การมีประจำเดือนในช่วงเวลาที่ไม่ต้องการให้มี คงเป็นเรื่องกวนใจสาวๆ หลายคน เช่น บางคนกำลังจะไปเที่ยวทะเลและดำน้ำกับเพื่อนๆ หรือ บางคนวางแผนว่าจะไปเล่นสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์ แต่นึกขึ้นได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นช่วงที่มีประจำเดือนพอดี ประกอบกับปัจจุบัน มีการกล่าวถึงยาเลื่อนประจำเดือนกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์เกี่ยวกับสุขภาพ เป็นต้น หรือจากคำแนะนำของเพื่อน จึงมีแนวโน้มทำให้หลายๆ คนเลือกที่จะพึ่งยาเลื่อนประจำเดือนมากขึ้น ดังนั้น ลองมาทำความรู้จักกับยาเลื่อนประจำเดือนกันดูว่าจริงๆ แล้วทุกคนจะสามารถใช้ยาเลื่อนประจำเดือนนี้ได้ตามความต้องการหรือไม่ และใช้อย่างไร
ยาเลื่อนประจำเดือนที่ใช้กันมากในปัจจุบัน เป็นยาเม็ดที่มีตัวยาสำคัญ คือ นอร์-เอ-ทีส-เตอ-โรน (Norethisterone) ในขนาด 5 มิลลิกรัม ซึ่งชื่อการค้าที่คุ้นเคย คือ ปรี-โม-ลุท-เอ็น (Primolut® N) ยานี้มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน และมีข้อบ่งใช้ในการรักษาความผิดปกติของรอบเดือนหลายชนิด เช่น กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรือเรียกย่อๆ ว่า พี-เอ็ม-เอส (premenstrual syndromes: PMS) ซึ่งมักมีอาการปวดศีรษะหรืออารมณ์หงุดหงิดก่อนมีประจำเดือน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้รักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) และเนื่องจากยามีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน (จนกว่าจะหยุดยา) จึงมีข้อบ่งใช้ในการเลื่อนประจำเดือนด้วย อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาชนิดนี้ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ซึ่งขออธิบายโดยการตอบข้อสงสัยที่รวบรวมจากคำถามตามหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ดังนี้
- ผู้หญิงทุกคน สามารถรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนได้หรือไม่?
ยา นอร์-เอ-ทีส-เตอ-โรน ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน โดยห้ามใช้ยานี้ในคน 5 กลุ่ม ต่อไปนี้- กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากยาอาจทำให้ทารกในครรภ์ที่เป็นเพศหญิงมีการพัฒนาอวัยวะเพศภายนอกคล้ายกับเพศชายได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุครรภ์เดือนครึ่งเป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์กำลังมีการพัฒนาของอวัยวะเพศ
- กำลังให้นมลูกด้วยน้ำนมตัวเอง เนื่องจากยาสามารถปนออกมากับน้ำนมของแม่ จึงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อลูกได้
- มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีประวัติการเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน เนื่องจากการใช้ยาในกลุ่มคนเหล่านี้ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตัน (ตัวอย่างผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ สูบบุหรี่ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น)
- เคยเป็นหรือกำลังเป็นโรคตับขั้นรุนแรง เนื่องจากยาถูกกำจัดที่ตับ หากตับทำงานไม่ดีอาจทำให้ยาสะสมในร่างกายได้ นอกจากนี้ มีรายงานการเกิดตับอักเสบจากการใช้ยานี้
- เคยเป็นหรือกำลังเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งที่อวัยวะเพศ ชนิดที่ไวต่อฮอร์โมน เนื่องจากยาอาจส่งเสริมการโตของเนื้อร้ายเหล่านี้
- เริ่มรับประทานยาเลื่อนประจำเดือน ก่อนประจำเดือนมาแค่ 1 วัน หรือตอนที่กำลังมีประจำเดือนได้หรือไม่?
คำแนะนำในการใช้ยาเลื่อนประจำเดือน คือ ควรเริ่มรับประทานอย่างน้อย 3 วัน ก่อนวันที่คาดว่าจะมีประจำเดือน โดยรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง (เช้าและเย็น) หรือวันละ 3 ครั้ง (เช้า กลางวัน และเย็น) ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยานานเกิน 2 สัปดาห์ และจะมีประจำเดือนภายใน 2-3 วันหลังจากหยุดยา ดังนั้น การรับประทานยาก่อนประจำเดือนมาแค่ 1 วัน หรือตอนที่กำลังมีประจำเดือน ซึ่งเยื่อบุโพรงมดลูกได้หลุดลอกออกมาแล้ว ยาจึงอาจมีผลเพียงช่วยลดปริมาณและจำนวนวันของการมีประจำเดือนให้น้อยลง แต่หลังจากหยุดยา จะทำให้มีประจำเดือนซ้ำอีกในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน - การรับประทานยาเลื่อนประจำเดือน จะส่งผลต่อการมาของประจำเดือนในรอบถัดไปหรือไม่?
แน่นอนว่าการเลื่อนประจำเดือนออกไป เปรียบเสมือนเป็นการตั้งรอบเดือนใหม่ นั่นคือ หากมีประจำเดือนหลังจากหยุดยานี้ในวันไหน ประจำเดือนรอบถัดไปก็จะมาประมาณช่วงนั้น ถ้าไม่มีความผิดปกติอื่นใด - หยุดรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนหลายวันแล้ว แต่ประจำเดือนยังไม่มา ควรทำอย่างไร?
อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้จากยา นอร์-เอ-ทีส-เตอ-โรน คือ อาจทำให้ประจำเดือนไม่มาได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากหยุดใช้ยาเกิน 1 สัปดาห์แล้วประจำเดือนยังไม่มา ควรตรวจการตั้งครรภ์ (ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนใช้ยานี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุมกำเนิดในเดือนนั้นๆ) อีกทั้ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทราบสาเหตุและการรักษาที่เหมาะสม - ระหว่างที่รับประทานยาเลื่อนประจำเดือนอยู่ แล้วมีเพศสัมพันธ์ จะตั้งครรภ์หรือไม่?
เนื่องจากการใช้ยาเลื่อนประจำเดือน จะเริ่มใช้อย่างน้อย 3 วัน ก่อนวันที่คาดว่าจะมีประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงปลายของรอบเดือน (ผ่านช่วงไข่ตกมาแล้ว) โอกาสการตั้งครรภ์จึงอาจพบน้อย อย่างไรก็ตาม มีโอกาสน้อยไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาส ดังนั้น ควรใช้ถุงยางอนามัยในการคุมกำเนิดร่วมด้วย - ไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ แต่รับประทานยาเลื่อนประจำเดือน จะมีผลเสียอย่างไรหรือไม่?
ตามที่ระบุในข้อ 1 ว่ายาอาจมีผลต่อการพัฒนาอวัยวะเพศภายนอกของทารกในครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้พบเหตุการณ์ดังกล่าวในทุกกรณี อีกทั้งยังไม่มีรายงานว่ายาทำให้ทารกพิการด้านอื่นๆ ดังนั้น หากพบว่าตั้งครรภ์ อย่าเพิ่งตกใจ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อติดตามพัฒนาการพร้อมทั้งวางแผนการดูแลทารกในครรภ์อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เช่น ไม่ใช้ยาคุมกำเนิดหรือถุงยางอนามัย เป็นต้น ควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อนที่จะใช้ยาเลื่อนประจำเดือน - รับประทานยาคุมกำเนิดอยู่ แล้วจะใช้ยาเลื่อนประจำเดือนได้หรือไม่?
ในผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดอยู่ หากจำเป็นต้องเลื่อนประจำเดือน สามารถใช้ยาคุมกำเนิดในการเลื่อนประจำเดือนได้ (มีผลทั้งคุมกำเนิดและเลื่อนประจำเดือน) ทั้งนี้ ใช้หลักการเดียวกับยา นอร์-เอ-ทีส-เตอ-โรน คือ ให้รับประทานเฉพาะเม็ดที่ประกอบด้วยตัวยาต่อไป (ไม่ใช่เม็ดยาหลอกที่บางคนเรียกว่าเม็ดแป้ง) เพื่อไม่ให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมา ซึ่งวิธีการใช้ยาขึ้นกับตำรับยาคุมกำเนิดแต่ละชนิด ดังตัวอย่างที่แสดงในตารางด้านล่าง นอกจากนี้ ยังมีตำรับแบบอื่นที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งหากมีข้อสงสัยว่ายาคุมกำเนิดที่ท่านรับประทานอยู่จะสามารถใช้เลื่อนประจำเดือนได้อย่างไร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ - รับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินในช่วงเวลาใกล้ๆกับยาเลื่อนประจำเดือนได้หรือไม่?
เนื่องจากทั้งยาคุมกำเนิดฉุกเฉินและยาเลื่อนประจำเดือน มีตัวยาอยู่ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน ซึ่งเมื่อหยุดยาจะทำให้มีเลือดออกมาเหมือนกัน ดังนั้นการใช้ยาทั้งสองชนิดในเวลาใกล้เคียงกัน เช่น ในเดือนเดียวกัน เป็นต้น นอกจากจะทำให้เสียเลือดบ่อยกว่าคนอื่น ยังมีผลให้รอบเดือนผิดปกติได้ ทั้งนี้ หากมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งและไม่พร้อมตั้งครรภ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง หรือเปลี่ยนมาใช้ยาคุมกำเนิดแบบปกติจะเหมาะสมกว่า (และหากจำเป็นต้องเลื่อนประจำเดือน สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำในข้อ 7) - รับประทานยาเลื่อนประจำเดือนบ่อยๆ จะมีผลเสียหรือไม่?
อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยจากการใช้ยา นอร์-เอ-ทีส-เตอ-โรน คือ ประจำเดือนผิดปกติ เช่น รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมาถี่แต่มาแบบกะปริบกะปรอย หรือบางรายอาจประจำเดือนไม่มาเลย ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ยาเพื่อเลื่อนประจำเดือนบ่อยๆ นอกจากนี้ อาการอื่นที่อาจพบ ได้แก่ ปวดศีรษะ คัดตึงเต้านม คลื่นไส้และเวียนศีรษะ เป็นต้น ส่วนอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงต่างๆ ตามที่ระบุเป็นข้อห้ามใช้ในข้อ 1. อาจพบได้น้อย
โดยสรุปแล้ว การใช้ยาเลื่อนประจำเดือนนั้น ควรพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ (ไม่ใช่เพียงตามความต้องการ) และต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียจากการใช้ยานี้