เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


น้ำมะพร้าวอ่อน......เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ


รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: httpwww.youngcoconuts.comimagescoconuts....conuts.jpg
อ่านแล้ว 113,074 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 23/10/2559
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

น้ำมะพร้าวอ่อน เป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่รู้จักของคนไทยและคนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในรัฐฮาวายของประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันน้ำมะพร้าวอ่อนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก จัดเป็นเครื่องดื่มที่เติบโตเร็วที่สุดชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มจากธรรมชาติ รสชาติดี และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ 
น้ำมะพร้าวอ่อนเป็นส่วนของเอ็นโดเสปิร์ม (คือส่วนที่เป็นอาหารสะสมในเมล็ดเพื่อที่จะใช้ในการงอกเป็นต้นใหม่) ที่ได้จากผลมะพร้าวอายุประมาณ 5 เดือน มีค่าแคลอรี่ 17.4 ต่อน้ำมะพร้าว 100 กรัม น้ำมะพร้าวประกอบด้วยน้ำประมาณร้อยละ 94, วิตะมิน บี ต่างๆ เช่น กรดนิโคตินิค (บี 3) (0.64 ไมโครกรัม (มคก) ต่อ มิลลิลิตร (มล)), กรดแพนโททินิค (บี 5) (0.52 มคก/มล), ไบโอติน (0.02 มคก/มล), ไรโบฟลาวิน (บี 2) (ต่ำกว่า 0.01 มคก/มล), กรดโฟลิค (0.003 มคก/มล), และไทอะมิน (บี 1) และ ไพริด็อกซิน (บี 6) ในปริมาณน้อย สารประกอบอื่นๆได้แก่ น้ำตาลชนิดต่างๆ, อัลกอฮอล์ของน้ำตาล, วิตะมินซี, กรดอะมิโนอิสระ, ฮอร์โมนพืช (อ็อกซิน (auxin), 1,3 ไดเฟนิลยูเรีย (1,3 diphenylurea), ไซโตไคนิน (cytokinin)), เอนไซม์ (แอสิดฟอสฟาเตส (acid phosphatase), แคตาเลส (catalase), ดีไฮโดรจีเนส (dehydrogenase), ไดแอสเตส (diastase), เปอร็อกซิเดส (peroxidase), อาร์ เอ็น เอ โพลิเมอเรส (RNA polymerase)), และสารประกอบที่เร่งการเจริญเติบโต (growth promoting factors) 
รายงานการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพของน้ำมะพร้าวอ่อน โดยส่วนใหญ่จะเป็นรายงานการศึกษาในสัตว์ทดลองและบางส่วนเป็นการศึกษาในหลอดทดลอง การศึกษาในคนยังมีน้อย ดังนี้ 
 
ภาพจาก : http://www.allthaifoods.netvegetablesimagecoconutsYOUNG%20COCONUT%20ON%20TREE.jpg 
น้ำมะพร้าวอ่อนช่วยทดแทนฮอร์โมนในหญิงวัยหมดประจำเดือนได้หรือไม่? 
น้ำมะพร้าวอ่อนมีฮอร์โมนที่เรียกว่า กลุ่มฮอร์โมนจากพืช (Phytohormones) ได้แก่ อ็อกซิน (auxin) (150.6 นาโนโมลาร์), กิ๊บเบอร์เรลลินส์ (gibberellins (GAs)) (54.5 นาโนโมลาร์), ไซโตไคนิน (cytokinins) หลายชนิด (186.12 นาโนโมลาร์), และกรดแอ็บไซสิค (abscisic acid (ABA) (65.5 นาโนโมลาร์) จากรายงานของกลุ่มนักวิจัยไทยซึ่งทำการศึกษาในหนูที่ตัดรังไข่ออก (ซึ่งนักวิจัยเปรียบได้กับหญิงวัยหมดประจำเดือน) พบว่ากลุ่มหนูที่ได้รับน้ำมะพร้าวอ่อนในขนาด 100 มิลลิลิตร/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน มีค่าฮอร์โมนเพศหญิงในเลือดไม่ต่างจากกลุ่มที่ได้รับฮอร์โมนเพศหญิง (17 เบต้า-เอสตราไดออล) โดยการฉีดเข้าทางช่องท้องในขนาด 2.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน แสดงว่าน้ำมะพร้าวอ่อนมีแนวโน้มที่ดีที่น่าจะให้ผลเพิ่มระดับฮอร์โมนในเลือดในคนได้ซึ่งจะต้องมีการศึกษาในคนต่อไป แต่กลุ่มที่ได้รับน้ำมะพร้าวอ่อน 100 มล/กก/วัน และมีการฉีดฮอร์โมนเพศหญิงทางช่องท้อง 2.5 มคก/กก/วัน ด้วยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง สารคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในน้ำมะพร้าวอ่อนจะแสดงฤทธิ์แย่งจับกับตัวรับเอสโตรเจน (estrogen receptor) ทำให้หนูกลุ่มนี้มีระดับฮอร์โมนในเลือดต่ำที่สุดในบรรดากลุ่มต่างๆ คงจะต้องติดตามการศึกษาในคนต่อไปว่าการดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนในหญิงวัยหมดประจำเดือนเพียงอย่างเดียวจะให้ผลเพิ่มระดับฮอร์โมนในเลือดเหมือนกับในสัตว์ทดลองหรือไม่ 
น้ำมะพร้าวอ่อนใช้เป็นเครื่องดื่มให้เกลือแร่ทดแทนได้หรือไม่? 
น้ำมะพร้าวอ่อน ประกอบด้วยเกลือแร่ซึ่งเป็นไอออนอนินทรีย์ในปริมาณสูง เช่น โปแตสเซียม (290 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์), โซเดียม (42 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์), แคลเซียม (44 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์), แมกนีเซียม (10 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์), และฟอสฟอรัส (9.2 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) เป็นต้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าน่าจะเป็นเครื่องดื่มที่ให้เกลือแร่ทดแทนได้ดี นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าน้ำมะพร้าวอ่อน (ซึ่งมีปริมาณโปแตสเซียมสูง) มีผลลดความดันโลหิตในการศึกษาในคนด้วย 
น้ำมะพร้าวอ่อนป้องกันโรคหัวใจได้จริงหรือ? 
น้ำมะพร้าวอ่อนมีเกลือแร่ต่างๆในปริมาณสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปแตสเซียม จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่าน้ำมันมะพร้าวอ่อนมีผลป้องกันโรคหัวใจ (cardioprotective) ในการทดลองในหนู (rats) ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction) ทั้งนี้คาดว่าน่าจะมีผลเนื่องมาจากเกลือแร่ต่างๆเหล่านี้โดยเฉพาะโปแตสเซียม นอกจากนี้น้ำมะพร้าวอ่อนยังประกอบด้วยโฟเลต หรือที่เรียกว่า วิตะมิน บี 9 หากมีระดับวิตะมิน บี 6 และโฟเลตในเลือดต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดตีบและโรคหลอดเลือดอื่นๆได้ สำหรับวิตะมิน ซี ในน้ำมะพร้าวอ่อน ก็จะแสดงฤทธิ์เป็นสารต้านออกซิเดชันอีกด้วย ต้องรอการศึกษาในคนในระยะต่อไป 
น้ำมะพร้าวอ่อนชะลอความแก่ได้จริงหรือไม่? 
น้ำมะพร้าวอ่อน มีกลุ่มฮอร์โมนพืชซึ่งเรียกว่า ไซโตไคนิน (cytokinin) ในกลุ่มฮอร์โมนนี้มีฮอร์โมนที่ได้รับการค้นพบเป็นตัวแรก คือ ไคเนติน (kinetin) จากการศึกษาพบว่า ไคเนติน มีฤทธิ์ชะลอความแก่ (anti-ageing effects) ที่แรงเมื่อทดสอบกับเซลล์ผิวหนังของคน และในแมลงหวี่ สารไคเนตินสามารถชะลอกระบวนการที่ทำให้แก่ (ageing process) และยืดอายุขัยของแมลงหวี่ได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากการลดอัตราการตายตามอายุ (age-specific death) ลงตลอดช่วงอายุขัยของแมลงโตเต็มวัย ที่สำคัญ คือ ฤทธิ์ชะลอความแก่ของไคเนติน ไม่ได้ทำให้อายุขัยของเซลล์ยาวนานขึ้นโดยการทำให้เซลล์เพิ่มความสามารถในการแบ่งตัวได้สูงสุด ซึ่งจะต่างจากสารชะลอความแก่อื่นๆที่มีผลเพิ่มความสามารถในการแบ่งตัวดังกล่าวและจะส่งเสริมการเกิดเป็นมะเร็งได้ จากการที่พบว่าไคเนตินไปชะลอการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ไฟโบรบลาสต์ของคน (ซึ่งเป็นเซลที่สร้างคอลลาเจนและอิลาสติน) ในจานเลี้ยงเซลล์ และการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีที่เกี่ยวข้องกับความแก่ของผิวหนังในระดับเซลล์นี้เอง ทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางซึ่งมีไคเนตินเป็นส่วนประกอบ เพื่อใช้ทาผิวหนังที่ถูกทำลายด้วยแสงแดด นอกจากนี้น้ำมะพร้าวอ่อนยังมีสารประกอบ ทรานส์-ซีติน (trans-zeatin) ซึ่งเป็นสารประกอบในกลุ่มไซโตไคนินเช่นกัน สารนี้ก็แสดงฤทธิ์ชะลอความแก่ในเซลล์ไฟโบรบลาสต์ของคนด้วยเช่นกัน ยังคงต้องติดตามการศึกษาในคนต่อไป 
น้ำมะพร้าวอ่อนช่วยชะลอการลุกลามของโรคอัลไซเมอร์ และชะลอการเกิดความจำเสื่อมหรือไม่? 
น้ำมะพร้าวอ่อนประกอบด้วยสารประกอบ ทรานส์-ซีติน ในปริมาณประมาณ 181.93 นาโนโมลาร์ ในรูปแบบต่างๆ สารประกอบนี้อยู่ในกลุ่มของฮอร์โมนพืช คือ กลุ่มไซโตไคนิน (cytokinin) มีรายงานว่าสารประกอบ ทรานส์-ซีติน แสดงคุณสมบัติยังยั้งเอนไซม์อะเซติลโคลีนเอสเตอเรส (acetylcholinesterase) (ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์) และสามารถใช้ในโรคอัลไซเมอร์ หรือความผิดปกติที่เกี่ยวกับระบบประสาท เช่น ความจำเสื่อม (dementia) นอกจากนี้การศึกษาอีกฉบับยังพบว่า ทรานส์-ซีติน สามารถป้องกันการสร้างโปรตีนอะมัยลอยด์-เบต้า (amyloid-β protein) (ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการลุกลามของโรคอัลไซเมอร์เร็วขึ้น) เมื่อทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้สาร ทรานส์-ซีติน ทดสอบกับเซลไฟโบรบลาสต์ของคน พบว่าสารนี้แสดงฤทธิ์ชะลอความแก่ ในอนาคตยังคงจะต้องติดตามการศึกษาในคนเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ผลการยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส และป้องกันการสร้างโปรตีนอะมัยลอยด์-เบต้า เช่นเดียวกัน 
น้ำมะพร้าวอ่อนมีผลลดระดับไขมันได้จริงหรือไม่? 
การศึกษาในหนูขาว (albino rats) เพศผู้ โดยให้น้ำมะพร้าวอ่อน หรือน้ำมะพร้าวแก่ ในขนาด 4 มล/100 กรัม น้ำหนักตัว พบว่า การให้น้ำมะพร้าวสามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของระดับคอเลสเตอรอลในเลือด, คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี คือ ชนิด วี แอล ดี แอล (VLDL cholesterol) และ แอล ดี แอล (LDL cholesterol) และไตรกลีเซอร์ไรด์ (triglyceride) และมีผลเพิ่มระดับ คอเลสเตอรอลชนิดดี คือ ชนิด เอช ดี แอล (HDL cholesterol) ด้วย นอกจากนี้ ระดับไขมันในเนื้อเยื่อของตับ หัวใจ ไต และหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) ก็ลดลงด้วยเช่นกัน พบว่าน้ำมะพร้าวมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มระดับไขมัน และมีผลส่งเสริมการทำงานของเอนไซม์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการลดระดับไขมัน น้ำมะพร้าวมีผลเร่งการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลไปเป็นกรดน้ำดี และเพิ่มการขับถ่ายน้ำดีและนิวทรัลเสตียรอล สำหรับในตับและในหลอดเลือดแดงใหญ่ มีการสะสมของไขมันในเนื้อเยื่อลดลงมาก พบว่าระดับของกรดอะมิโน แอล-อาร์จินีน (L-arginine) ในเลือด, ระดับไนไตรต์ในปัสสาวะ และการทำงานของเอนไซม์ไนตริคออกไซด์ซินเตส (nitric oxide synthase) สูงขึ้น ซึ่งเอนไซม์นี้มีหน้าที่เปลี่ยน แอล อาร์จินีน ให้เป็นไนตริคออกไซด์ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของผนังหลอดเลือดให้อยู่ในสภาวะที่ดี การศึกษาโดยนักวิจัยกลุ่มเดียวกันในระยะต่อมาในหนูเพศผู้ พบว่าน้ำมะพร้าวมีผลลดคอเลสเตอรอลคล้ายคลึงกับยาโลวาสแตติน (lovastatin) ในขนาด 0.1 กรัม/100 กรัมของอาหาร ระยะเวลา 45 วัน 
ส่วนการศึกษาในหนู (rats) เพศเมียที่ตัดรังไข่ออก (ซึ่งอาจเปรียบได้กับหญิงวัยหมดประจำเดือน) พบว่า น้ำมะพร้าวอ่อนในขนาด 100 มล/กก น้ำหนักตัว นาน 4 สัปดาห์ มีผลเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิด เอช ดี แอล ในเลือด แต่ไม่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระดับ คอเลสเตอรอลทั้งหมด, คอเลสเตอรอลชนิด แอล ดี แอล, หรือ ไตรกลีเซอร์ไรด์ 
คาดว่าสารประกอบที่แสดงฤทธิ์ลดไขมันในเลือดน่าจะมาจากสารประกอบหลายกลุ่มด้วยกัน คือ กรดอะมิโนอิสระแอล-อาร์จินีน, วิตะมิน ซี, และเกลือแร่ เช่น แคลเซียม, แมกนีเซียม, และโปแตสเซียม ทั้งนี้คาดว่า แอล-อาร์จินีน จะแสดงบทบาทหลัก เนื่องจากน้ำมะพร้าว 2 ชนิด คือ น้ำมะพร้าวอ่อน (อายุ 6 เดือน) และน้ำมะพร้าวแก่ (อายุ 10 เดือน) มีปริมาณ แอล-อาร์จินีน เท่ากับ 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นตามลำดับ (ซึ่งอาจตีความได้ว่าน้ำมะพร้าวแก่น่าจะมีผลลดระดับไขมันในเลือดได้ดีกว่าน้ำมะพร้าอ่อน) โดยเคยมีรายงานว่า แอล-อาร์จินีน แสดงฤทธิ์ลดระดับไขมันและยับยั้งการตีบของหลอดเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญจากการที่ทำให้มีการผลิตไนตริคออกไซด์เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ผลการลดระดับไขมันก็อาจจะมีผลมาจากกลุ่มไฟโตเสตียรอล เช่น ซิโตเสตียรอล (sitosterol), สติ๊กมาเสตียรอล (stigmasterol), แค็มเปเสตียรอล (campesterol), เบต้า-ซิโตเสตียรอล (β-sitosterol) 
โดยสรุป คือ จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง น้ำมะพร้าวมีผลเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี คือ ชนิด เอช ดี แอล ทั้งในหนูขาวเพศผู้และหนูขาวเพศเมียที่ตัดรังไข่ออก แต่ผลลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีอื่นๆ และไตรกลีเซอร์ไรด์ พบเฉพาะในเพศผู้เท่านั้น ดังนั้น ควรจะต้องติดตามการศึกษาในคนต่อไปว่าจะได้ผลเป็นอย่างไร 
น้ำมะพร้าวอ่อนช่วยให้ผิวหนังมีคุณภาพดีขึ้นจริงหรือ? 
น้ำมะพร้าวอ่อนประกอบด้วยสารประกอบในกลุ่มฮอร์โมนพืชหลายชนิด (ดูในหัวข้อการชะลอความแก่) จากการศึกษาของกลุ่มนักวิจัยไทย พบว่า น้ำมะพร้าวอ่อนในขนาด 100 มล/กก/วัน มีผลเร่งการสมานแผลในหนูที่ตัดรังไข่ออก (ซึ่งอาจเปรียบได้กับหญิงวัยหมดประจำเดือน) นอกจากนี้การศึกษาในระยะต่อมาโดยนักวิจัยกลุ่มเดียวกัน พบว่า น้ำมะพร้าวอ่อนมีผลเพิ่มขนาดของเซลผิวหนังในชั้นหนังกำพร้า (epidermis) อย่างไรก็ดี นักวิจัยไทยให้ความเห็นว่าน้ำมะพร้าวอ่อนในขนาดสูง 100 มล/กก นาน 5 สัปดาห์ มีผลทำให้มีการสะสมของไกลโคเจนในเซลล์ตับในการศึกษาในสัตว์ทดลอง นักวิจัยให้ความเห็นว่าดังนั้นหากหญิงวัยหมดประจำเดือนดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนเป็นระยะเวลานาน ก็อาจจะมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับได้ การศึกษาเมื่อเร็วๆนี้โดยนักวิจัยกลุ่มเดียวกัน ในหนูที่ตัดรังไข่ออก เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ จึงมีการศึกษาในความเข้มข้นที่ลดลง เมื่อส่องกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนดูชั้นของผิวหนัง เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับน้ำมะพร้าวอ่อน และกลุ่มที่มีการฉีดฮอร์โมนเพศหญิง (เอสตราไดออล เบนโซเอท 2.5 มคก/กก น้ำหนักตัว) พบว่าน้ำมะพร้าวอ่อนที่ความเข้มข้น 10, 20 และ 40 มล/กก/วัน สามารถเพิ่มความหนาของชั้นหนังกำพร้า (epidermis) และชั้นหนังแท้ (dermis) เพิ่มจำนวนของขน และสามารถป้องกันการฝ่อของเส้นใยคอลลาเจนได้ โดยพบว่าปริมาณของน้ำมะพร้าวอ่อนที่ 40 มล/กก ให้ประสิทธิผลที่ดีที่สุดในการคงสภาพของผิวหนังในหนูที่ตัดรังไข่ออก คงจะต้องติดตามการศึกษาในคนต่อไป เพื่อที่จะได้ทราบว่าจะได้ผลเช่นเดียวกันหรือไม่ และขนาดของน้ำมะพร้าวที่เหมาะสมสำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือนในการคงสภาพของผิวหนังที่ดี ควรจะเป็นปริมาณเท่าใด 
น้ำมะพร้าวอ่อนเพิ่มมวลกระดูกได้จริงหรือไม่? 
ในชายสูงอายุ ฮอร์โมนแอนโดรเจนมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการสูญเสียกระดูกและภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้มวลกระดูกยังเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากกว่าฮอร์โมนเทสทอสเสตอโรน จึงมีคำแนะนำการให้เอสโตรเจนเสริมเพื่อป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกทั้งในชายและหญิง แต่การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริมในรูปของยามีความเสี่ยงในการเกิดต่อมลูกหมากโต และมะเร็งต่อมลูกหมากได้ จากการศึกษาในหนู (Wistar rats) เพศผู้ โดยนักวิจัยไทย พบว่าการให้น้ำมะพร้าวอ่อนในขนาด 100 มล/กก น้ำหนักตัว นาน 14 วัน มีผลเพิ่มความหนาของกระดูกอ่อนขากรรไกรล่าง (mandibular condylar cartilage) ในกลุ่มหนูที่ไม่ได้ตัดอัณฑะออก การศึกษาโดยนักวิจัยกลุ่มเดียวกันในระยะต่อมาในลักษณะเดียวกัน พบว่าการให้น้ำมะพร้าวอ่อนในขนาด 100 มล/กก นาน 14 วัน มีผลเพิ่มความหนาของกระดูกฟองน้ำของขากรรไกรล่าง (mandibular cancellous bone) ในกลุ่มหนูที่ไม่ได้ตัดอัณฑะออก และ กลุ่มหนูที่ตัดอัณฑะออก คงต้องติดตามการศึกษาในคนต่อไป คาดว่าน้ำมะพร้าวอ่อนน่าจะมีประโยชน์ในการชะลอภาวะกระดูกพรุนในชายวัยหมดฮอร์โมน 
ในสัตว์ทดลองเพศเมีย เมื่อให้น้ำมะพร้าวอ่อน ในขนาด 10 มล/กก น้ำหนักตัว ในหนูที่ตัดรังไข่ออก ระยะเวลานาน 6 สัปดาห์ พบว่าความหนาแน่นของมวลกระดูกของกระดูกต้นขาซ้าย มีค่าสูงกว่ากลุ่มอื่น และอัตราการสร้างกระดูกก็สูงกว่ากลุ่มอื่นด้วย แสดงว่าการให้น้ำมะพร้าวอ่อนเสริม มีผลดีต่อกระดูกและอาจเป็นประโยชน์ในการชะลอการสูญเสียกระดูกในหญิงวัยหมดประจำเดือนเช่นกัน 
การดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนนานๆแล้วจะมีผลเสียต่อตับและไตหรือไม่? 
เนื่องจากน้ำมะพร้าวอ่อนประกอบด้วยน้ำตาลในปริมาณสูง คือ กลูโคสร้อยละ 45 และฟรุคโตสร้อยละ 44 หากมีการรับประทานน้ำตาลมากเกินไป น้ำตาลจะถูกเปลี่ยนและสะสมในรูปของไกลโคเจนในตับ อย่างไรก็ดี จากการศึกษาในสัตว์ทดลองโดยกลุ่มนักวิจัยไทย พบว่า การศึกษาบางฉบับมีรายงานถึงไกลโคเจนสะสมในเซลล์ตับของหนูเพศเมียที่ตัดรังไข่และได้รับน้ำมะพร้าวในขนาด 100 มล/กก แต่จำนวนของเซลล์ตับที่มีการสะสมของไกลโคเจนก็ไม่ได้แตกต่างกับในกลุ่มอื่นๆ สำหรับการศึกษาอื่นๆในหนูที่ตัดรังไข่ออกในระยะต่อมา (14 วัน) พบว่าจากการส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ น้ำมะพร้าวอ่อน (100 มล/กก/วัน)ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของเนื้อเยื่อของตับและไต ส่วนจำนวนเซลล์ตับที่มีไกลโคเจนสะสมไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มอื่นที่ระยะเดียวกัน สำหรับค่าทางชีวเคมีของเลือด พบว่า กลุ่มหนูที่ตัดรังไข่ออกและได้รับน้ำมะพร้าวอ่อน มีค่าที่บ่งชี้ถึงการทำงานของตับและไตของกลุ่มหนูที่ตัดรังไข่ออกและได้รับน้ำมะพร้าว ไม่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ ในการศึกษาอีกฉบับ ในหนูขาวเพศผู้ น้ำมะพร้าวมีผลทำให้มีการสะสมของไขมันที่ตับลดน้อยลงนอกจากนี้การทำงานของเอนไซม์ตับก็ลดลงด้วย โดยสรุป คือ ยิ่งให้น้ำมะพร้าวอ่อนนานเพิ่มขึ้นเพียงใด จะยิ่งมีการสะสมของไกลโคเจนที่เซลล์ตับต่ำลงเท่านั้น ยังคงต้องติดตามผลการศึกษาในคนต่อไปว่าการดื่มน้ำมะพร้าวในระยะยาวจะมีผลต่อการทำงานของตับและไตหรือไม่ 
โดยสรุป น้ำมะพร้าวเป็นเครื่องดื่มที่มีมาช้านานแล้ว การศึกษาในสัตว์ทดลองและในหลอดทดลองแสดงให้เห็นว่าน้ำมะพร้าวน่าจะมีแนวโน้มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างไรก็ดี การศึกษาในคนยังมีอยู่น้อยมาก คาดหวังว่าในระยะต่อไปน่าจะมีการศึกษาในคนมากขึ้นเพื่อยืนยันผลการศึกษาในสัตว์ทดลอง และกำหนดขนาดที่เหมาะสมของการดื่มน้ำมะพร้าวในแต่ละวันด้วย 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Bueraheng N, Suwaluck S, Radenahmad N. Effects of young coconut juice on increasing skin thickness, collagen size and number of hair follicle in ovariectomized rats. The National and International Graduate Research Conference 2016: 742-50.
  2. DebMandal M, Mandal S. Coconut (Cocos nucifera L.: Areaceae): In health promotion and disease prevention. Asian Pacific J Trop Med 2011: 241-7.
  3. Effiong GS, Ebong PE, Eyong EU, Uwah AJ, Ekong UE. Amelioration of chloramphenicol induced toxicity in rats by coconut water. J Appl Sc Res 2010; 6(4): 331-5.
  4. Lima EB, Sousa CN. Cocos nucifera (L.) (Areaceae): A phytochemical and pharmacological review. Braz J Med Biol Res 2015; 48(11): 953-64.
  5. Loki AL, Rajamohan T. Hepatoprotective and antioxidant effect of tender coconut water on CCl4, induced liver injury in rats. Indian J Biochem Biophy 2003; 40: 354-7.
  6. McCullough JL, Weinstein GD. Clinical study of safety and efficacy of using topical kinetin 0.1% (Kinerase R) to treat photodamaged skin. Cosmetic Dermatol 2002; 15: 29-32.
  7. Minorsky PV. The hot and the classic. Kinetin: The elixir of life? Plant Physiol 2003; 132: 1135-6.
  8. Morii Y, Matsushita H, Minami A, Kanazawa H, Suzuki T, Subhadhirasakul S, Watanabe K, Wakatsuki A. Young coconut juice supplementation results in greater bone mass and bone formation indices in overiectomized rats: a preliminary study. Phytother Res 2015; 29: 1950-5.
  9. Radenahmad N, Sawangjaroen K, Mitranun W, Sayoh I. Beneficial effects of young coconut juice feeding on the lipid, renal and liver profiles, in ovariectomized rats: Preliminary novel findings. Songklanakarin J Sci Technol 2016; 38(1): 57-65.
  10. Radenahmad N, Vongvatcharanon U, Withyachumnarnkul B, Connor JR. Serum levels of 17β-estradiol in ovariectomized rats fed young-coconut-juice and its effect on wound healing. Songklanakarin J Sci Technol 2006; 28(5): 897-910.
  11. Rattan SIS. Method and composition for ameliorating the adverse effects of aging. US Pat. 5371089, 1994.
  12. Rattan SIS, Clark BFC. Kinetin delays the onset of ageing characteristics in human fibroblasts. Biochem Biophys Res Commun 1994; 201: 665-72.
  13. Sandhya N, Rajamohan T. Beneficial effects of coconut water feeding on lipid metabolism inn cholesterol-fed rats. J Medicinal Food 2006; 9(3): 400-7.
  14. Sandhya VG, Rajamohan T. Comparative evaluation of the hypolipidemic effects of coconut water and lovastatin in rats fed fat-cholesterol enriched diet. Food Chem Toxicol 2008; 46(12): 3586-92.
  15. Sharma SP, Kaur P, Rattan SIS. Plant growth hormone kinetin delays aging, prolongs the life span and slows down development of the fruitfly Zapronius paravittiger. Biochem Biophys Res Commun 1995; 216: 1067-71.
  16. Sharma SP, Kaur J, Rattan SIS. Increased longevity of kinetin-fed Zapronius fruitflies is accompanied by their reduced fecundity and enhanced catalase activity. Biochem Mol Biol Int 1997; 41: 869-75.
  17. Suwanpal P, Radenahmad N, Yusuh M, Eksontramate M, Ruangsri P, Chantanasuksilpa A. Effects of young-coconut juice on increasing mandibular cancellous bone in orchidectomized rats: Preliminary novel findings. Songklanakarin J Sci Technol 2011; 33(6): 617-23.
  18. Yong WJWH, Ce L, Ng YF, Tan SN. The chemical composition and biological properties of coconut (Cocos nucifera L.) Molecules 2009: 14: 5144-64.
  19. Yusuh M, Phochanukoon N, Radenahmad N, Eksomtramate M, Ruangsri P, Chatanasuksilpa A, Nitiruangjaras A. Changes of condyle cartilage on orchidectomized rats fed with young coconut juice: Novel preliminary finding. Songklanakarin J Sci Technol 2010; 32(4): 33-9.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ท้องผูกจากยา 2 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้