เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ติดหวาน ทำอย่างไรดี?


อาจารย์ ดร.ภญ.กัลยานี นุ่มโต

ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 6,815 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 04/11/2566
อ่านล่าสุด 34 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระแสรักสุขภาพกำลังเป็นอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์ที่ได้รับความนิยม นอกจากวิธีการควบคุมการรับประทานอาหารในรูปแบบต่าง ๆ และการออกกำลังกาย ยังมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ของผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดที่ต่างปรับตัวเป็นสินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพมากขึ้น อาทิ สูตรหวานน้อย หรือการใช้สารให้ความหวานอื่นแทนน้ำตาล เป็นต้น

ติดหวาน (sugar blues) คืออะไร เราเข้าข่ายติดหวานหรือการเสพติดน้ำตาลหรือไม่ ติดหวานคือร่างกายมีความต้องการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานอยู่เสมอ หากไม่ได้รับประทานจะเกิดความรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ขาดสมาธิและมีความโหยหาของที่มีรสชาติหวาน วิธีสังเกตอาการติดหวานมีดังนี้

1. รู้สึกอยากรับประทานแต่ขนมหวาน ผลไม้รสหวาน หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

2. เมื่อไม่ได้รับประทานอาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของแป้งหรือน้ำตาลจะรู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด 

3. มีอาการหิวบ่อย หรือมักนึกถึงอาหารอยู่เสมอ

4. มีนิสัยรับประทานอาหารหวานต่อจากอาหารคาวเป็นประจำ

5. เติมน้ำตาลเพิ่มในอาหารคาวเกือบทุกจาน

6. ดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน มากกว่า 1 แก้วต่อวัน

แล้วความหวานเป็นอันตรายจริงหรือ 

ความเป็นจริงแล้วหากเราสามารถรับประทานน้ำตาลในระดับที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ความหวานหรือน้ำตาลก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายและยังเป็นสารที่ให้พลังงานกับร่างกาย แต่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกมักรับประทานน้ำตาลเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ควรได้รับ เช่น หญิงวัยทำงานอายุ 25-60 ปี ต้องการพลังงานอยู่ที่ 1600 กิโลแคลอรี/วัน ดังนั้นปริมาณที่บริโภคน้ำตาลไม่ควรเกิน 160 กิโลแคลอรี หรือ 10 ช้อนชา/วัน (ปริมาณน้ำตาล 1 ช้อนชา เท่ากับ 4 กรัม และน้ำตาล 1 กรัมให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี ดังนั้นน้ำตาล 1 ช้อนชา จะให้พลังงานประมาณ 16 กิโลแคลอรี) แต่ในผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ควบควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งลดความเสี่ยงการเกิดโรคจากการบริโภคน้ำตาลที่มากเกิน WHO แนะนำว่าควรบริโภคน้ำตาลให้น้อยกว่า 5% ของพลังงานที่ควรได้รับ หรือประมาณ 5 ช้อนชา/วัน ซึ่งมีความสอดคล้องตามที่กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ คือ ปริมาณน้ำตาลไม่ควรเกิน 24 กรัม/วัน หรือ 6 ช้อนชา/วัน ทั้งนี้หากต้องการลดความเสี่ยงจากโรคทางหัวใจและเมแทบอลิก (cardiometabolic disease) ซึ่งเป็นอันตรายจากผลข้างเคียงที่ตามมาจากการบริโภคน้ำตาล ควรจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลให้น้อยกว่า 1 แก้ว (ประมาณ 200-355 มิลลิลิตร) /สัปดาห์ ด้วย

รู้หรือไม่ว่าเครื่องดื่มต่าง ๆ มีน้ำตาลเท่าไหร่

           หากพิจารณาปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้รับประทานได้ที่ 6 ช้อนชา/วัน หรือไม่เกิน 24 กรัม/วัน อาจดูเหมือนว่าปริมาณดังกล่าวไม่ได้ดูน้อยมากจนเกินไป แต่ทราบหรือไม่ว่าเครื่องดื่มแต่ละชนิดให้น้ำตาลในปริมาณเท่าไหร่ต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์ เริ่มจากชานมไข่มุกซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่นิยมมากในปัจจุบัน โดยเฉลี่ยจะมีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 35-60 กรัม/แก้ว เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาล 34-40 กรัม/กระป๋อง และเครื่องดื่มประเภทน้ำหวาน ชาชง หรือกาแฟต่าง ๆ ที่ระดับความหวานปกติจะมีปริมาณน้ำตาลประมาณ 40-60 กรัม/แก้ว จะเห็นว่าหากรับประทานเครื่องดื่มดังกล่าวแค่วันละ 1 แก้ว โดยไม่ได้ลดความหวานลงปริมาณน้ำตาลก็เกินกว่าที่ควรจะได้รับในแต่ละวันแล้ว ทั้งนี้ยังไม่รวมน้ำตาลที่อยู่ในอาหารประเภทอื่น ๆ  อีก ดังนั้นหากต้องการลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการติดหวานเพื่อสุขภาพดีแบบยั่งยืน 

การปรับพฤติกรรมการติดหวาน

  1. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา โดยให้มีสารอาหารครบถ้วนและสัดส่วนที่เหมาะสม
  2. หลีกเลี่ยงการบริโภคผลไม้แปรรูป หรือเครื่องดื่มแปรรูป เช่น น้ำผลไม้
  3. มีขวดน้ำเปล่าหรือแก้วน้ำที่ชื่นชอบโดยให้บรรจุน้ำเปล่าลงไปแล้ววางไว้ใกล้ตัว และให้จิบน้ำเปล่าบ่อย ๆ 
  4. ค่อย ๆ ปรับความหวานลดลง โดยการสั่งเครื่องดื่มหวานน้อย และงดการปรุงน้ำตาลเพิ่มในอาหารทุกมื้อ
  5. ลดการซื้อของหวานหรือเครื่องดื่มรสหวานกักตุนไว้ที่บ้านหรือที่ทำงาน และเลือกซื้อของว่างที่มีประโยชน์แทน
  6. สังเกตปริมาณน้ำตาล และอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนการเลือกซื้อ 
  7. หากิจกรรมทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจในการอยากความหวาน เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เป็นต้น

Image by fabrikasimf on Freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Huang Y, Chen Z, Chen B, Li J, Yuan X, Li J, et al. Dietary sugar consumption and health: umbrella review. BMJ. 2023;381.
  2. Lee AA, Owyang C. Sugars, sweet taste receptors, and brain responses. Molecular nutrition: Carbohydrates. 2019:265-83.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
สมุนไพรแก้ไอ 3 วินาทีที่แล้ว
7 วินาทีที่แล้ว
ยาไอซ์ (Ice) 9 วินาทีที่แล้ว
อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) 23 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้