Loading…

ดอกเข้าพรรษา..สีสันของฤดูฝน

ดอกเข้าพรรษา..สีสันของฤดูฝน
ธิดารัตน์ จันทร์ดอน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
31,744 ครั้ง เมื่อ 2 ช.ม.ที่แล้ว
2017-08-25

“ดอกเข้าพรรษา” เป็นพืชวงศ์ขิง ZINGIBERACEAE สกุลหงส์เหิน (Globba spp.) มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย และกระจายพันธุ์ได้ดีบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้มากกว่า 100 ชนิด และในประเทศไทยสามารถพบได้มากกว่า 40 ชนิด โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น Globba winitii C.H. Wright หรือกล้วยจะก่าหลวง (ลำพูน), G. reflexa กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่) หรือก้ามปู (พิษณุโลก), G. schomburgkii กระทือลิงหรือขมิ้นผี (สระบุรี) และ G. pendula หรือปุดนกยูง (ภาคใต้) เป็นต้น ส่วนใหญ่จะมีลักษณะของดอกขนาดเล็ก คล้ายนกหรือหงส์ที่กำลังเต้นรำ จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “หงส์เหิน” และบางชนิดมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า "Dancing ladies ginger"(1-2)

หงส์เหินเป็นพืชมีดอกประเภทหัว มีเหง้าใต้ดินลักษณะคล้ายกระชาย ลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบรวมตัวกัน ใบเดี่ยว แผ่นใบรูปรี รูปขอบขนาน ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม ฐานใบสอบเรียวหรือรูปหัวใจ มีช่อดอกออกที่ปลายยอดของลำต้นเหนือดิน ชูตั้งขึ้น เอียงในแนวระนาบ หรือโค้งงอชี้ลงพื้นดิน ช่อดอกแบบ ช่อกระจุกแน่น ช่อเชิงลด ช่อกระจะ หรือช่อแยกแขนง ใบประดับมีสีสันสวยงาม เช่น สีม่วง สีแดง สีชมพู สีขาว สีเขียว และสีเหลือง ดอกขนาดเล็กหลุดร่วงง่าย สีเหลือง สีส้ม หรือสีขาว สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การแยกเหง้า หรือการเพาะเมล็ด เป็นต้น หงส์เหินจะมีดอกในช่วงฤดูฝน และนิยมนำมาใช้สำหรับประเพณีตักบาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษา โดยเฉพาะที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จึงเป็นที่มาของชื่อที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า "ดอกเข้าพรรษา"(3)
สำหรับประโยชน์ของพืชสกุลหงส์เหินนั้น นอกจากจะเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรม ในประเพณีเข้าพรรษาของชาวไทยแล้ว ความสวยงามของหงส์เหินบางชนิดยังถูกนำมาใช้เป็นพรรณไม้สำหรับประดับตกแต่ง ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์สำหรับการเพาะปลูกเพื่อการค้าทั้งในไทยและส่งออกไปต่างประเทศ เช่น G. williamsiana พันธุ์สีชมพูอมม่วง Giant violet dancing girl และพันธุ์สีขาว White dragon สำหรับนำไปใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับหรือปลูกเป็นไม้กระถางตกแต่งอาคารบ้านเรือน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการใช้พืชสกุลหงส์เหินเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านทางตอนเหนือของอินเดีย เช่น เหง้าของหงส์เหินชนิด G. clarkei ใช้รักษาอาการไอ และเหง้าของ G. multiflora ใช้ทาแผลเพื่อบรรเทาอาการปวดและใช้เพื่อลดไข้ แต่ยังไม่มีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพืชสกุลหงส์เหินมากพอ มีเพียงบางข้อมูลระบุว่า G. winitii C.H. Wright มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และ G. malaccensis มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในเซลล์(4-7) อย่างไรก็ตามพืชในสกุลหงส์เหินหรือดอกเข้าพรรษา ก็เป็นพืชที่มีสีสันหลากหลายและมีลักษณะรูปร่างสวยงามแปลกตา จึงช่วยสร้างสีสันในช่วงฤดูฝนของทุกๆ ปี และยังคงมีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนาสำหรับเทศกาลเข้าพรรษาของชาวไทยสืบไป

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Kress WJ, Prince LM, Williams KJ. The phylogeny and a new classification of the gingers (ZINGIBERACEAE): evidence from molecular data. Am J Bot 2002;89(10):1682-96.
  2. Williams KJ, Kress WJ, Manos PS. The phylogeny, evolution, and classification of the genus Globba and tribe Globbeae (ZINGIBERACEAE): appendages do matter. Am J Bot 2004;91(1):100-14.
  3. ปิยเกษตร สุขสถาน, ทยา เจนจิตติคุณ, พัชรียา บุญกองแก้ว ผู้รวบรวม. โครงการย่อยการรวบรวมคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์พืชสกุลหงส์เหิน (Globba) ที่มีศักยภาพเชิงการค้า, 2555 น. 33-154. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์การพัฒนาพืชวงศ์ขิงเพื่อการส่งออก. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.). กรุงเทพฯ.
  4. Ethnomedical uses of Zingiberaceous plants of Northeast India. Tushar, Basak S, Sarma GC, Rangan L. J Ethnopharmacol 2010;132(1):286-96.
  5. Manokam N, Nuntawong N. Chemical constituents from the rhizomes of Globba reflexa Craib. Biochem Syste Ecol 2014;57:395e398.
  6. Chaiyasut C, Chansakaow S. Inhibitory effects of some Thai plant extracts on AAPH-induced protein oxidation and protein glycation. Naresuan University Journal 2007; 15(1): 35-41.
  7. Anuthakoengkun A, Itharat A. Inhibitory effect on nitric oxide production and free radical scavenging activity of Thai medicinal plants in osteoarthritic knee treatment. J Med Assoc Thai 2014;97 Suppl 8:S116-24.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

โควิด-19 กับ สัตว์เลี้ยง 2 วินาทีที่แล้ว
กระเทียมดำ 2 วินาทีที่แล้ว
โรคน้ำหนีบ (Decompression sickness) 3 วินาทีที่แล้ว
ยาบ้า 3 วินาทีที่แล้ว
ความเครียด และวิธีแก้ความเครียด 4 วินาทีที่แล้ว
รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 4 วินาทีที่แล้ว
คำแนะนำการเลือกใช้ครีมกันแดด 5 วินาทีที่แล้ว
กินยาพร้อมนม ได้ผลหรือไม่ ? 6 วินาทีที่แล้ว
ยาหอม กับคนวัยทำงาน 11 วินาทีที่แล้ว
น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย: เลือกที่ใช่ ใช้ถูกต้อง 14 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล