ไมโครนีดเดิล (microneedle) คือ เทคโนโลยีการผลิตอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นเข็มขนาดเล็กความยาวระหว่าง 50-1,000 ไมโครเมตร ซึ่งสามารถเจาะลงบนผิวหนังในชั้นหนังกำพร้า (stratum corneum) ซึ่งจัดเป็นการรุกรานเนื้อเยื่อในระดับต่ำ โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อผิวหนัง ช่วยเพิ่มการยอมรับจากผู้ใช้ รวมถึงช่วยลดปริมาณขยะอันตรายจากเข็ม ไมโครนีดเดิลถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นระบบนำส่งสารสำคัญสารออกฤทธิ์ต่างๆ โดยสร้างช่องทางนำส่งสารเหล่านี้เข้าสู่ชั้นผิวที่ลึกยิ่งขึ้นจึงเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมของสารทางผิวหนังเมื่อเทียบกับการใช้แบบทาภายนอก สามารถช่วยลดปริมาณสารที่ต้องใช้ และสิ่งที่น่าสนใจ คือ การใช้ไมโครนีดเดิลรบกวนโครงสร้างโมเลกุลของ stratum corneum เป็นกระบวนการที่สามารถฟื้นฟูได้ และทำให้เกิดความเจ็บปวดน้อยกว่าเข็มฉีดยา โดยเฉพาะเมื่อใช้ไมโครนีดเดิลที่มีความยาวสั้นกว่า 600 ไมโครเมตร และพบการศึกษาแสดงให้เห็นว่าความยาวของไมโครนีดเดิลมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการเกิดความเจ็บปวดและการเกิดจุดเลือดออกบนผิวหนังโดยผิวหนังบริเวณต่าง ๆ บนร่างกายของมนุษย์มีความหนาที่แตกต่างกัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องพิจารณาในการนำไมโครนีดเดิลมาใช้บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย
ไมโครนีเดิลกับการประยุกต์ใช้ด้านความงาม
เทคโนโลยีไมโครนีดเดิลถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1990 เพื่อรักษารอยแผลเป็น และในภายหลังถูกนำมาใช้ในการนำส่งยา รวมถึงสารออกฤทธิ์ในทางเครื่องสำอาง ได้แก่ วิตามินซี เรตินอยด์ เมลานิน โปรตีนและเปปไทด์ เทคนิคการใช้ไมโครนีดเดิลมีทั้งในรูปแบบเครื่องมือ เช่น Dermaroller และ Dermapen รวมถึง microneedle patch ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการเสริมความงามและการดูแลผิวพรรณ
ปัจจุบันอุปกรณ์ไมโครนีดเดิล (microneedle device)(1) เป็นการใช้อุปกรณ์เพื่อเสริมความงามและดูแลผิวพรรณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการปรับปรุงลักษณะผิว รักษาจุดด่างดำ และรอยแผลเป็น การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยแพทย์ผิวหนังได้นำเทคนิคดังกล่าวมาใช้เพื่อการต่อต้านริ้วรอยและฟื้นฟูสภาพผิวให้ดูอ่อนเยาว์ อุปกรณ์เหล่านี้ทำงานโดยการเจาะผิวหนังด้วยเข็มขนาดไมครอนเพื่อกระตุ้นให้เซลล์ใต้ผิวหนังผลิตคอลลาเจนและอิลาสตินซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของชั้นผิว และยังมีการใช้อุปกรณ์ไมโครนีดเดิลเหล่านี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งสารสำคัญทางเครื่องสำอางอีกด้วย ตัวอย่างของอุปกรณ์ไมโครนีดเดิล ได้แก่
- Dermaroller® เป็นอุปกรณ์ไมโครนีดเดิลแบบถือด้วยมือ โดยมีเข็มขนาดเล็กยาวประมาณ 200-3,000 ไมโครเมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.1 มิลลิเมตร เข็มของ Dermaroller®ทำจากซิลิคอนหรือสแตนเลส โดยกระบวนการกัดเซาะด้วยไอออน Dermaroller®ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการรักษารอยแผลเป็นจากสิว ดูแลผิว แผลเป็นจากไฟไหม้ ความผิดปกติของเม็ดสี และการเหนี่ยวนำการสร้างคอลลาเจน สามารถฟื้นฟูผิว รอยแตกลาย และผมร่วง อย่างไรก็ตามเนื่องจากความยาวของเข็มทำให้วิธีดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมมากนั้นเนื่องจากอาจทำให้เลือดออกได้
- Dermapen® เป็นอุปกรณ์ไมโครนีดเดิลที่มีลักษณะคล้ายปากกาที่มีเข็มที่ใช้แล้วทิ้งสำหรับรักษารอยแผลเป็นจากสิว แผลจากการไหม้ และปัญหาผิวจากแสงแดด โดยความยาวของเข็มสามารถปรับได้เพื่อนำเข็มขึ้นลงบริเวณที่ต้องการรักษา โดยมีเข็มจำนวน 9-12 เข็มเรียงตัวเป็นแถวที่ปลายเข็ม ข้อดีของ Dermapen® ที่เหนือกว่า Dermaroller®คือ เข็มเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง สามารถกระจายแรงกดบนผิวหนังได้อย่างสม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงที่ปลายเข็มจะหักในผิว และสามารถใช้รักษาบริเวณผิวที่ละเอียดอ่อน เช่น รอบดวงตา ริมฝีปากได้
- Dermastamp® เป็นอุปกรณ์ Dermaroller® ที่มีขนาดเล็ก ถูกออกแบบมาเพื่อให้เข้าถึงบริเวณที่เล็กและแคบซึ่งเข้าถึงได้ยากด้วย Dermaroller®
- AquaGold® Fine Touch เป็นอุปกรณ์ micro-injection ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรโดยใช้เข็มชุบทองที่มีความยาว 600 ไมโครเมตร กว้าง 130 ไมโครเมตร ถูกใช้เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน และนำส่งสารทางเครื่องสำอางลงสู่ผิวหนังชั้นลึก เช่น วิตามินซี เรตินอล สารต้านอนุมูลอิสระ โปรตีน สารกระตุ้นการเจริญเติบโต (growth factor) โดยสร้างรอยเจาะเล็กๆ ในผิวและส่งผลิตภัณฑ์ลงใต้ผิว ซึ่งสามารถช่วยปรับปรุงพื้นผิว ลดริ้วรอยขนาดเล็ก กระชับรูขุมขน และเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว
- Microneedle patch วัสดุต่างๆ ถูกนำมาใช้ในการผลิตแผ่นไมโครนีดเดิล ในอดีตแผ่นไมโครนีดเดิลถูกผลิตมาจาก สเตนเลส ซิลิคอน เซรามิก และแก้ว ซึ่งวัสดุเหล่านี้มีข้อเสียในเรื่องความเข้ากันได้ทางชีวภาพและการย่อยสลายทางชีวภาพ นำมาสู่การพัฒนาในปัจจุบันให้วัสดุที่ใช้ในการผลิตไมโครนีดเดิลมีความแข็งแรง ต้านทานต่อการแตกหัก มีความเข้ากันทางชีวภาพ และสามารถย่อยสลายได้ ได้แก่ การใช้พอลิเมอร์ เช่น polymethyl methacrylate, polylactic acid, polystyrene สามารถแบ่งประเภทของแผ่นไมโครนีดเดิลเป็น 5 ชนิด มีข้อดีและการใช้งานที่เฉพาะแตกต่างกันไป ได้แก่
- Solid microneedle: ทำจากวัสดุแข็งเช่น สเตนเลสหรือซิลิคอน ออกแบบมาเพื่อเจาะผิวหนัง แต่ไม่สามารถนำส่งยาหรือของเหลวได้
- Hollow microneedle: มีแกนกลางที่เป็นหลอดสามารถนำส่งยา วัคซีน หรือสารสำคัญอื่นๆ โดยตรงสู่ผิวหนัง
- Dissolvable microneedle: ทำจากวัสดุที่สามารถละลายได้เมื่อสัมผัสกับของเหลวในผิวหนัง ได้แก่ น้ำตาล เจลาติน หรือพอลิเมอร์
- Coated microneedle: เคลือบด้วยชั้นของสาระสำคัญที่ใช้รักษา หรือสารเคลือบต่างๆ สามารถทำจากวัสดุหลากหลายชนิด เช่น พอลิเมอร์ โปรตีน
- Hydrogel microneedle: ทำจากเจลที่พองตัวเมื่อสัมผัสกับน้ำในผิวหนัง สามารถนำส่งยา วัคซีน หรือสารสำคัญอื่นๆ เมื่อพองตัว
สารสำคัญทางเครื่องสำอางที่นิยมบรรจุลงในไมโครนีดเดิลเพื่อนำส่งสารบำรุงสู่ผิวหนัง ได้แก่ ascorbic acid, hyaluronic acid, retinoids, glutathione, acetyl hexapeptide-3 (AHP-3), niacinamide, collagen, ส่วนผสมอื่นๆ เช่น horse oil, adenosine, coenzyme Q10, peptide, green tea extract, grape seed extract, vitamin E, quercetin
ประโยชน์ของไมโครนีดเดิลในทางความงาม
- การรักษาหลุมสิว เป็นเทคนิคที่ใช้ในการปรับปรุงแผลเป็นบนผิวหนัง โดยการเพิ่มการผลิตคอลลาเจนและอิลาสตินในชั้นหนังแท้ ช่วยปรับโครงสร้างคอลลาเจนและเพิ่มความหนาแน่นของชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้ นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ในการปรับปรุงลักษณะของแผลเป็นหลังการผ่าตัดอีกด้วย
- การรักษาโรคด่างขาว เทคนิคนี้ช่วยกระตุ้นเซลล์เมลาโนไซต์และกระบวนการสร้างเม็ดสีในผิวโดยการสร้างบาดแผลขนาดเล็กซึ่งนำไปสู่การหลั่ง growth hormone ในชั้น epidermis
- การรักษาผมร่วง เทคนิคนี้ถูกนำมาใช้ในการรักษาผมร่วงแบบกรรมพันธุ์ (androgenic alopecia) และ ผมร่วงเป็นหย่อมๆ (alopecia areata) โดยการใช้ scalp roller ซึ่งเข็มทำมาจากไททาเนียม พบว่าการเจริญเติบโตของเส้นผมจะเริ่มต้นหลังการรักษาประมาณ 8-10 ครั้ง(2) ส่งผลให้เกิดวัฏจักรของผมใหม่และช่วยให้ยารักษาผมร่วงแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดีขึ้น
- การรักษาฝ้า ฝ้าเป็นความผิดปกติที่เกิดจากการมีเม็ดสีผิวที่มากเกินไป มักเกิดในบริเวณที่ได้รับแสงแดดบนใบหน้า เทคนิคไมโครนีดเดิลมีบทบาทในการรักษาฝ้าโดยช่วยทำให้ยาทาเข้าสู่ผิวหนังชั้น epidermis และ dermis ได้ดีขึ้น
- การฟื้นฟูผิว ช่วยในการปรับปรุงริ้วรอย ความหย่อนคล้อยของผิว และสภาพพื้นผิวของผิว มีการศึกษาพบว่าการใช้เทคนิคไมโครนีดเดิลร่วมกับการลอกผิวด้วย 15% trichloroacetic acid (TCA) สามารถเพิ่มความหนาของผิวชั้น epidermis(3) หรือการใช้ร่วมกับพลังงาน radiofrequency (RF) สามารถใช้รักษารอยแผลเป็นจากสิว และฟื้นฟูผิวได้(4) นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี, วิตามินอี และ ferulic acid บนใบหน้าหลังการรักษาด้วย microneedle ร่วมกับ RF เป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาผิวเสียจากแสงแดด(5)
- การรักษามะเร็งผิวหนัง microneedle ถูกนำมารวมกับยาต้านมะเร็งเพื่อรักษามะเร็งผิวหนังชนิด squamous-cell, basal-cell และ melanoma พบว่า microneedle สามารถช่วยเพิ่มการซึมผ่านของยา doxorubicin สู่เนื้อเยื่อมะเร็งประมาณ 2 เท่าของการส่งผ่านแบบปกติ(6)
ความปลอดภัยในการใช้ไมโครนีดเดิล
การใช้ไมโครนีดเดิลอาจมีปัญหาด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งทางผิวหนัง เช่น ปัญหาการระคายเคือง และความรู้สึกเจ็บปวด โดยพบรายงานปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไมโครนีดเดิล ได้แก่ การระคายเคืองผิวหนัง เลือดออกเล็กน้อย รอยช้ำ ความแดง อาการคัน ผื่น หรือการลอกของผิวหนัง ซึ่งอาจเกิดในระยะเวลาสั้น (วัน) หรือยาว (ไม่กี่สัปดาห์) นอกจากนี้อุปกรณ์เหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนัง การระคายเคืองและการแพ้สัมผัส การเกิดสีผิวที่ผิดปกติ และแผลเป็นที่ผิดปกติ ดังนั้นการใช้อุปกรณ์ไมโครนีดเดิลควรได้รับคำปรึกษาและมีการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ ในการใช้เครื่องมือเหล่านี้อย่างปลอดภัยจะมีข้อควรระวัง เช่น การทำความสะอาดและการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ส่วนที่ใช้ซ้ำได้ระหว่างผู้ป่วย ซึ่งการใช้ซ้ำของตลับเข็มอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของการติดเชื้อ จึงต้องมีการกำกับดูแลการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ด้วยกรรมวิธีที่เหมาะสม รวมถึงการดูแลพิเศษหลังการใช้เครื่องมือไมโครนีดเดิลเนื่องจากผิวอาจมีความไวต่อแสงแดดรวมถึงผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มี retinol, glycolic acid หรือ alcohol มากขึ้น จึงควรแนะนำให้ผู้ใช้มีการหลีกเลี่ยงแสงแดดและสารเคมีที่อาจก่อการระคายเคืองดังกล่าว และการเตรียมผิวก่อนการทำไมโครนีดเดิลเป็นสิ่งสำคัญด้วยการทำความสะอาดผิวอย่างเหมาะสม เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกออกจากผิวหนังและลดความเสี่ยงของการนำเชื้อจุลชีพเข้าสู่ผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา
Photo by: Freepik.com