Loading…

ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หรือแพ้อากาศ เป็นอะไรกันแน่?

ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หรือแพ้อากาศ เป็นอะไรกันแน่?
ผู้ช่วยอาจารย์ ภก. ธีรวิชญ์ อัชฌาศัย ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
107,626 ครั้ง เมื่อ 9 นาทีที่แล้ว
2017-08-21

ฤดูฝนเป็นฤดูที่ทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบาย เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ มีไข้ เราจะทราบได้อย่างไรว่าอาการเหล่านี้เกิดจากไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคภูมิแพ้อากาศกันแน่? ในบางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะสามารถแยกโรคเหล่านี้ออกจากกันได้ด้วยตนเอง เนื่องจากลักษณะอาการบางอย่างที่ใกล้เคียงกัน แต่การรู้ถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละโรคจะสามารถช่วยให้เราเลือกการป้องกัน การรักษาและวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้องได้

ภาพจาก : http://ghk.h-cdn.co/assets/17/01/980x490/landscape-1483548118-flu.jpg
ความแตกต่างของสาเหตุการเกิด
ไข้หวัดธรรมดา (Common cold) และ ไข้หวัดใหญ่ (Flu) ต่างก็เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่แตกต่างกันที่ชนิดของไวรัส โดยไข้หวัดธรรมดานั้นเกิดได้จากไวรัสหลายสายพันธ์ แต่ประเภทที่มักก่อให้เกิดโรคนั้นคือ Rhinoviruses ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดไข้หวัดธรรมดาถึงร้อยละ 30-50 ตามมาด้วย Coronaviruses ที่เป็นสาเหตุร้อยละ 10-15 ส่วนไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดจากไวรัส Influenza A และ Influenza B ซึ่งทั้ง 2 ชนิดมีหลายสายพันธุ์และแต่ละสายพันธุ์เกิดการระบาดต่างกันในแต่ละปี ในแต่ละภูมิภาคของโลก
ในกรณีของการแพ้อากาศนั้น สาเหตุการเกิดจากโรคภูมิแพ้ซึ่งแตกต่างจากอีก 2 โรคที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพราะไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หากแต่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยเอง ซึ่งทำงานตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นที่สามารถพบได้จากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เช่น ฝุ่น อากาศเย็น อากาศร้อน และละอองเกสร ซึ่งสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้นั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน
ความแตกต่างของอาการ
ในบางครั้งอาการแสดงทางจมูกและระบบทางเดินหายใจมีความใกล้เคียงกันทั้ง 3 โรค จึงทำให้แยกโรคออกจากกันโดยผู้ป่วยเองได้ค่อนข้างยาก เว้นแต่ได้รับการตรวจวินิจฉัยที่เด่นชัด อย่างไรก็ตามการสังเกตอาการที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละโรคด้วยตนเอง เป็นการเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลรักษาตนเอง และทำให้เราสามารถไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีหากอาการของโรครุนแรงขึ้น โดยไข้หวัดธรรมดา มักจะมี (หรือไม่มี) ไข้ต่ำ ๆ ร่วมกับอาการทางจมูกและทางเดินหายใจ ได้แก่ อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล (ลักษณะน้ำมูกใสเป็นส่วนใหญ่) จาม เจ็บคอ คอแดง ทอนซิลอาจบวมแดงแต่ไม่พบจุดหนอง (จุดหนองมักพบในการติดเชื้อแบคทีเรีย) และไอ ส่วนอาการปวดหัวก็สามารถพบได้บ้าง และอาการโดยทั่วไปมักไม่รุนแรงและสามารถดีขึ้นและหายไปได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดอาการทางจมูกและคอได้บ้างในบางครั้ง แต่จะมีอาการเด่นชัด ได้แก่ มีไข้สูงลอย (37.8-39.0 องศาเซลเซียส) อาการปวดหัวและปวดเมื่อยตามตัว ร่วมกับอาการอ่อนเพลียอย่างมาก อีกทั้งยังพบอาการไอที่รุนแรงร่วมกับอาการเจ็บหน้าอกอีกด้วย
ในส่วนของโรคภูมิแพ้หรือแพ้อากาศนั้นจะมีอาการใกล้เคียงกับไข้หวัดธรรมดามาก กล่าวคือมีอาการเด่นที่จมูก ได้แก่ อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล (ลักษณะน้ำมูกใส) คันจมูก จาม บางคนอาจมีอาการคันที่ตาและมีน้ำตามากร่วมด้วย แต่สามารถแยกจากโรคไข้หวัดธรรมดาได้จากระยะเวลาของการเกิดอาการ โดยโรคภูมิแพ้มักจะมีระยะเวลาในการเกิดที่นาน และจะไม่หายหากผู้ป่วยยังคงได้รับสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการอยู่ ในทางกลับกันไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่นั้นสามารถหายได้ในเวลาไม่นาน โดยทั่วไปมักไม่เกิน 2 สัปดาห์ เมื่อได้รับการดูแลหรือรักษาที่ถูกต้องและไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นใด
ความแตกต่างของการรักษา
การรักษาไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่นั้น จะเน้นไปที่การรักษาตามอาการ ร่วมกับพักผ่อนและดื่มน้ำตามมากๆ และเนื่องจากทั้งสองโรคนั้นมีไวรัสเป็นเชื้อก่อโรค ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะจึงไม่มีความจำเป็น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีไข้ สามารถให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล สำหรับการใช้ยาลดไข้กลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่
สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti Inflammatory Drugs:-NSAIDs) เช่น แอสไพริน (aspirin) และ ไอบูโพเฟน (ibuprofen) โดยเฉพาะในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ต้องได้รับการระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอาการบางส่วนของโรคไข้หวัดใหญ่นั้นคล้ายคลึงกับโรคไข้เลือดออก ซึ่งยากลุ่มดังกล่าวสามารถทำให้โรคไข้เลือดออกอาการเลวลงได้ จึงควรใช้ก็ต่อเมื่อได้รับการวินิจฉัยยืนยันจากแพทย์หรือโรงพยาบาลแล้วเท่านั้น นอกจากนี้ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง หรืออยู่ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยตัวโรคและสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ก่อให้เกิดโรคอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลซึ่งอาจประกอบไปด้วยยาต้านไวรัส และได้รับคำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมหากทำการรักษาต่อที่บ้าน
ในกรณีของโรคภูมิแพ้ก็จะใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่นการใช้ยาแก้แพ้กลุ่มที่ยับยั้งผลของฮีสตามีน (antihistamine) และการใช้ยาแก้คัดจมูก แต่วิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือการค้นหาและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการแพ้ หากมีอาการรุนแรงหรือรบกวนชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก (Nasal steroid)
การป้องกัน
อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วในส่วนการรักษา โรคภูมิแพ้นั้นสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการพบเจอหรือสัมผัสสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ เช่นฝุ่น หรือละอองเกสร ส่วนในไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่นั้น การใช้ผ้าปิดปากในที่สาธารณะที่แออัด การล้างมือ การใช้ช้อนกลาง และการหลีกเลี่ยงการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นหวัดอยู่ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ นอกจากนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปีก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ได้ และแนะนำให้ผู้สูงอายุทุกคนควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดอัตราการป่วยเข้าโรงพยาบาลจากโรคนี้

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Eccles R. Understanding the symptoms of the common cold and influenza. Lancet Infect Dis. 2005;5(11):718.
  2. Wallace DV, Dykewicz MS, Bernstein DI, et al. The diagnosis and management of rhinitis: an updated practice parameter. J Allergy Clin Immunol 2008; 122:S1.
  3. Centers for Disease Control and Prevention. Key Facts About Influenza (Flu). [cited 2017 June 10]. Available from: https://www.cdc.gov/flu/keyfacts.htm
  4. NIH News in Health. Cold, Flu, or Allergy?. [cited 2017 June 10]. Available: https://newsinhealth.nih.gov/issue/oct2014/feature2

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

อาหารหลากสี มีประโยชน์หลากหลาย (ตอนที่ 4): สารเคมีที่มีประโยชน์จากผักผลไม้ที่มีสีเหลืองและสีส้ม 1 วินาทีที่แล้ว
วิตามินดี แสงแดด และอาการซึมเศร้า 2 วินาทีที่แล้ว
รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 2 วินาทีที่แล้ว
ออกกำลังกายอย่างไรดี ? 3 วินาทีที่แล้ว
ความรู้เรื่องคลื่นรังสี ตอนที่ 1 3 วินาทีที่แล้ว
ทำความรู้จักกับอินูลิน (Inulin) และประโยชน์ของอินูลินต่อสุขภาพ 3 วินาทีที่แล้ว
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร 4 วินาทีที่แล้ว
ผลเสียของการไม่บริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรต 5 วินาทีที่แล้ว
ปอบิด พิชิตสรรพโรคได้จริงหรือ? 5 วินาทีที่แล้ว
ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง 6 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล