เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


โรคงูสวัดในผู้สูงอายุ : แนวทางรักษาและการดูแล


ภญ. กชรัตน์ ชีวพฤกษ์ 

ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.clinicbarcelona.org/media/ca...48fb6.webp
อ่านแล้ว 1,643 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 26/08/2567
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

โรคงูสวัดคืออะไร

โรคงูสวัด (Shingles) จัดเป็นโรคติดเชื้อทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง สาเหตุของโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster) หรือ ฮิวแมนเฮอร์ปี่ไวรัส ชนิดที่ 3 (Human Herpes Virus Type 3) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการหายใจหรือการสัมผัสเชื้อโดยตรง เช่น สัมผัสที่ตุ่มน้ำใสหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วยจนทำให้เกิดเป็นโรคอีสุกอีใส เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว ไวรัสชนิดนี้จะไปแฝงตัวซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายได้เป็นเวลาหลายปีโดยไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ จนกระทั่งเมื่อระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำลง เชื้อไวรัสนี้จะถูกกระตุ้น แบ่งตัวและกระจายอยู่ตามเส้นประสาทและก่อให้เกิดโรคงูสวัดได้

อาการของโรคมีอะไรบ้าง

อาการของโรคงูสวัดสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกของโรค (Prodromal Phase) ผู้ป่วยจะเริ่มจากมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนังหรืออาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย หลังจากนั้น 2-3 วันจะเข้าสู่ระยะหลักของโรค (Active Phase) ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส โดยผื่นแดงนี้มักจะขึ้นเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแถวตามแนวเส้นประสาท ในระยะนี้ผิวหนังของผู้ป่วยอาจจะไวต่อการสัมผัส คือจะรู้สึกเจ็บแปลบเหมือนไฟช็อตหรือปวดแสบปวดร้อนแม้เพียงมีการสัมผัสเล็กน้อยหรือแค่สัมผัสโดนเสื้อผ้า ต่อมาตุ่มน้ำใสจะแตกออกเป็นแผลและตกสะเก็ดจนหายได้เองภายในระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ ระยะหลังจากที่ผื่นหาย (Resolution Phase) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลงเหลืออยู่ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปและมากกว่าร้อยละ 70 ในผู้ป่วยอายุ 70 ปีขึ้นไป และระยะเวลาของอาการปวดนี้อาจจะเป็นเดือนหรือเป็นปีขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง

  1. การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง (Secondary Bacterial Infection) เมื่อตุ่มน้ำใสแตกออก หากผู้ป่วยดูแลรักษาความสะอาดของแผลไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อ Staphylococcus aureus ได้
  2. การติดเชื้อที่ตา (Herpes Zoster Ophthalmicus) ภาวะนี้เกิดจากเชื้อที่ซ่อนอยู่ในปมประสาทคู่ที่ 5 ทำให้เกิดอาการตาแดง ตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ และอาจมีอาการปวดตามเส้นประสาทรอบดวงตา หากอักเสบเรื้อรังอาจส่งผลให้การมองเห็นลดลงหรือสูญเสียการมองเห็นได้
  3. การติดเชื้อที่หู (Herpes Zoster Oticus) อาจทำให้เกิดการอักเสบที่หู ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหู วิงเวียนศีรษะ ได้ยินเสียงลดลง ไปจนถึงมีภาวะใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก (Ramsay Hunt Syndrome) เนื่องจากมีการอักเสบของเส้นประสาทกล้ามเนื้อใบหน้าได้
  4. การติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยแต่มีความรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) สมองอักเสบ (Encephalitis) หรือไขสันหลังอักเสบ (Myelitis)
  5. ภาวะแทรกซ้อนของระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคงูสวัดอาจก่อให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือด (Vasculitis) ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้

กลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาโรคงูสวัดมีอะไรบ้าง

แนวทางของการรักษาโรคงูสวัดโดยเฉพาะในผู้สูงอายุมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของอาการ ลดระยะเวลาการเกิดผื่น และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยกลุ่มยาที่นิยมใช้ในการรักษา มีดังนี้

1. ยาต้านไวรัส (antiviral drugs) 

การรับประทานยาต้านไวรัสภายใน 72 ชั่วโมงหลังเริ่มมีผื่นจะได้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด เนื่องจากยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสส่งผลให้ลดการแพร่กระจายเชื้อบนผิวหนังและอวัยวะภายใน ทำให้ลดความรุนแรงของผื่น ลดการเกิดผื่นใหม่ ลดระยะเวลาและความรุนแรงของอาการปวดได้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในรูปแบบของยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง

2. ยาบรรเทาอาการปวด (Analgesics) 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดระดับเบาถึงปานกลางสามารถรับประทานยาพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น Ibuprofen หรือ Naproxen เพื่อบรรเทาอาการปวดได้ หากมีอาการปวดที่รุนแรงอาจใช้ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของ opioids เช่น Tramadol  หรือ Oxycodone ซึ่งขนาดยาที่ใช้จะต้องปรับตามคำแนะนำของแพทย์ที่ทำการรักษา

3. ยาลดอาการปวดตามแนวประสาท (Neuropathic pain relievers)

ยาที่สามารถลดอาการปวดตามเส้นประสาทได้ คือ ยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม Tricyclic antidepressants เช่น Amitriptyline และยากันชัก (Anticonvulsants) เช่น Gabapentin

4. ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

การให้ยาสเตียรอยด์ เช่น prednisolone ร่วมกับการได้รับยาต้านไวรัส พบว่าสามารถช่วยลดอาการปวดจากโรคและความรุนแรงของอาการปวดตามแนวเส้นประสาทได้

การดูแลรักษาแผลตุ่มน้ำจากโรคงูสวัด

ใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อ (0.9%normal saline solution, NSS) ล้างทำความสะอาดแผลหรือใช้ประคบแผล ครั้งละ 10-15 นาที วันละ 2-3 ครั้ง จากนั้นใช้ผ้าก๊อซซับให้แห้งและใช้แผ่นปิดแผลที่ระบายอากาศได้ดี ไม่ทำให้แผลระคายเคือง และช่วยทำให้แผลแห้งไวขึ้น  กรณีที่แผลมีการติดเชื้อแบคทีเรียอาจใช้ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ เช่น mupirocin หรือ fusidic acid ทาแผลก่อนปิดแผลได้

การป้องกันโรคงูสวัด

1.การรักษาสุขภาพทั่วไป

ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ 

2. การหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ

หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ป่วยโรคงูสวัดหรือโรคอีสุกอีใสโดยตรง 

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

  • การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดโอกาสการเกิดโรค โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปและมีประวัติเคยเป็นโรคอีสุกอีใส
  • วัคซีนยังสามารถลดภาวะปวดเรื้อรังหรือลดความเจ็บปวดจากโรคงูสวัดเมื่อผื่นงูสวัดหายไปแล้ว (ในกรณีได้รับวัคซีนแล้วยังเกิดโรคงูสวัด) แต่วัคซีนดังกล่าวไม่สามารถใช้เพื่อการรักษาโรคงูสวัดได้
  • ผู้ที่ต้องการจะฉีดวัคซีนควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับวัคซีน เพราะอาจมีผลข้างเคียงหรืออาการแพ้วัคซีนในผู้ป่วยบางรายได้

บทสรุป

หากผู้สูงอายุมีอาการผิดปกติโดยเฉพาะมีผื่นหรือตุ่มบริเวณผิวหนังร่วมกับอาการปวด ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพราะโรคนี้หากได้รับยาต้านไวรัสเร็วจะสามารถลดความรุนแรงของโรคและความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนลงได้ 

เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้