เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ปวดศีรษะไมเกรนกับการทำสมาธิ


อาจารย์ ดร.ภญ. ชญานิน กีรติไพบูลย์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://kalyanamitra.org/th/images/Moder...111_01.jpg
อ่านแล้ว 7,970 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 16/05/2565
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว
https://tinyurl.com/y6ynmjsr
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y6ynmjsr
 

การทำสมาธิ เป็นการรับรู้หรือการรู้สึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น รับรู้สิ่งที่กำลังทำอยู่ และรับรู้ถึงสภาพแวดล้อม หรือบางคนอาจเรียกว่า การอยู่กับปัจจุบัน การทำสมาธิเป็นหนึ่งในเทคนิคที่ใช้บรรเทาความเครียดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการปวดศีรษะไมเกรน งานวิจัยล่าสุดพบว่าการทำสมาธิช่วยลดความถี่และความรุนแรงของการปวดศีรษะไมเกรนได้1  อย่างไรก็ตามแนวทางหลักในการป้องกันและรักษาการปวดศีรษะไมเกรนในปัจจุบันคือการรับประทานยา และบ่อยครั้งที่บุคลากรสาธารณสุขพบปัญหาจากการใช้ยาในกลุ่มผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรน เช่น อาการข้างเคียงจากยา การปวดศีรษะที่เกิดจากการใช้ยามากเกินความจำเป็น และในผู้ป่วยบางรายไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา เป็นต้น ดังนั้นบทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เผยแพร่ประโยชน์ของการทำสมาธิต่อการบรรเทาอาการการปวดศีรษะไมเกรน 

ภาพจาก : https://www.vejthani.com/wp-content/uploads/2020/03/Migraine-headache-Th.jpg 

ทำไมการทำสมาธิถึงบรรเทาไมเกรนได้

เมื่ออ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจเกิดคำถามว่าการทำสมาธิส่งผลต่อร่างกายเราอย่างไร แล้วทำไมถึงบรรเทาการปวดศีรษะไมเกรนได้ นักวิจัยพบว่าการทำสมาธิมีผลโดยตรงต่อการทำงานของสมอง เนื่องจากการทำสมาธิสามารถยับยั้งการทำงานของสมองในส่วนที่ตอบสนองต่อความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งทั้งความเครียดและความวิตกกังวลเป็นปัจจัยที่กระตุ้นการปวดศีรษะไมเกรน นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่าภาพสแกนสมองของกลุ่มผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนมีปริมาตรของสมองเนื้อสีเทาซึ่งเป็นส่วนของเซลล์ประสาทลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับอาสาสมัครที่ไม่เคยมีประวัติการปวดศีรษะไมเกรน2,3 โดยเฉพาะบริเวณที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ การรับความรู้สึก ความจำ การตัดสินใจ การควบคุมตนเอง และการแก้ปัญหา โดยผลการศึกษายังแสดงให้เห็นอีกว่าปริมาตรสมองเนื้อสีเทาที่ลดลงมีความสัมพันธ์กับความถี่และระยะเวลาของการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนที่เพิ่มขึ้น3 ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสมองสีเทาจึงอาจเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการปวดศีรษะไมเกรน 4 

นอกจากนี้ผลการวิจัยยังแสดงถึงเปลี่ยนแปลงปริมาณสารเคมีภายในสมองของผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรน5 เนื่องจากการที่ปริมาตรของเนื้อสมองสีเทาลดลง ได้แก่ การมีปริมาณ dopamine, melatonin และ serotonin ลดลง แต่มีปริมาณ cortisol และ norepinephrine เพิ่มขึ้น แสดงว่าให้เห็นว่าการทำสมาธินอกจากสามารถเพิ่มปริมาตรของเนื้อสมองส่วนสีเทาแล้วยังช่วยปรับปริมาณสารเคมีในสมองได้6,7,8,9 ผลการวิจัยระบุว่าสารเคมีในสมอง ได้แก่ dopamine, melatonin และ serotonin มีปริมาณเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ที่ฝึกสมาธิ โดย dopamine มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทักษะการเรียนรู้, melatonin เป็นฮอร์โมนที่ควบคุมวงจรการหลับ-ตื่น ส่วน serotonin หรือสารแห่งความสุข ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ให้คงที่ ในทางตรงข้ามการทำสมาธิช่วยลดปริมาณ cortisol และ norepinephrine ซึ่งเป็นสารเคมีที่ตอบสนองต่อความเครียดและความวิตกกังวล 6,7,8,9 ดังนั้นการทำสมาธิจึงปรับทั้งการทำงานและโครงสร้างของสมอง ช่วยบรรเทาการปวดศีรษะไมเกรน อย่างไรก็ตามการศึกษากลไกในระดับโมเลกุลของการทำสมาธิต่อการบรรเทาการปวดศีรษะไมเกรนยังจำเป็นต้องทำการศึกษาต่อไป 

หากพิจารณาเชิงเหตุผลแบบที่ไม่ต้องอาศัยข้อมูลจากงานวิจัย การที่เรามีสมาธิจะทำให้เราอยู่กับปัจจุบัน ลดการใช้ความคิด มีสติ และสามารถพิจารณาว่าสิ่งใดทำให้เกิดความเครียดหรือกังวล 

เมื่อรู้สาเหตุแล้วการแก้ปัญหาย่อมไม่ใช่เรื่องยากนะคะ สุดท้ายนี้ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพกาย และใจที่สดชื่นแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บค่ะ 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Rosenberg K (2021) Mindfulness Meditation has Benefits for Migraine Sufferers. American Journal of Nursing 121: 71.
  2. Kim JH, Suh SI, Seol HY, Oh K, Seo WK, Yu SW, Park KW, Koh SB (2008) Regional grey matter changes in patients with migraine: a voxel-based morphometry study. Cephalalgia 28:598-604.
  3. Schmitz N, dmiraal-Behloul F, Arkink EB, Kruit MC, Schoonman GG, Ferrari MD, van Buchem MA (2008b) Attack frequency and disease duration as indicators for brain damage in migraine. Headache 48:1044-1055.
  4. Jia Z and Yu S (2017) Grey matter alterations in migraine: A systematic review and meta-analysis. NeuroImage: Clinical 14:130-140.
  5. In book: Meditation – Neuroscientific Approaches and Philosophical Implications, Edition: Springer Series: Studies in Neuroscience, Consciousness and Spirituality (Vol. 2 / Edition 2014), Chapter: The Neurobiology of Meditation and Mindfulness, Publisher: Springer International Publishing, Editors: Schmidt S, Walach H, pp.153-173)
  6. Vestergaard-Poulsen P, van BM, Skewes J, Bjarkam CR, Stubberup M, Bertelsen J, Roepstorff A (2009) Long-term meditation is associated with increased gray matter density in the brain stem. Neuroreport 20:170-174
  7. Lazar SW, Kerr CE, Wasserman RH, Gray JR, Greve DN, Treadway MT, McGarvey M, Quinn BT, Dusek JA, Benson H, Rauch SL, Moore CI, Fischl B (2005) Meditation experience is associated with increased cortical thickness. Neuroreport 16:1893-1897.
  8. Grant JA, Courtemanche J, Duerden EG, Duncan GH, Rainville P (2010) Cortical thickness and pain sensitivity in zen meditators. Emotion 10:43-53 Holzel BK, Carmody J, Vangel M, Congleton C, Yerramsetti SM, Gard T, Lazar SW (2011) Mindfulness practice leads to increases in regional brain gray matter density. Psychiatry Research: Neuroimaging 191:36-43.

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ดอกคาโมมายล์ 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้