในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสัตว์ทดลอง 6 ชนิด ได้แก่ แมว สุนัข เฟอร์เร็ต สุกร เป็ด และไก่ ผลการศึกษาพบว่าแมวและเฟอร์เร็ตเป็นสัตว์สองชนิดที่มีความไวต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้อาจสรุปได้ว่าแมวและเฟอร์เร็ตเป็นสัตว์สองชนิดที่มีความไวต่อการติดเชื้อ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าแมวสามารถติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในธรรมชาติหรือสามารถแพร่เชื้อดังกล่าวมาที่คนได้หรือไม่ เนื่องจากการศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาในห้องทดลอง และยังจำเป็นต้องมีผลการศึกษาเพิ่มเติมอีก
อีกการศึกษาหนึ่ง (Preprint) เป็นการศึกษาเพื่อหาความชุกของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในแมว โดยมีการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเลือดแมวก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น พบว่า 14% ของตัวอย่างเลือดแมวที่ตรวจมีเชื้อของโควิด-19 ภายหลังการระบาดของโรค แสดงให้เห็นว่ามีการแพร่ของเชื้อเชื้อไวรัสจากคนสู่แมว แต่เราจะสังเกตได้ว่าจำนวนแมวติดเชื้อที่ตรวจพบไม่มากนัก และอีกหนึ่งข้อสังเกตที่สำคัญ คือ เมืองอู่ฮั่นนั้นเป็นศูนย์กลางของการแพร่เชื้อจึงมีปริมาณเชื้อไวรัสกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก การศึกษานี้ยังรอการตรวจทานผลงานอยู่
จากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น สรุปได้ว่า มีการรายงานการพบเชื้อและการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากคนในสัตว์เลี้ยง โดยแมวและเฟอร์เร็ตอาจมีความไวในการติดเชื้อมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการแพร่เชื้อกลับจากสัตว์เลี้ยงสู่คน แต่ถึงอย่างไรก็ตามสัตว์เลี้ยงอาจนำพาเชื้อไวรัสมาให้เราหรือคนอื่น ๆ ได้อีกทอดหนึ่ง
ดังนั้น วิธีปฏิบัติตนและดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ เราควรรักษาความสะอาดสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ควรล้างมือทั้งก่อนและหลังสัมผัสสัตว์หรือสัตว์เลี้ยง กลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวควรอยู่ห่างจากสัตว์หรือสัตว์เลี้ยงชั่วคราว หลีกเลี่ยงการปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้าน หากจำเป็นควรอาบน้ำสัตว์เลี้ยงก่อนเข้าบ้านทุกครั้ง และหากสัตว์เลี้ยงมีอาการทางระบบทางเดินหายใจร่วมกับระบบทางเดินอาหาร ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการหาสาเหตุของโรค และยังไม่มีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อในสัตว์เลี้ยงทุกตัว และขอความร่วมมือไม่นำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยในที่สาธารณะ
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. SARS-CoV-2 in animals, including pets. American Veterinary Medical Association (AVMA), https://www.avma.org/: updated on April 12, 2020.
  2. Shi J, Wen Z, Zhong G, Yang H, Wang C, Huang B, et al. Susceptibility of ferrets, cats, dogs, and other domesticated animals to SARS-coronavirus 2. Science. 8 Apr 2020. https://doi.org/10.1101/2020.03.30.015347
  3. Zhang Q, Zhang H, Huang K, Yang Y, Hui X, Gao J, et al. SARS-CoV-2 neutralizing serum antibodies in cats: a serological investigation. Posted 3 Apr 2020. (Preprint) https://doi.org/10.1101/2020.04.01.021196
  4. USDA Statement on the Confirmation of COVID-19 in a Tiger in New York, https://www.aphis.usda.gov/aphis/newsroom/news/sa_by_date/sa-2020/ny-zoo-covid-19?fbclid=IwAR09LbV5ZR8CIdIkjwOQfkiiGgEwtDXFf48uh4PzCsaGOc35mWqHq_aCQcA: updated on April 6, 2020.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 1 วินาทีที่แล้ว
ผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก 1 วินาทีที่แล้ว
ส้นเท้าแตก....การดูแลและป้องกัน 4 วินาทีที่แล้ว
ออกกำลังกายอย่างไรดี ? 4 วินาทีที่แล้ว
ท้องเสียเฉียบพลัน จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะหรือไม่ ? 5 วินาทีที่แล้ว
ท้องเสียจากโนโรไวรัส (Norovirus) 6 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (dextromethorphan) และการนำไปใช้ ในทางที่ผิด 7 วินาทีที่แล้ว
คันและยาบรรเทาอาการคัน 9 วินาทีที่แล้ว
ฝีดาษลิง (Monkeypox)....รู้ไว้ไม่ตระหนก 10 วินาทีที่แล้ว
วัตถุกันเสียในไส้กรอก แฮม และโบโลน่า 10 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล