กาแฟ…ระวังในโรคใด?
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
|
116,545 ครั้ง เมื่อ 2 ช.ม.ที่แล้ว | |
2020-04-02 |
กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่บริโภคกันแพร่หลาย ในกาแฟมีสารสำคัญหลายอย่างทั้งชนิดที่ให้ผลดีและชนิดที่ให้ผลเสียต่อร่างกาย สารสำคัญที่รู้จักกันดีคือคาเฟอีน ทำให้สมองตื่นตัวและรู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่ทำให้บางคนนอนไม่หลับ ใจสั่นและความดันโลหิตเพิ่มชั่วขณะ นอกจากนี้ในกาแฟยังมีสารที่ส่งผลรบกวนระดับไขมันในเลือด ด้วยเหตุนี้การดื่มกาแฟโดยเฉพาะในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่เป็นโรคบางอย่าง อย่างไรก็ตามในกาแฟมีสารประเภทแอนติออกซิแดนต์ (antioxidants) ซึ่งช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระ จึงอาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางอย่าง ในบทความนี้นอกเหนือจากการให้ข้อมูลถึงข้อควรระวังในการบริโภคกาแฟที่อาจส่งผลกระทบต่อโรคบางอย่างแล้ว ยังให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสารสำคัญในกาแฟ การแสดงฤทธิ์ของสารสำคัญต่อร่างกาย และผลต่อสุขภาพ
กาแฟมีสารใดบ้าง?
ในกาแฟมีสารหลายอย่างมากกว่า 1,000 ชนิด ตัวอย่างสารสำคัญ เช่น คาเฟอีน (caffeine) มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง; สารกลุ่มไดเทอร์พีน (diterpenes) เช่น คาเฟสทอล (cafestol) คาเวออล (kahweol) เพิ่มโคเลสเตอรอล (และไตรกลีเซอไรด์) ในเลือด; สารกลุ่มแอนติออกซิแดนต์ ซึ่งมีหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenols) เช่น กรดคลอโรจินิก (chlorogenic acid) กรดคาเฟอิก (caffeic acid), กลุ่มเมลานอยด์ (melanoids), กลุ่มควิไนด์ (quinides), กลุ่มลิกแนน (lignans) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีทริโกเนลลีน (trigonelline) และแมกนีเซียมซึ่งเป็นแอนติออกซิแดนต์ด้วย แอนติออกซิแดนต์เหล่านี้ช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระ ปริมาณสารต่าง ๆ ในเมล็ดกาแฟ อาจมีมากหรือน้อยขึ้นกับชนิด แหล่งที่มา และระยะเวลาในการคั่ว การกรองกาแฟก่อนดื่มจะลดปริมาณคาเฟสทอลและคาเวออล ส่วนกาแฟผงสำเร็จรูปไม่พบคาเฟสทอลและคาเวออล กาแฟที่ผ่านการกรองและกาแฟผงสำเร็จรูปอาจมีปริมาณสารอื่นลดลงด้วย
กาแฟมีคาเฟอีนมากน้อยเพียงใด?
ในเครื่องดื่มกาแฟ 1 แก้วมีปริมาณคาเฟอีนมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของผงกาแฟที่ใช้ รูปแบบการชงและความนิยมในการบริโภค โดยทั่วไปในปริมาตร 1 แก้ว (ขนาด 240-250 มิลลิลิตร) มีคาเฟอีน 60-200 มิลลิกรัม กาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออก (decaffeinated coffee) ยังคงมีคาเฟอีนเหลืออยู่เล็กน้อย โดยในเครื่องดื่ม 1 แก้วอาจมีปริมาณคาเฟอีนราว 3 มิลลิกรัม
สารสำคัญในกาแฟมีผลต่อร่างกายอย่างไร?
ในกาแฟมีสารสำคัญมากมายซึ่งแสดงฤทธิ์แตกต่างกันไป ส่งผลต่อร่างกายหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น
กาแฟกับสุขภาพ
ในกาแฟมีสารสำคัญหลายอย่างที่ให้ผลต่อร่างกายแตกต่างกันดังกล่าวข้างต้น การดื่มกาแฟมีทั้งให้ผลดีและผลเสียต่อร่างกาย (ดูรูป) ในด้านผลดีนั้นคาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองให้ตื่นตัวและรู้สึกกระปรี้กระเปร่า จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นอกจากนี้ในกาแฟมีสารพวกแอนติออกซิแดนต์หลายอย่าง สารเหล่านี้ลดการเกิดอนุมูลอิสระ จึงลดปฏิกิริยาการอักเสบ ลดการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และช่วยให้กระบวนการใช้กลูโคสและไขมันเกิดได้ดี ผลการศึกษาด้านระบาดวิทยา (epidemiological study) หลายการศึกษาพบว่า ในผู้ที่มีสุขภาพดีทั่วไปการดื่มกาแฟปริมาณปานกลางซึ่งมีคาเฟอีนประมาณ 200 มิลลิกรัมต่อครั้งและรวมทั้งวันประมาณ 400 มิลลิกรัม (ปริมาณวันละ 3-4 แก้ว) ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงได้เล็กน้อยต่อการเกิดโรคบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง (ยกเว้นในผู้ที่สูบบุหรี่) โรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง) โรคเบาหวาน โรคความจำบกพร่องรวมถึงโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และยังทำให้อัตราการตายจากสาเหตุโดยรวมลดลง อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวนำมาจากหลากหลายการศึกษาและส่วนใหญ่เป็นการศึกษาด้านระบาดวิทยา ซึ่งผลการศึกษาอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยกวนบางอย่าง เช่น กิจวัตรในการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบที่มีการควบคุมปัจจัยกวนต่าง ๆ อย่างดีพอและน่าเชื่อถือ
ในด้านผลเสียนั้นกาแฟเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เป็นผลมาจากคาเฟอีนและสารกลุ่มไดเทอร์พีน ซึ่งคาเฟอีนเพิ่มการทำงานของหัวใจและทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้ ส่วนสารกลุ่มไดเทอร์พีนรบกวนระดับไขมันในเลือด การดื่มกาแฟปริมาณมากในคราวเดียว อาจทำให้เกิดใจสั่น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นชั่วขณะ กระสับกระส่าย และนอนไม่หลับ คาเฟอีนยังต้านฤทธิ์อินซูลินได้จึงอาจรบกวนการคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน (ในขณะที่สารกลุ่มแอนติออกซิแดนต์ในกาแฟให้ผลดีต่อการคุมระดับน้ำตาลในเลือด) นอกจากนี้การที่คาเฟอีนเพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ ผู้หญิงที่ดื่มกาแฟปริมาณมากเป็นประจำอาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลงเล็กน้อยโดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ผู้หญิงมีครรภ์ที่ดื่มกาแฟปริมาณมากตลอดช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือคลอดก่อนกำหนด อย่างไรก็ตามในคนที่มีสุขภาพดีโดยทั่วไปการดื่มกาแฟในชีวิตประจำวันไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย การดื่มกาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออกทำให้ได้รับผลเสียเกิดจากคาเฟอีนลดลง ส่วนการกรองกาแฟหรือการดื่มกาแฟผงสำเร็จรูปทำให้ลดผลกระทบจากสารที่เพิ่มโคเลสเตอรอล แต่อาจทำให้สารพวกแอนติออกซิแดนต์ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระลดลงด้วย นอกจากนี้หากจะดื่มกาแฟควรหลีกเลี่ยงการใส่น้ำตาลและครีม กาแฟ..ระวังในโรคใด?
แม้ว่าผลการศึกษาด้านระบาดวิทยาที่ผ่านมาจะพบว่า การบริโภคกาแฟในคนสุขภาพดีทั่วไปไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งการบริโภคในปริมาณปานกลางอาจช่วยลดความเสี่ยงได้เล็กน้อยต่อโรคบางอย่าง อย่างไรก็ตามผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าวข้างล่างนี้ ควรระมัดระวังการบริโภคกาแฟ เพราะอาจได้รับผลกระทบจากฤทธิ์ของคาเฟอีนและสารกลุ่มไดเทอร์พีนในกาแฟได้
สำหรับผู้หญิงมีครรภ์หากดื่มกาแฟปริมาณมากตลอดช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือคลอดก่อนกำหนด บางการศึกษายังกล่าวถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ส่วนผู้หญิงที่ให้นมบุตรหากดื่มกาแฟจะมีคาเฟอีนถูกขับออกทางน้ำนมได้ ซึ่งแม้ว่าคาเฟอีนในน้ำนมไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อทารกแต่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมบางอย่างของทารกอันเกิดจากฤทธิ์คาเฟอีนที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เช่น นอนน้อยลง ตื่นง่าย กระสับกระส่าย งอแง อยู่ไม่สุข ดูดนมได้ไม่ดี (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง คาเฟอีนในน้ำนมแม่...มีผลอย่างไรต่อทารก?)
![]() |
ใบขลู่: คุณค่าทางโภชนาการ ฤทธิ์ทางชีวภาพและความเป็นพิษ 2 วินาทีที่แล้ว |
![]() |
ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างไร ครอบคลุม คุ้มครอง คุ้มค่า? 6 วินาทีที่แล้ว |
![]() |
อันตรายจากการบริโภควิตามินมากเกิน 7 วินาทีที่แล้ว |
![]() |
ยาแก้ข้ออักเสบ (กลุ่มเอ็นเสด)..ระวังอันตรายต่อไต 15 วินาทีที่แล้ว |
![]() |
เลือดจาง โลหิตจาง กับยาฉีดอีพีโอ (EPO) 16 วินาทีที่แล้ว |
![]() |
ทำความรู้จักกับอินูลิน (Inulin) และประโยชน์ของอินูลินต่อสุขภาพ 19 วินาทีที่แล้ว |
![]() |
ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 26 วินาทีที่แล้ว |
![]() |
ยาต้านเกล็ดเลือด รู้ไว้...ปลอดภัยเมื่อใช้ยา 47 วินาทีที่แล้ว |
![]() |
กลูโคซามีนซัลเฟต (glucosamine sulphate) กับโรคข้อเสื่อม (osteoarthristis) 49 วินาทีที่แล้ว |
![]() |
ปัสสาวะเปลี่ยนสีหลังกินยา 1 นาทีที่แล้ว |
![]() ![]() |
|
ที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานภายในคณะฯ
HTML5 Bootstrap Font Awesome