เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาพ่นจมูก…สำหรับโรคจมูกอักเสบ


อาจารย์ ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://wp02-media.cdn.ihealthspot.com/w...initis.jpg
อ่านแล้ว 69,553 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 02/07/2563
อ่านล่าสุด 7 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ผู้อ่านเคยมีอาการแบบนี้บ้างหรือไม่? “รู้สึกหายใจไม่สะดวกโดยเฉพาะเวลาหายใจเข้า จนต้องอ้าปากหายใจ” แถมบางคนได้รับยาขยายหลอดลมมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นชนิดพ่นเข้าทางปากหรือยารับประทาน แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น มิหนำซ้ำยังทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ใจสั่น มือสั่น และนอนไม่หลับ เป็นต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วการใช้ยาไม่ได้ผลอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ใช้ยาไม่ถูกต้องโดยเฉพาะยาพ่น แต่บางครั้งก็เป็นไปได้เช่นกันว่าอาการที่ว่ามานั้นไม่ได้เกิดจากหลอดลมตีบ แต่อาจมีการตีบของโพรงจมูกจากโรคจมูกอักเสบ (rhinitis) ในบทความนี้ เราลองมาทำความรู้จักกับโรคนี้ว่าเป็นอย่างไร และมียาพ่นจมูกชนิดใดบ้างที่ใช้ในการรักษา 
โรคจมูกอักเสบ เกิดจากอะไร 
โรคจมูกอักเสบ เป็นการอักเสบเรื้อรังในโพรงจมูก เนื่องจากเซลล์ภูมิคุ้มกันภายในร่างกายถูกกระตุ้นมากเกินปกติ แล้วเหนี่ยวนำการอักเสบและบวมของเยื่อบุภายในโพรงจมูก ทำให้ช่องทางเดินอากาศตีบแคบจนหายใจไม่สะดวก โดยโรคนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ (1) โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากสารก่อภูมิแพ้บางชนิด เช่น ไรฝุ่น เชื้อรา เศษชิ้นส่วนของแมลงสาป ขนสัตว์ และละอองเกสร เป็นต้น และ (2) โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (non-allergic rhinitis) ซึ่งไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สามารถถูกกระตุ้นด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เช่น อุณภูมิ ความชื้น หรือความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือการได้กลิ่นน้ำหอมแรง ๆ หรือกลิ่นบุหรี่ เป็นต้น 
โรคจมูกอักเสบ มีอาการอย่างไร 
ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบทั้ง 2 ชนิด มีอาการทางจมูกที่คล้ายกัน คือ คัดจมูก หายใจไม่สะดวกเป็นอาการเด่น และมีน้ำมูกใส แต่โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มักมีอาการคันจมูกหรือจามร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการของการแพ้ ทั้งนี้ โรคจมูกอักเสบอาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นนานเรื้อรัง โดยหากอาการรุนแรงอาจรบกวนทั้งการนอน การเรียน หรือการทำงาน 
อาการที่ผู้ป่วยมักแสดงให้เห็น (รูปที่ 1) เช่น หายใจทางปากตลอดเวลาจนบางครั้งริมฝีปากแห้งแตก มักเอามือถูบริเวณจมูก สูดจมูกบ่อย ๆ หรือกระแอมเพื่อขับเสมหะบ่อย ๆ และอาจมีอาการไอแห้ง อีกทั้ง เมื่อสังเกตที่สันจมูกอาจพบรอยเป็นทางขวาง ซึ่งเป็นผลมาจากการขยี้จมูกบ่อย ๆ เป็นเวลานาน และอาจมีรอยแดงหรือคล้ำใต้ตาร่วมด้วย (รูปที่ 1) โดยเมื่อแพทย์ตรวจดูโพรงจมูกจะพบเยื่อบุบวมร่วมกับมีมูกเหนียวใสอยู่ภายใน จนทำให้ช่องทางเดินอากาศตีบแคบ 
 
วิธีการง่าย ๆ ในการตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตนเองว่าอาจมีโพรงจมูกตีบแคบ 
หากมีอาการหายใจไม่สะดวก (และไม่ได้คัดจมูกจากการเป็นหวัด) ประกอบกับมีอาการอื่น ๆ ตามที่กล่าวมา ให้ลองปิดรูจมูกทีละข้างแล้วหายใจเข้า (ห้ามอ้าปาก) โดยหากรูจมูกข้างนั้นมีการตีบแคบจะทำให้หายใจเข้าลำบาก ซึ่งอาจบอกได้เบื้องต้นว่าอาการหายใจไม่สะดวกนั้นเกิดจากความผิดปกติในจมูก (ไม่ใช่หลอดลม) และอาจเกิดจากหลายสาเหตุ จึงควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างเหมาะสมว่าเป็นโรคจมูกอักเสบ หรือโรคในโพรงจมูกชนิดอื่น 
ยาพ่นจมูกที่ใช้รักษาโรคจมูกอักเสบ คือยาอะไร 
เนื่องจากโรคดังกล่าวเกิดในโพรงจมูก ดังนั้น ยาที่มักใช้รักษาจึงเป็นยาพ่น (spray) ซึ่งนำส่งยาเข้าสู่โพรงจมูกโดยตรง ทำให้มีอาการข้างเคียงต่ออวัยวะอื่นน้อยกว่ายารับประทาน โดยยาอันดับแรกที่มักใช้ในการรักษาโรคจมูกอักเสบทั้ง 2 ชนิด (ตารางที่ 1) ได้แก่

  1. ยากลุ่มสเตียรอยด์ 
    เนื่องจากยาสเตียรอยด์มีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ดี จึงส่งผลลดอาการต่าง ๆ ได้ดีที่สุด ทั้งอาการบวมของเยื่อบุโพรงจมูกซึ่งอุดตันทางเดินอากาศ ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น และยังช่วยลดอาการน้ำมูกไหล คัน และจาม โดยยาเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 3-12 ชั่วโมงหลังพ่น (บางรายงานระบุว่ายาเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30 นาทีหลังพ่น) แต่อาการอาจดีขึ้นอย่างชัดเจนใน 1-3 วัน ทั้งนี้ ประการสำคัญ คือ ผู้ป่วยต้องใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่งเพื่อคุมควบอาการของโรค ซึ่งยามีอาการข้างเคียงต่ำมาก เช่น อาจพบอาการระคายเคือง หรือแสบจมูกได้บ้าง จึงมีความปลอดภัยสูงกว่ายารับประทานและยาฉีดโดยเฉพาะเมื่อใช้เป็นเวลานาน
  2. ยาต้านฮิสตามีน หรือที่ชอบเรียกกันว่า “ยาแก้แพ้” 
    ยากลุ่มนี้ช่วยลดอาการแพ้ได้ดี เช่น อาการคัน จาม และน้ำมูกไหล ซึ่งออกฤทธิ์เร็วกว่าสเตียรอยด์ (เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 15 นาที) แต่มีฤทธิ์ลดอาการคัดจมูกได้น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยไม่มียาต้านฮิสตามีนชนิดพ่นจมูกเดี่ยว ๆ แต่มีผสมกับยาสเตียรอยด์หรือยาหดหลอดเลือด ซึ่งอาการข้างเคียงที่อาจพบจากยาต้านฮิสตามีนชนิดพ่นจมูก ได้แก่ รูจมูกแห้ง คอแห้งและรู้สึกขมในคอ เลือดกำเดาไหล และอาจง่วงนอน 

สำหรับยาที่มักใช้เป็นยาเสริม เพื่อช่วยบรรเทาอาการ (ตารางที่ 1) ได้แก่

  1. ยาหดหลอดเลือด หรือเรียกว่า “ยาแก้คัดจมูก” 
    เนื่องจากการอักเสบทำให้หลอดเลือดในโพรงจมูกขยายตัว ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดการบวมของเยื่อบุในโพรงจมูก ดังนั้น ยาหดหลอดเลือดจึงช่วยลดอาการบวมของเยื่อบุ แล้วบรรเทาอาการคัดจมูกทำให้หายใจสะดวกขึ้น โดยยาออกฤทธิ์เร็ว (ภายใน 5-10 นาที) อย่างไรก็ตาม การใช้ยาแก้คัดจมูกชนิดพ่นเป็นเวลานานเสี่ยงต่อการเกิดอาการคัดจมูกได้ใหม่หรืออาจแย่กว่าเดิม จึงไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกิน 3–5 วัน
  2. น้ำเกลือ 
    กลไกการออกฤทธิ์ของน้ำเกลือทั้งชนิดพ่นและสวนล้างจมูกในการช่วยบรรเทาอาการของโรคจมูกอักเสบยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเป็นเพราะน้ำเกลือช่วยขจัดล้างสารต่าง ๆ ที่คั่งค้างอยู่ภายในโพรงจมูก เช่น มูกเหนียว สารก่อภูมิแพ้ สารก่อการอักเสบ เป็นต้น ซึ่งควรใช้น้ำเกลือก่อนที่จะพ่นยาชนิดอื่นตาม ส่วนอาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากน้ำเกลือ เช่น รู้สึกระคายเคืองจมูกเล็กน้อย และบางครั้งอาจรู้สึกคลื่นไส้

ยาพ่นจมูก มีหน้าตาเป็นอย่างไร 
ส่วนใหญ่ภาชนะบรรจุยาพ่นจมูกมักมีลักษณะดังรูปที่ 2 แต่อาจมีรูปทรงอื่นที่กลไกการปลดปล่อยยาคล้ายกัน ทั้งนี้ ขั้นตอนการใช้ยาพ่นจมูกไม่ยุ่งยากซึ่งผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำอย่างเหมาะสมขณะรับยาจากเภสัชกรทุกครั้ง นอกจากนี้ เอกสารกำกับยาที่แนบมาภายในกล่องยายังแสดงวิธีการใช้อย่างละเอียด ซึ่งผู้ป่วยสามารถอ่านเพิ่มเติมด้วยตนเอง 
 
นอกจากยาที่กล่าวมาแล้ว ยังมียาพ่นจมูกอื่น ๆ ที่ใช้เป็นยาอันดับรองในการรักษาโรคจมูกอักเสบ รวมทั้งยารับประทาน เช่น ยาต้านฮิสตามีน ยาแก้คัดจมูกและยาสเตียรอยด์ ที่แพทย์อาจจ่ายให้กับผู้ป่วยบางคน ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ อีกทั้ง รายละเอียดอื่น ๆ เช่น วิธีการตรวจหาสารที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้ เป็นต้น ซึ่งหากผู้ป่วยมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคจมูกอักเสบและยาที่ตนเองได้รับ ควรสอบถามแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือเภสัชกรทุกครั้ง 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Small P, Keith PK, Kim H. Allergic rhinitis. Allergy Asthma Clin Immunol 2018;14:51.
  2. Schuler Iv CF, Montejo JM. Allergic Rhinitis in Children and Adolescents. Pediatr Clin North Am 2019;66:981-93.
  3. Tran NP, Vickery J, Blaiss MS. Management of rhinitis: allergic and non-allergic. Allergy Asthma Immunol Res 2011;3:148-56.
  4. Sur DK, Plesa ML. Treatment of Allergic Rhinitis. Am Fam Physician 2015;92:985-92.
  5. Sur DKC, Plesa ML. Chronic Nonallergic Rhinitis. Am Fam Physician 2018;98:171-6.
  6. Practical aspects of OTC intranasal corticosteroid use: Important educational points to share with patients [Internet]. Pharmacytimes.com. 2015 [cited 18 Jun 2020]. Available from: https://www.pharmacytimes.com/publications/issue/2015/July2015/RD362_July2015


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้