Loading…

ไขข้อข้องใจ...การตรวจเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี (HIV)

ไขข้อข้องใจ...การตรวจเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี (HIV)

อาจารย์ ดร.ทนพ. เมธี ศรีประพันธ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

250,118 ครั้ง เมื่อ 17 วินาทีที่แล้ว
2019-05-03


ตามที่มีการเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนในสังคมให้ความสนใจรวมถึงมีการตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีด้วยวิธีดังกล่าว อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองหรือ HIV Self Testing (HIVST) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) วางขายในท้องตลาด ถ้าประชาชนต้องการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี จะต้องไปตรวจยังสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีที่มีการใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการนำเสนอประเด็นในแง่มุมที่น่าสนใจสำหรับประชาชนทั่วไปได้แก่ วิธีการตรวจในปัจจุบัน ระยะเวลาในการตรวจ ผู้ที่ควรตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี การแปลผลรวมถึงข้อจำกัดของการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และความสำคัญของการตรวจดังกล่าว 
1. ในปัจจุบันการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีมีกี่แบบ ? 
การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีโดยห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ในปัจจุบันมี 4 แบบที่สำคัญ (ดังแสดงในภาพด้านล่าง) ได้แก่ 

  • 1.1 การตรวจหาแอนติเจนของเชื้อเอชไอวี จะทำการตรวจโปรตีนของเชื้อที่ชื่อว่า p24 (HIV p24 antigen testing) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ตรวจการติดเชื้อในระยะแรกที่ผู้ได้รับเชื้อยังไม่สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV) หรือมีระดับแอนติบอดีที่ต่ำจนไม่สามารถตรวจวัดได้ โดยสามารถตรวจได้ภายหลังการติดเชื้อประมาณ 14-15 วัน (เส้นสีชมพูดังแสดงในภาพ)
  • 1.2 การตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV testing) เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในปัจจุบัน โดยสามารถตรวจพบได้หลังการติดเชื้อประมาณ 3-4 สัปดาห์ (เส้นสีเขียวดังแสดงในภาพ)
  • 1.3 การตรวจโดยใช้ชุดตรวจแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อเอชไอวีและแอนติเจนของเชื้อพร้อมกันในน้ำยาเดียวกัน (HIV Ag/Ab combination assay) หรือเรียกอีกอย่างว่าน้ำยาตรวจแบบ Fourth generation เป็นการตรวจ Anti-HIV และ/หรือ HIV p24 antigen ในคราวเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันน้ำยาประเภทนี้มีการใช้อย่างแพร่หลายเพื่อตรวจคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยสามารถตรวจพบการติดเชื้อได้เร็วที่สุด 14-15 วัน หรือ 2 สัปดาห์หลังติดเชื้อ
  • 1.4 การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวีหรือ nucleic acid test (NAT) เป็นวิธีที่มีความไวมากที่สุด โดยสามารถตรวจการติดเชื้อได้ตั้งแต่ 3-7 วันหลังการติดเชื้อ (เส้นสีน้ำเงินดังแสดงในภาพ) ปัจจุบันวิธีนี้ใช้ในการตรวจคัดกรองเลือดผู้บริจาคโลหิตแต่ยังไม่นำมาใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสถานพยาบาล

2. ขั้นตอนการเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีเป็นอย่างไร ? 
ในการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ต้องการตรวจจะต้องลงนามยินยอมเข้ารับการตรวจโดยสมัครใจ จากนั้นผู้ที่ต้องการตรวจจะได้รับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีรวมถึงรับข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี โดยพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้แก่ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันกับคู่นอนที่ไม่ทราบผลเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน บาดแผลสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งจากผู้ไม่ทราบผลเลือด รวมถึงการถูกละเมิดทางเพศ เป็นต้น จากนั้นผู้ที่เข้ารับการตรวจจะถูกเจาะเลือดเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีทางห้องปฏิบัติการ 
ปัจจุบันการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลต่างๆ ได้ใช้ชุดตรวจที่พัฒนาให้มีความไวมากขึ้นหรือรู้จักกันในชื่อว่าน้ำยา Fourth generation มาใช้เป็นชุดตรวจคัดกรองเบื้องต้น โดยสามารถตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวีและแอนติเจนของเชื้อได้ในเวลาเดียวกัน (HIV Ag/Ab combination immunoassay) ทำให้สามารถตรวจพบการติดเชื้อได้เร็วขึ้นกว่าในสมัยก่อนซึ่งสามารถตรวจได้เร็วที่สุดคือตั้งแต่ 2 สัปดาห์ภายหลังการติดเชื้อ 
3. การตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีใช้เวลานานเท่าใดจึงจะทราบผล ? 
การตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีสามารถทราบผลได้ภายใน 1 วัน โดยผู้ที่รับการตรวจจะทราบผลการตรวจจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ซึ่งผลการตรวจจะถูกเก็บเป็นความลับ นอกจากนี้ผู้ที่รับการตรวจจะได้รับคำอธิบายและคำแนะนำในการป้องกันตัวเองไม่ให้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อรวมถึงข้อมูลอื่นๆ ในการดูแลตัวเองเช่นกัน 
4. บุคคลกลุ่มใดที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีทุกราย ? 
มีข้อแนะนำให้กลุ่มบุคคลต่อไปนี้ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีทุกรายได้แก่

  • 4.1 ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่มีความเสี่ยงโดยไม่ได้ป้องกัน
  • 4.2 ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายทางทวารหนักโดยไม่ได้ป้องกัน
  • 4.3 ผู้ติดสารเสพติดที่ใช้เข็มร่วมกัน
  • 4.4 หญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ที่สถานพยาบาล
  • 4.5 ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี
  • 4.6 ผู้ป่วยวัณโรค
  • 4.7 ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • 4.8 บุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
  • 4.9 ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

5. วิธีการแปลผลการตรวจเลือดเพื่อตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อเอชไอวีเป็นอย่างไร ? 
การแปลผลการตรวจจะอาศัยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการควบคู่กับความเสี่ยงหรือพฤติกรรมของผู้เข้ารับการตรวจก่อนหน้าการตรวจเลือดดังต่อไปนี้

  • 5.1 ถ้าผู้เข้ารับการตรวจไม่มีประวัติเสี่ยงต่อการรับเชื้อและตรวจคัดกรองได้ผลลบ แสดงว่าผู้นั้นไม่ติดเชื้อเอชไอวี
  • 5.2 ถ้าผู้เข้ารับการตรวจมีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อและตรวจด้วยคัดกรองวิธีแรกได้ผล reactive จะต้องทำการตรวจซ้ำด้วยชุดตรวจที่ต่างกันกับชุดตรวจแรกอีก 2 ชุดถ้าให้ผล reactive เหมือนกับชุดแรกจะรายงานว่าผู้เข้ารับการตรวจมีผลเลือดบวก นั่นคือมีการติดเชื้อเอชไอวี
    ในกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจมีผลเลือดบวก จะมีเจ้าหน้าที่นัดมาเจาะเลือดซ้ำเพื่อยืนยันผลอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงมีตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เพิ่มเติมเช่น ปริมาณไวรัสในเลือด ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ลิมโฟไซต์ เพื่อใช้ประเมินและวางแผนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสต่อไป
  • 5.3 ถ้าผลการทดสอบที่เหลือไม่สอดคล้องกับการตรวจครั้งแรก เจ้าหน้าที่จะนัดมาเจาะเลือดตรวจอีกครั้งหนึ่งหลังจากการตรวจครั้งแรก 2 สัปดาห์และติดตามจนครบ 1 เดือนอีกครั้ง โดยในระหว่างนี้ผู้ที่เข้ารับการตรวจจะได้การแนะนำในการดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้รับเชื้อเพิ่มหรือแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ถ้าภายหลัง 1 เดือนตรวจได้ non-reactive แสดงว่าผู้เข้ารับการตรวจไม่ติดเชื้อ แต่ถ้าให้ผลบวกแสดงว่าติดเชื้อ

6. การตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวีในปัจจุบันสามารถให้ผลถูกต้องในผู้เข้ารับการตรวจทุกรายหรือไม่ ? 
สิ่งที่จะต้องคำนึงในการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีคือ อาจมีโอกาสที่ตรวจไม่พบแอนติบอดีในผู้ที่ติดเชื้อมาแล้วเนื่องจากอยู่ในระยะฟักตัวของเชื้อ โดยจะเรียกช่วงนี้ว่า window period ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-3 เดือน ถ้าตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อในระยะเวลาดังกล่าวอาจให้ผลการตรวจเป็น non-reactive ทั้งๆ ที่จริงแล้วผู้ที่มาตรวจอาจติดเชื้ออยู่ก็เป็นได้ เรียกผลการทดสอบนี้ว่าผลลบลวง (false negative) ซึ่งในระยะ window period นี้ผู้ติดเชื้อจะสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ ถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยงโดยไม่มีการป้องกัน ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีในการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลดระยะเวลาของ window period ให้สั้นลง โดยเฉพาะการใช้น้ำยาที่ตรวจได้ทั้งแอนติเจนและแอนติบอดีพร้อมกันในครั้งเดียว (HIV Ag/Ab combination immunoassay) ทำให้สามารถวินิจฉัยการติดเชื้อได้เร็วที่สุดประมาณ 2 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ ซึ่งชุดตรวจนี้มีการใช้อย่างแพร่หลายในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี 
7. ทำไมต้องเข้าตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี ? 
ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีควรรีบเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ เนื่องจากการวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความกังวลใจ นอกจากนี้ถ้าผู้รับการตรวจติดเชื้อเอชไอวี จะทำให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว ได้รับทราบข้อมูลในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รวมถึงเทคนิคในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีและนำไปสู่ผู้ป่วยโรคเอดส์เต็มขั้น 
ในขณะที่ผู้ที่เข้ารับการตรวจที่มีผลเลือดเป็นลบ จะได้รับทราบข้อมูลในการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อในอนาคตต่อไป 
8. ถ้าในอนาคตมีชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองวางจำหน่ายในท้องตลาด ผู้ซื้อมาใช้ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง ? 
ถึงแม้จะมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง และถ้าในอนาคตมีการจำหน่ายชุดทดสอบคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีในท้องตลาดจริง สิ่งที่ผู้ซื้อมาใช้จะต้องคำนึงถึงเสมอคือ ชุดตรวจดังกล่าวเป็นชุดคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้ใช้ยืนยันการติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ผู้ที่ใช้ชุดตรวจด้วยตนเองควรประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วยตนเองตามข้อมูลที่ระบุประกอบการใช้ชุดตรวจดังกล่าว รวมถึงข้อจำกัดของชุดตรวจในกรณีที่อยู่ในช่วง window period ซึ่งอาจทำให้ผลตรวจเป็นผลลบลวง (false negative) ถ้าผลการทดสอบเป็น reactive จะต้องไปทำการตรวจซ้ำเพื่อยืนยันในสถานพยาบาลอีกครั้งหนึ่งจึงจะสามารถสรุปผลการตรวจที่แน่นอนได้ 
9. ถ้าจะตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีสามารถตรวจได้ที่ใด ? 
ปัจจุบันประชาชนทั่วไปสามารถใช้สิทธิในการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้งที่ที่คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย นอกจากนี้ยังสามารถขอรับบริการตรวจคัดกรองการติดเชื้อ HIV และคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยบริการประจำตามสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงสามารถเข้ารับการตรวจได้ที่ห้องปฏิบัติการหรือคลินิกเทคนิคการแพทย์ทั้งของภาครัฐและเอกชนได้เช่นกัน 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Honestdocs. อยากตรวจ HIV ทำอย่างไร. [อินเทอร์เน็ต]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 22 เม.ย. 2562]. เข้าถึงได้จาก: https://www.honestdocs.co/hiv-and-aids/how-to-check-hiv.
  2. ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย. [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 22 เม.ย. 2562]. เข้าถึงได้จาก: https://th.trcarc.org/en.
  3. สภาเทคนิคการแพทย์. คู่มือการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับเทคนิคการแพทย์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: P.S. service; 2560.
  4. สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค. แนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ปี 2560. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด; 2560.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ยาฆ่าเชื้อกับการตั้งครรภ์และให้นมบุตร 1 วินาทีที่แล้ว
“ยาฆ่าเชื้อ” ลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด…หรือไม่? 3 วินาทีที่แล้ว
ท้องผูกจากยา 4 วินาทีที่แล้ว
การล้างไซนัสด้วยตนเอง...ปลอดภัยหรือไม่? 9 วินาทีที่แล้ว
ยากับวัคซีนโควิด-19 : มีผลกระทบต่อกันอย่างไร? 11 วินาทีที่แล้ว
ใบทุเรียนเทศรักษามะเร็งได้ (จริงหรือ?) … ที่นี่มีคำตอบ 25 วินาทีที่แล้ว
ความเครียด และวิธีแก้ความเครียด 27 วินาทีที่แล้ว
การสูบบุหรี่กับผลกระทบต่อการใช้ยา 34 วินาทีที่แล้ว
ไอ ..... ใช้ยาอะไรดี 41 วินาทีที่แล้ว
ไม้ประดับมีพิษ….คิดสักนิดก่อนจะปลูก 48 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา