เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19


รองศาสตราจารย์ ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภก.ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่รวบรวมข้อมูล: 26 เมษายน พ.ศ. 2564
ภาพประกอบจาก: https://media.kasperskydaily.com/wp-cont...atured.jpg
อ่านแล้ว 18,148 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 03/05/2564
อ่านล่าสุด 11 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/yf8f4e2z
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yf8f4e2z
 

วัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรค ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบบมีอาการรุนแรงหรือโอกาสเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ปัจจุบันในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2564) มีวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรเพื่อการฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังต่างๆ ผู้ที่มีภาวะอ้วน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในด่านหน้า จำนวน 2 ชนิดด้วยกัน คือ วัคซีนโคโรนาแวค หรือ ซิโนแวค (CoronaVac หรือ Sinovac COVID-19 vaccine) และวัคซีนป้องกันโควิด-19 แอสตร้าเซเนกา (COVID-19 Vaccine AstraZeneca)1 สำหรับวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่มีทั่วโลกนั้นอยู่ในระหว่างกระบวนการจัดหาโดยกระทรวงสาธารณสุขเพื่อการเข้าถึงวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับการทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

ภาพจาก : https://static.timesofisrael.com/www/uploads/2021/04/F210204CL02.jpg
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีอะไรบ้าง
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยทั่วไปมักไม่รุนแรงและหายเองได้ภายใน 2-3 วัน อาการส่วนใหญ่ที่พบภายหลังการฉีด1 ได้แก่
  • ปวดบริเวณที่ฉีด
  • มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ อาเจียน (น้อยกว่า 5 ครั้ง)
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 25 เมษายน 2564 พบรายงานอาการข้างเคียงข้างต้นหรืออาการอื่นๆ ที่มีความรุนแรงที่ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมโรคทั้งหมด 13 ราย จากการฉีดทั้งหมด 1.15 ล้านโดส และไม่พบการเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากวัคซีนที่ได้รับการรายงาน2 อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมามีรายงานการเกิดผลข้างเคียงทางระบบประสาท เช่น แขน-ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว คล้ายอัมพฤกษ์-อัมพาต หลังจากการฉีดวัคซีน และทำให้เกิดความกังวลใจสำหรับผู้ที่วางแผนหรือกำลังจะได้รับวัคซีนตามที่ลงทะเบียนไว้ ผลข้างเคียงทางระบบประสาทนี้อาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก3-5 ได้แก่
  1. การเกิดหลอดเลือดในสมองอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีน มักเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว 4-30 วัน และมักพบในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 55 ปี นอกจากนี้ยังอาจพบการอุดตันของหลอดเลือดที่ปอด ทางเดินอาหาร หรือขาได้เช่นกัน โดยปัญหานี้มีข้อมูลการรายงานว่าอาจจะสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนกา, และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson)6 อย่างไรก็ตาม อุบัติการการเกิดผลข้างเคียงนี้อยู่ในช่วง 1-8 คนจากทั้งหมด 1 ล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอัตราการเกิดหลอดเลือดอุดตันโดยทั่วไป
  2. การตอบสนองจากความเครียดที่เกิดจากการฉีดวัคซีน หรือ Immunization Stress Related Response (ISRR อ่านว่า ไอ-เอส-อาร์-อาร์) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการหรืออาการแสดงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการฉีดวัคซีนใดๆ (ไม่จำเพาะกับวัคซีนป้องกันโควิด-19) และยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด แต่อาจเป็นผลมาจากความเครียดหรือความวิตกกังวล เช่น ความเครียดจากการถูกฉีดวัคซีน (หรือบางรายอาจจะกลัวเข็มฉีดยา) ความวิตกกังวลต่อผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันแต่อย่างใด อาการของ ISRR ที่พบมีตั้งแต่ ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม ไปจนถึงอาการทางระบบประสาท เช่น ปวด เสียว ชา หรือแปล๊บๆ ตามแขนขา ชารอบปาก พูดไม่ชัด การเคลื่อนไหวผิดปกติชั่วคราว อ่อนเพลีย มึนศีรษะ ตามัว ซึ่งในประเทศไทยพบรายงานอาการในลักษณะนี้ภายหลังการฉีดวัคซีน Sinovac เป็นหลัก แต่ไม่ได้พบในคนทุกรายที่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีหลังจากการได้รับวัคซีน และเกิดเพียงชั่วคราว ส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ใน 3 วัน3
อาการผิดปกติทางระบบประสาททั้งสองสาเหตุแม้จะมีอาการแสดงออกที่คล้ายคลึงกัน และการเกิดอาจจำเพาะกับชนิดวัคซีนที่ได้รับ แต่มีความแตกต่างด้านระยะเวลาในการเกิดปัญหา และการจัดการปัญหา ดังนั้นผู้ที่เข้ารับวัคซีนควรปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลรับการฉีดวัคซีนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมและทันท่วงที
ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงหรือผลกระทบจากผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนและได้รับนัดหมายเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนอาจปฏิบัติตัวในเบื้องต้นดังนี้
  • ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
    - พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อลดความเครียดของร่างกายและจิตใจก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
    - ดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • วันที่เข้ารับการฉีดวัคซีน
    - สวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย ระบายอากาศได้ดี ไม่คับแน่นจนเกินไปจนทำให้ร้อน หรือยากต่อการฉีดวัคซีน
    - แจ้งบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับประวัติโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา อาหาร หรือสารเคมีต่างๆ และหากมีบัตรแพ้ยา ควรพกติดตัวไปด้วย
    - เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนควรพักรอที่สถานพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที เพื่อการติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน แพ้วัคซีน และรับการประเมินจากแพทย์อย่างเหมาะสมได้ทันท่วงที
    - หากมีอาการอ่อนเพลียหรือง่วงหลังจากฉีดวัคซีน ควรหลีกเลี่ยงการขับรถทางไกลหรือใช้เครื่องจักรที่ต้องใช้สมาธิสูง
  • หลังจากการฉีดวัคซีน
    - ในช่วง 30 วันหลังฉีดวัคซีน (ทั้งเข็มที่ 1 และ 2) ควรสำรวจตนเองว่ามีอาการของหลอดเลือดอุดตัน (โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนกา) เช่น ปวดศีรษะรุนแรง แขนขาชา/อ่อนแรง หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ชัก ตามัว เห็นภาพซ้อน เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก ปวดท้องหรือปวดหลังรุนแรง ขาบวมแดง หรือ ซีด เย็น4หากมีอาการดังกล่าวให้รีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อรับการประเมินและจัดการที่เหมาะสม
    - หากผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน เช่น ปวด ไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการชา นั้นแย่ลงหรือไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นภายใน 72 ชั่วโมง ควรมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
    - หากมีอาการปวดบริเวณที่ฉีด อาจรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการได้
สรุป
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ช่วยลดโอกาสในการมีอาการติดเชื้อรุนแรงหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อ และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อลดการระบาดของโรค อีกทั้งผลข้างเคียงโดยทั่วไปมักไม่รุนแรงและหายได้เอง กรณีของผลข้างเคียงที่รุนแรงนั้นพบได้น้อยและบางส่วนสามารถติดตามอาการและจัดการได้หากบุคลากรทางการแพทย์ได้รับข้อมูลอย่างทันท่วงที ตลอดจนเมื่อผู้รับการฉีดวัคซีนทราบวิธีปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ดังนั้น ในภาพรวมจึงอาจพิจารณาว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีประโยชน์มากกว่าผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหรือโอกาสเกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือเสียชีวิตหากมีอาการติดเชื้อ ทั้งนี้การตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนหรือไม่ก็อาจขึ้นกับวิจารณญาณของแต่ละบุคคลต่อข้อมูลที่ได้รับและบริบทของตนเอง
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. กรมควบคุมโรค. แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาด[อินเทอร์เน็ต]. กุมภาพันธ์ 2564 [เข้าถึงเมื่อ 26 เมษายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1729520210301021023.pdf.
  2. กองโรคติดต่อทั่วไป. รายงานความก้าวหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดย คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการให้วัคซีนโควิด 19 ประจำวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564 [อินเทอร์เน็ต]. 25 เมษายน 2564 [เข้าถึงเมื่อ 26 เมษายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1825020210426072355.jpg.
  3. กรมควบคุมโรค. แนวทางการปฏิบัติหลังเกิดอาการทางระบบประสาทภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด 19 [อินเทอร์เน็ต]. 23 เมษายน 2564 [เข้าถึงเมื่อ 26 เมษายา 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor2//files/3.%20%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5.pdf.
  4. สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย. คำแนะนำการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซี [อินเทอร์เน็ต]. 12 เมษายน 2564 [เข้าถึงเมื่อ 26 เมษายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://tsh.or.th/Activity/Detail/275.
  5. World Health Organization. Immunization stress related responses [Internet]. 20 December 2019 [Accessed on 26 April 2021]. Available from: https://www.who.int/publications/i/item/978-92-4-151594-8.
  6. Cines DB, Bussel JB. SARS-CoV-2 vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia. N Engl J Med. 2021. doi: 10.1056/NEJMe2106315.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คำเตือน บทความ/ข้อมูล/สื่อ ในรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผลิตโดยมหาวิทยาลัยมหิดล มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและสังคม โดยไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์หรือประกอบการทำใดๆ อันผิดกฎหมาย หากหน่วยงานใดมีความประสงค์ใช้สื่อทุกรูปแบบของมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อเผยแพร่ในนามของหน่วยงาน ขอให้ติดต่อขออนุญาตมาที่ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ploypann.chi@mahidol.edu , kulwadee.kit@mahidol.edu) หากมีข้อสงสัยประการใดโปรดสอบถามที่โทร. 02 849 6056 - 7

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้