เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ฟอร์มาลิน-ฟอร์มัลดีไฮด์


สุรินทร์ อยู่ยง (พนักงานวิทยาศาสตร์) ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: http://slsfree.net/formaldehyde-sodium-l...l-sulfate/
อ่านแล้ว 141,919 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 19/06/2559
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

สารฟอร์มัลดีไฮด์เป็นสารเคมีที่เรานำมาใช้ในงานต่างๆ ทั้งทางด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ เคมี และทางการเกษตร สารเคมีถ้าใช้อย่างถูกวิธีก็เกิดประโยชน์ แต่ถ้าใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็จะเกิดโทษ ดังเช่นมีข่าวการตรวจพบฟอร์มาลีนในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาทิ เนื้อหมู ไก่ ปลา กุ้ง ปลาหมึก ซึ่งผู้ใช้ไม่คำนึงถึงอันตรายของสารที่จะเกิดขึ้น

ภาพจาก:http://www.georgiaspecialtyservices.com/formaldehyde-testing/
สารฟอร์มาลินจะมีประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามนำมาใส่อาหารเพื่อรักษาสภาพอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าว จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่าการใช้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือฟอร์มาลินในอาหารไม่เพียงแต่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ยังมีโทษตามกฎหมายด้วย
ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นสารประกอบอินทรีย์ กลุ่มอัลดีไฮด์ มีสูตรเคมี คือ CH2O หรือ HCHO ฟอร์มัลดีไฮด์ที่ความดันปกติจะมีสถานะเป็นก๊าซ ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ติดไฟได้ ก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์เมื่อรวมตัวกับอากาศ และออกซิเจนสามารถเกิดการระเบิดได้ มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อ
ในทางการค้านิยมใช้อยู่ในรูปของสารละลายสารฟอร์มาลิน (Formalin) คือสารละลายที่ประกอบด้วยก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์ประมาณ 37- 40% ในน้ำและมีการเติมสารละลายเมทานอลประมาณ 10-15 % เพื่อป้องกันการเกิดโพลิเมอร์พาราฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งมีความเป็นพิษสูงกว่า
สารฟอร์มาลิน คนทั่วไปรู้ว่าเป็นน้ำยาดองศพเพื่อไม่ให้ศพเน่าเปื่อย ด้วยคุณสมบัติเด่นข้อนี้ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าแอบนำมาใช้ในทางที่ผิดกับอาหาร เพื่อทำให้อาหารสดและน่ารับประทาน ตามธรรมชาติฟอร์มัลดีไฮด์สามารถเกิดขึ้นเองในอาหารชนิดต่างๆ ซึ่งมีปริมาณน้อยและสลายตัวได้โดยแสงอาทิตย์ ออกซิเจนและความชื้น และร่างกายของคนเราสามารถกำจัดได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย การบริโภคอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินในปริมาณสูงจะเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเฉียบพลัน คือทำให้ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ท้องเสีย อาหารที่พบว่ามีการปนเปื้อนฟอร์มัลดีไฮด์ ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น ไก่ ปลาหมึก กุ้ง ผักต่างๆ เช่น กระหล่ำปี ผักกาดขาว ถั่วงอก เห็ด
พิษของฟอร์มาลินต่อสุขภาพ
พิษแบบเฉียบพลัน ถ้าได้รับสูงเกิน 0.1 ppm ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อตา จมูกและทางเดินหายใจ แต่ถ้าได้รับปริมาณเข้มข้นสูงเกิน 100 ppm อาจทำให้หมดสติ และตายในที่สุด เนื่องจากที่ความเข้มข้นสูงๆ สารฟอร์มาลีนจะเปลี่ยนรูปเป็นกรดฟอร์มิค (Formic acid) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายระบบการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย
อาการเรื้อรังหากได้รับปริมาณน้อยแต่ระยะยาวจะทำให้เกิดผลเสียกับระบบต่างๆ ของร่างกาย หรือก่อให้เกิดมะเร็งได้
้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค
อาหารที่มักพบสารฟอร์มาลินปนเปื้อน ได้แก่อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้ ซึ่งวิธีสังเกตง่ายๆ คือ
ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ก็ไม่ควรซื้อ
ถ้าเป็นอาหารทะเลที่เนื้อแข็งบางส่วน เปื่อยยุ่ยบางส่วน ไม่ควรซื้อ
ถ้าเป็นผัก ผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง เขียว กรอบหรือสดผิดปกติ ให้ดมที่ใบ ผลหรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นแสบจมูกแสดงว่ามีฟอร์มาลินปนเปื้อน
เมื่อซื้ออาหารมาแล้วควรแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิมเจือจาง (ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 – 5 ลิตร) ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ เพราะฟอร์มาลีนทำปฏิกิริยากับด่างทับทิมแล้วได้เกลือฟอร์เมตซึ่งละลายน้ำได้
การกำจัดสารฟอร์มัลดีไฮด์ มลพิษในสิ่งแวดล้อม
ฟอร์มัลดีไฮด์สามารถเกิดขึ้นเองในธรรมชาติ ถ้ามีมากๆจะเกิดเป็นมลพิษในอากาศ ดร.บี ซี วูฟเวอร์ตัน นักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยอวกาศนาซ่าได้ทำวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของไม้ประดับในการกำจัดสารพิษหรือมลพิษในอากาศ ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานไปทั่วโลกในหนังสือชื่อ Eco-Friendly House Plant (ไม้ประดับที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) พบว่าไม้ประดับที่นิยมปลูกกันทั่วไปไม่เพียงแต่ให้ความสวยงาม แต่ยังมีฤทธิ์ช่วยดูดซับสารฟอร์มัลดีไฮด์ แอมโมเนีย ไซลีน ทูลีน รวมทั้งไอเสียที่เกิดจากมนุษย์ได้ดี เช่นสาวน้อยประแป้ง (Dumb Cane) หมากเหลือง (Areca Palm หรือ Yellow Palm) เดหลี (Peace Lily) เยอบีร่า (Gerbera Daisy) วาสนาอธิษฐาน (Cornstalk Plant) ซึ่งเป็นไม้ประดับที่ดูแลง่าย ลำต้นไม่ใหญ่ ใช้เนื้อที่ในการปลูกน้อย สามารถปลูกในกระถางและวางไว้ภายในตัวบ้านได้
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. CARB. Identification of formaldehyde as a toxic air contaminant. Part A. Exposure assessment. Technical support document. Sacramento, CA: Stationary Source Division; 1992. p. 103
  2. สารฟอร์มาลดีไฮด์, http://th.wikipedia.org/wiki
  3. Kiernan, J.A. Formaldehyde, formalin, paraformaldehyde and glutaraldehyde: What they are and what they do. Microscopy Today (2000): 8-12.
  4. Josje H.E. Arts , Monique A.J. Rennen, Cees de Heer, Inhaled formaldehyde: Evaluation of sensory irritation in relation to carcinogenicity, Regulatory Toxicology and Pharmacology 44 (2006) 144–160
  5. http://www.tatgreenheart.com/archives/910


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


เอ็นไซม์ กับผักผลไม้สด 12 วินาทีที่แล้ว
วิตามินซีกับโรคเกาต์ 25 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
การเดินเพื่อสุขภาพ 1 นาทีที่แล้ว
อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้