Loading…

รู้จักถั่วเลนทิล...ของดีที่คนรักสุขภาพไม่ควรมองข้าม

รู้จักถั่วเลนทิล...ของดีที่คนรักสุขภาพไม่ควรมองข้าม

รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จิราพร เลื่อนผลเจริญชัย

ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

4 ครั้ง เมื่อ 12 ช.ม.ที่แล้ว
2025-05-19

ในบรรดาพืชตระกูลถั่วที่เรารู้จัก ถั่วเลนทิล (lentils) อาจดูเป็นเพียงเมล็ดเล็ก ๆ ที่ไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับถั่วเหลือง ถั่วดำ หรือถั่วเขียว อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ของคุณค่าทางโภชนาการและผลลัพธ์ต่อสุขภาพตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว ถั่วเลนทิลอาจจัดได้ว่าเป็นหนึ่งใน “ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคต” ที่ไม่ควรมองข้าม

ถั่วเลนทิล (ชื่อวิทยาศาสตร์: Lens culinaris) เป็นพืชตระกูลถั่ว (legume) ที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนและเอเชียตะวันตก โดยมีการเพาะปลูกมาแล้วมากกว่า 9,000 ปี ปัจจุบันถั่วเลนทิลยังคงเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญในหลายวัฒนธรรมอาหาร โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกกลาง

ถั่วเลนทิลมีลักษณะเฉพาะ คือ รูปร่างกลม แบน ขนาดเล็ก และมีหลายสี เช่น สีเขียว สีแดง/ส้ม สีดำ และสีน้ำตาล ซึ่งแต่ละชนิดก็มีเนื้อสัมผัสและวิธีการใช้งานในอาหารที่แตกต่างกัน โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

ประเภทของถั่วเลนทิล

ลักษณะเฉพาะ

เหมาะกับเมนูอาหาร

เลนทิลสีเขียว

(Puy or French lentils)

รสชาติคล้ายถั่วเขียว มีกลิ่นที่ค่อนข้างจะชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ เม็ดแข็ง เวลาหุงสุกจะเกาะตัวกันแน่น เคี้ยวหนึบสลัด อาหารที่ต้องทำการเคี่ยว

เลนทิลสีแดง / ส้ม

(Red / Orange lentils)

เปื่อยง่าย มีรสชาติหวานเล็กน้อยซุป แกง ดาลอินเดีย นิยมนำมาทำอาหารสำหรับเด็กมากที่สุด เพราะให้ปริมาณโปรตีนและโฟเลตสูง
เลนทิลสีดำ (Beluga or blank lentils)เม็ดเล็กคล้ายคาเวียร์  สีเข้มเงางาม เนื้อแน่นอาหารจานหลักที่มีราคา เครื่องเคียง

เลนทิลสีน้ำตาล

(Egyptian or continental or brown lentils)

พบบ่อยที่สุด และมีราคาถูกที่สุด ค่อนข้างแข็ง ถึงแม้ว่าจะสุกแล้วก็ยังคงตัวอยู่ในรูปเดิม ความหวานน้อยที่สุด รสชาติคล้ายถั่วทั่วไปซุปทั่วไป สตูว์ เมนูประจำวัน

 

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วเลนทิลต่อ 100 กรัม ทั้งแบบดิบและหลังปรุงสุก โดยอ้างอิงจากข้อมูลของUSDA FoodData Central ถูกแสดงในตาราง

สารอาหาร

ปริมาณ (โดยประมาณ)

ถั่วเลนทิลดิบ

ถั่วเลนทิลปรุงสุก

พลังงาน (กิโลแคลอรี)

343-356

116-226

น้ำ  (กรัม)

8.3-9.7

69.6-137.9

โปรตีน  (กรัม)

24.4-25.7

9.0-17.9

ไขมันรวม  (กรัม)

0.9-1.1

0.38-0.75

คาร์โบไฮเดรต (กรัม)

60.0-64.4

20.1-38.7

ใยอาหารรวม (ไฟเบอร์) (กรัม)

10.7-31.4

7.9-15.6

น้ำตาลรวม  (กรัม)

2.0-2.9

1.8-3.6

สังกะสี  (มิลลิกรัม)

3.3-5.9

1.3-2.5

โซเดียม  (มิลลิกรัม)

3-6

123-471

โพแทสเซียม (มิลลิกรัม)

677-943

369-731

ฟอสฟอรัส  (มิลลิกรัม)

281-335

180-356

แมกนีเซียม (มิลลิกรัม)

47-69

36-71

เหล็ก (มิลลิกรัม)

6.5-7.7

3.3-6.6

แคลเซียม (มิลลิกรัม)

35-57

19-38

วิตามินเอ (หน่วยเทียบเท่ากิจกรรมของเรตินอล, RAE) (ไมโครกรัม)

2.0-2.5

0.00

วิตามินเอ (หน่วยสากล, IU)

32-39

8-16

วิตามินบี1 (ไทอามีน) (มิลลิกรัม)

0.76-0.87

0.17-0.34

วิตามินบี2 (ไรโบฟลาวิน) (มิลลิกรัม)

0.19-0.21

0.07-0.15

วิตามินบี3 (ไนอาซิน) (มิลลิกรัม)

2.61-3.46

1.06-2.10

วิตามินบี6 (ไพริดอกซีน) (มิลลิกรัม)

0.54-0.70

0.18-0.35

วิตามินบี9 (โฟเลต) (มิลลิกรัม)

0.46-0.56

0.18-0.36

วิตามินบี12 (โคบาลามิน) (มิลลิกรัม)

0.00

0.00

วิตามินซี  (มิลลิกรัม)

3.4-4.5

1.5-3.0

วิตามินอี  (มิลลิกรัม)

0.5-0.6

0.1-0.2

วิตามินเค  (ไมโครกรัม)

4.2-5.0

1.7-3.4

 

จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า ปริมาณสารอาหารในถั่วเลนทิลมีการเปลี่ยนแปลงหลังผ่านการปรุงสุก โดยเฉพาะความเข้มข้นของสารอาหารต่อ 100 กรัมที่ลดลง เนื่องจากเมล็ดถั่วดูดซับน้ำระหว่างการปรุง ทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้สารอาหารจะเจือจางลงตามน้ำหนัก แต่ในความเป็นจริง ปริมาณที่บริโภคหลังปรุงสุกมักมากกว่า ซึ่งช่วยให้ร่างกายยังคงได้รับสารอาหารในปริมาณที่เพียงพอ ที่สำคัญ ถั่วเลนทิลที่ผ่านการปรุงสุกแล้วยังคงเป็นแหล่งโปรตีนจากพืช ใยอาหาร และโฟเลตที่ดีเยี่ยม โดยปราศจากไขมันและคอเลสเตอรอล เหมาะสำหรับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพหรือรับประทานอาหารเพื่อควบคุมระดับไขมันในเลือด

ประโยชน์ต่อสุขภาพของการบริโภคถั่วเลนทิล

  1. ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

มีงานวิจัยพบว่า ผู้ที่บริโภคพืชตระกูลถั่วเป็นประจำ โดยเฉพาะถั่วเลนทิล มีแนวโน้มที่จะมีค่าความดันโลหิตและระดับไขมันไม่ดี (low-density lipoprotein, LDL) ต่ำลง ทั้งนี้เนื่องจากถั่วเลนทิลอุดมไปด้วยใยอาหารชนิดละลายน้ำ ซึ่งช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ขณะเดียวกัน แร่ธาตุโพแทสเซียม โฟเลต และสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซีและฟลาโวนอยด์ในถั่วเลนทิล ยังมีบทบาทสำคัญในการลดการอักเสบ และสนับสนุนการทำงานของหัวใจอย่างมีประสิทธิภาพ

  1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ถั่วเลนทิลเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและใยอาหารที่ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้วยค่าดัชนีน้ำตาล (glycemic index – GI) ที่ต่ำอยู่ระหว่าง 21-30 ถั่วเลนทิลจึงช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ ไม่ทำให้เกิดการพุ่งขึ้นของน้ำตาลอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังเป็นอาหารเสริมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และจัดการอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  1. ช่วยเรื่องการย่อยและดูแลลำไส้

ใยอาหารในถั่วเลนทิลมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพลำไส้ โดยทำหน้าที่เป็นพรีไบโอติก (prebiotic) ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดดี เช่น Bifidobacteria และ Lactobacilli ซึ่งมีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร ดูดซึมสารอาหาร และยังมีบทบาทในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ลดความเสี่ยงของการอักเสบและโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร

  1. ช่วยควบคุมน้ำหนัก

ถั่วเลนทิลเป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำแต่ให้ความอิ่มอยู่นาน เนื่องจากเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน โปรตีน และใยอาหารในปริมาณสูง ซึ่งช่วยชะลอการย่อย ทำให้อิ่มท้องได้นานขึ้น และลดความอยากอาหารระหว่างวัน นอกจากนี้ยังเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติหรือวีแกน เพราะเป็นแหล่งโปรตีนจากพืชที่มีคุณภาพดี

  1. ช่วยป้องกันความผิดปกติของทารกในครรภ์

ถั่วเลนทิลอุดมด้วยโฟเลต (วิตามินบี9) ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะในช่วงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ เพราะโฟเลตมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบประสาทของทารกในครรภ์ และช่วยลดความเสี่ยงของความผิดปกติของหลอดประสาท (neural tube defects) เช่น ภาวะไขสันหลังไม่ปิด (spina bifida)

วิธีการประกอบอาหารและเทคนิคที่ควรรู้เกี่ยวกับถั่วเลนทิล

  1. การแช่น้ำ

แม้ว่าถั่วเลนทิลจะไม่จำเป็นต้องแช่น้ำก่อนปรุงเหมือนถั่วเมล็ดใหญ่ แต่การแช่น้ำไว้ประมาณ 2-4 ชั่วโมง จะช่วยให้เมล็ดสุกเร็วขึ้น และยังช่วยลดปริมาณสารไฟเตต (phytate) ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่อาจรบกวนการดูดซึมแร่ธาตุบางชนิด เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี และแมกนีเซียม

  1. เวลาต้มโดยประมาณ

เวลาที่ใช้ในการต้มจะแตกต่างกันไปตามชนิดของถั่วเลนทิล โดยที่ถั่วเลนทิลสีแดง/ส้ม 10-15 นาที ถั่วเลนทิลสีเขียวและน้ำตาล 20-30 นาที และถั่วเลนทิลสีดำ 25-35 นาที นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเติมเกลือหรือกรด (เช่น มะเขือเทศ) ขณะต้ม เพราะอาจทำให้ถั่วแข็งขึ้นและใช้เวลานานกว่าจะสุก

  1. การเก็บรักษา

ถั่วเลนทิลดิบ ควรเก็บในภาชนะปิดสนิท วางไว้ในที่แห้ง เย็น และไม่มีความชื้น สามารถเก็บได้นานถึง 1 ปี สำหรับถั่วเลนทิลที่ปรุงสุกแล้ว ควรเก็บในตู้เย็นและบริโภคภายใน 3-5 วัน หรือแช่แข็งเพื่อเก็บได้นานถึง 2 เดือน

  1. เมนูแนะนำ

ถั่วเลนทิลสามารถปรุงได้หลากหลายเมนู ทั้งคาวและจานสุขภาพ เช่น lentil stew (สตูว์เลนทิลแบบตะวันตก) lentil curry (Dal) (แกงกะหรี่เลนทิลแบบอินเดีย) lentil loaf (เมนูอบแทนมีตโลฟ สำหรับสายมังสวิรัติ) lentil patties (แผ่นเบอร์เกอร์โปรตีนจากพืช) lentil & quinoa salad (สลัดสุขภาพที่อุดมด้วยโปรตีนและไฟเบอร์) ถั่วเลนทิลไม่เพียงแต่อร่อยและใช้งานได้หลากหลาย แต่ยังเป็นวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มองหาอาหารที่อิ่มนาน ดีต่อระบบย่อย และให้สารอาหารครบถ้วน

ข้อควรระวังและข้อจำกัดของการบริโภคถั่วเลนทิล

แม้ว่าถั่วเลนทิลจะเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารและดีต่อสุขภาพ แต่ก็มีข้อควรพิจารณาบางประการในการบริโภคดังนี้

  1. อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือแก๊สในบางคน

ถั่วเลนทิลมีปริมาณของสารโอลิโกแซ็กคาไรด์ (oligosaccharides) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายบางคนย่อยได้ยาก อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด แก๊ส หรือไม่สบายท้องได้

  1. ควรระวังในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไต

ถั่วเลนทิลมีโพแทสเซียมในปริมาณสูง ซึ่งอาจไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องจำกัดการบริโภคโพแทสเซียม เช่น ผู้ป่วยโรคไตระยะกลางถึงปลาย จึงควรปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหารก่อนบริโภคเป็นประจำ

  1. มีสารต้านสารอาหาร (anti-nutrients)

ถั่วเลนทิลอาจมีสารต้านสารอาหาร เช่น เลคติน (lectin) และ ไฟเตต (phytate) ซึ่งอาจขัดขวางการดูดซึมแร่ธาตุสำคัญอย่างธาตุเหล็กและสังกะสี อย่างไรก็ตาม สารเหล่านี้สามารถลดลงได้ด้วยการแช่น้ำและล้างถั่วก่อนปรุง หรือใช้วิธีทำให้งอก (sprouting)

บทสรุป

ถั่วเลนทิล – พลังอาหารจากธรรมชาติที่ให้มากกว่าแค่ความอิ่ม

ไม่ใช่เพียงเมล็ดพืชธรรมดา แต่คือแหล่งของโปรตีน ใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงในราคาที่เข้าถึงได้ เหมาะสำหรับทุกคนที่ใส่ใจสุขภาพอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะผู้ที่ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ควบคุมน้ำหนัก หรือดูแลสุขภาพหัวใจและระดับน้ำตาลในเลือด

วันนี้คุณลอง "เลนทิล" แล้วหรือยัง?

เปลี่ยนทุกจานอาหารของคุณให้เป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ได้ตั้งแต่คำแรกที่ทาน

Photo: Engin Akyurt from Pixabay

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Alexander R, Khaja A, Debiec N, Fazioli A, Torrance M, Razzaque MS. Health-promoting benefits of lentils: anti-inflammatory and anti-microbial effects. Curr Res Physiol. 2024;7:100124.
  2. USDA. 2018. Food Database and Calorie Counter. https://www.fatsecret.com/calories-nutrition/usda/lentils?portionid=61010&portionamount=61100.61000.
  3. Hefnawy T.H. Effect of processing methods on nutritional composition and anti-nutritional factors in lentils (Lens culinaris). Ann Agric Sci. 2011;56:57-61.
  4. Ganesan K, Xu B. Polyphenol-rich lentils and their health promoting effects. Int J Mol Sci. 2017;18(11):2390.
  5. Świeca M, Baraniak B, Gawlik-Dziki U. In vitro digestibility and starch content, predicted glycemic index and potential in vitro antidiabetic effect of lentil sprouts obtained by different germination techniques. Food Chem. 2013;138(2-3):1414-20.
  6. Aslani Z, Mirmiran P, Alipur B, Bahadoran Z, Farhangi MA. Lentil sprouts effect on serum lipids of overweight and obese patients with type 2 diabetes. Health Promot Perspect. 2015;5(3):215-24.
  7. Lukito W. Candidate foods in the Asia-Pacific region for cardiovascular protection: nuts, soy, lentils and tempe. Asia Pac J Clin Nutr. 2001;10(2):128-33.
  8. Mollard RC, Zykus A, Luhovyy BL, Nunez MF, Wong CL, Anderson GH. The acute effects of a pulse-containing meal on glycaemic responses and measures of satiety and satiation within and at a later meal. Br J Nutr. 2012;108(3):509-17.
  9. Dewan M, Shams S-N, Haque M. A review of the health benefits of processed lentils (Lens culinaris L.). Legum Sci. 2024;6:e232.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ยาห้าราก : ตำรับยาสมุนไพรแก้ไข้ 11 วินาทีที่แล้ว
วัณโรค ( กลับมาอีกแล้ว....โดยไม่ได้เรียกร้อง) 22 วินาทีที่แล้ว
ยาล้างไต กับความเข้าใจผิดๆ 26 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 31 วินาทีที่แล้ว
ผักผลไม้ป้องกันโรคมะเร็ง 1 นาทีที่แล้ว
ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง 1 นาทีที่แล้ว
ยาในน้ำนมแม่ ตอนที่ 2 : ยารักษาโรคเบาหวาน 1 นาทีที่แล้ว
โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) ภัยใกล้ตัว 1 นาทีที่แล้ว
ยาแก้ข้ออักเสบ (กลุ่มเอ็นเสด)..ระวังอันตรายต่อไต 1 นาทีที่แล้ว
โรคจีซิกพีดี...ยาและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา