เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


โรครองช้ำ


อาจารย์ ดร.กภ.ยิ่งรัก บุญดำ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: https://25ps4s470u1w12pt82hnh2yi-wpengin...0x1024.jpg
อ่านแล้ว 161,458 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 26/06/2562
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/ybrfqhkc
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/ybrfqhkc
 

หากใครเคยมีอาการปวดเสียวแปล๊บๆ บริเวณส้นเท้าขณะที่เริ่มเดินหลังจากตื่นนอนในตอนเช้า ......ใช่แล้วค่ะนั่นคืออาการของโรครองช้ำตามภาษาชาวบ้านหรือโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบนั่นเอง บทความนี้ผู้เขียนจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับอาการของโรครองช้ำและวิธีการรักษากันค่ะ
พังผืดใต้ฝ่าเท้าหรือ plantar fascia คืออะไรและอยู่ตรงไหน ???
พังผืดใต้ฝ่าเท้า (Plantar fascia) มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม โดยยอดของสามเหลี่ยมจะยึดติดกับกระดูกส้นเท้า (calcaneus) ส่วนฐานของสามเหลี่ยมจะแยกออกเป็น 5 แฉก ไปยึดติดกับนิ้วเท้าทั้งห้านิ้ว โดยพังผืดใต้ฝ่าเท้าจะมีความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร ทำหน้าที่ในการรองรับแรงกระแทกบริเวณฝ่าเท้า (shock absorption) รองรับอุ้งเท้าในแนวตามยาว (longitudinal arch) รองรับน้ำหนักตัว ช่วยพยุงโครงสร้างเท้าให้เหมาะสมในช่วงระยะ toe-off ของการเดิน (เป็นจังหวะที่นิ้วเท้าดันให้ขาไปข้างหน้าก่อนที่จะยกขาขึ้นเพื่อก้าวต่อ คล้ายๆ กับการเขย่งเท้า) และยังทำหน้าที่ปกป้องโครงสร้างที่อยู่ลึกต่อจากพังผืด นอกจากนี้บริเวณพังผืดยังมีเส้นประสาททอดผ่าน (medial calcaneal nerve) ทำให้สามารถรับรู้ความรู้สึกและความเจ็บปวดได้

โรครองช้ำหรือ plantar fasciitis คืออะไร ???
โรครองช้ำคืออาการอักเสบที่เกิดขึ้นกับพังผืดใต้ฝ่าเท้านั่นเอง โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดบริเวณส้นเท้าด้านในหรือตามแนวแถบของพังผืดในตอนเช้า อาการปวดจะมีลักษณะแปล๊บๆ เหมือนมีอะไรมาแทงบริเวณส้นเท้า หรือปวดแบบโดนของร้อน ทำให้เวลาที่วางส้นเท้าลงกับพื้นอาจมีอาการสะดุ้ง อาการปวดจะค่อยๆ เบาลงเมื่อเดินไปได้ 2-3 ก้าว และสามารถกลับมาปวดมากเหมือนเดิมได้ใหม่ หากยืนเป็นระยะเวลานานหรือลุกขึ้นจากการนั่งพักนานๆ และถ้าผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนท่าเดินเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดบริเวณส้นเท้า อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณส่วนอื่นของร่างกายร่วมด้วยได้ เช่น เข่า สะโพก และหลัง การกระดกข้อเท้าหรือกระดกหัวแม่เท้าขึ้นสามารถเพิ่มอาการปวดได้ ภาวะพังผืดอักเสบมักจะพบได้บ่อยในคนอายุ 40-60 ปี โดยเพศหญิงมีโอกาสเกิดภาวะนี้มากกว่าเพศชายเล็กน้อย
สาเหตุของการเกิดโรครองช้ำ
เนื่องจากหน้าที่หลักของพังผืดใต้ฝ่าเท้าคือการรองรับแรงกระแทกต่อฝ่าเท้า และรองรับอุ้งเท้า โดยขณะที่เรายืนหรือเดิน น้ำหนักตัวจะตกลงบนฝ่าเท้า ทำให้อุ้งเท้าแบนราบกับพื้นมากขึ้น แรงที่ตกลงมายังฝ่าเท้าจะกระจายไปยังบริเวณหน้าเท้าและส้นเท้า ส่งผลให้พังผืดมีความตึงตัวมากขึ้น แต่หากแรงตึงตัวที่เกิดขึ้นมีมากเกินกว่าที่พังผืดจะรับได้ จะทำให้พังผืดได้รับความเสียหาย ซึ่งอาการของโรคไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยการบาดเจ็บจะค่อยๆ สะสมทีละเล็กทีละน้อย จนเกิดการอักเสบหรือในกรณีร้ายแรงอาจเกิดการฉีกขาดในที่สุด
ปัจจัยที่ส่งผลให้มีแรงกระทำต่อพังผืดมากขึ้น
  1. น้ำหนักตัวที่เยอะเกินไป
  2. การออกกำลังกายบางชนิด เช่น การวิ่ง การเต้นแอโรบิค
  3. การยืนหรือเดินนานเกินไป
  4. ลักษณะการใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม
  5. โครงสร้างเท้า เช่น เท้าแบน อุ้งเท้าสูง ทำให้รูปแบบการเดินผิดปกติ
  6. ภาวะกระดูกงอกบริเวณกระดูกส้นเท้า
  7. ภาวะเอ็นร้อยหวายตึงตัว
  8. ไขมันบริเวณส้นเท้าฝ่อลีบเนื่องจากความเสื่อมตามอายุ
การรักษา
  1. การยืดกล้ามเนื้อ
    • กล้ามเนื้อน่อง โดยต้องยืดอย่างช้าๆ ด้วยแรงที่คงที่ ทำ 3 ช่วงเวลา/วัน 5 ครั้ง/ช่วงเวลา และ 15-20 วินาที/ครั้ง
      • ท่ายืน ยืนห่างกำแพงประมาณ 1 ฟุต โดยเอาฝ่ามือยันกำแพงไว้ จากนั้นให้ถอยเท้าข้างที่ต้องการยืดกล้ามเนื้อไปด้านหลัง ย่อเข้าข้างหน้าลงช้าๆ โดยให้ขาหลังเหยียดตรง และฝ่าเท้าทั้งสองข้างวางราบกับพื้น ย่อช้าๆ จนรู้สึกตึงบริเวณน่อง
      • ท่ายืนบนบันได ให้ยืนบนบันไดโดยใช้ปลายเท้า และค่อยๆ ปล่อยให้ส้นเท้าของขาข้างที่ต้องการยืดกล้ามเนื้อตกลงสู่บันไดขั้นล่างมากที่สุด ทำจนรู้สึกตึงบริเวณน่อง
      • ท่านั่ง เหยียดขาข้างที่ต้องการจะยืดกล้ามเนื้อไปข้างหน้า จากนั้นใช้ผ้าขนหนูคล้องบริเวณใต้ฝ่าเท้า และใช้มือทั้งสองข้างค่อยๆ ดึงผ้าขนหนูเข้าหาตัว ทำจนรู้สึกตึงบริเวณน่อง
    • พังผืดใต้ฝ่าเท้า
      ก่อนจะเริ่มลุกขึ้นเดิน ให้ใช้มือข้างหนึ่งจับบริเวณนิ้วเท้าทั้งห้าและทำการดันนิ้วเท้าเข้าหาหลังเท้าให้มากที่สุด จนฝ่าเท้าอยู่ในลักษณะแอ่นและตึง จากนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือหรือกำปั้นของมืออีกข้างกดและนวดบริเวณฝ่าเท้าจนทั่ว โดยนวดประมาณ15-20 วินาที/ครั้ง 3-5 ครั้งก่อนลุกขึ้นเดิน นอกจากนี้ยังสามารถใช้เท้าคลึงลูกบอลหรือขวดน้ำได้อีกด้วย ทำประมาณ 3-5 นาที 2 ครั้ง/วัน
  2. การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเท้า
    • การหยิบผ้าขนหนูด้วยนิ้วเท้า วางผ้าขนหนูผืนเล็กลงบนพื้น จากนั้นใช้นิ้วเท้าขยุ้มผ้าขนหนู ทำซ้ำ 10 ครั้ง 1-2 ครั้ง/วัน
  3. การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดเพื่อลดการอักเสบและลดปวด ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound therapy)หรือช็อคเวฟ (Shock-wave therapy)
  4. การใช้อุปกรณ์พยุงอุ้งเท้า (foot orthosis) เพื่อปรับอุ้งเท้าให้ปกติหรือรองรับแรงกระแทกต่อฝ่าเท้า
  5. การกินยาหรือฉีดยาลดปวดบริเวณพังผืดใต้ฝ่าเท้า
  6. การผ่าตัด ในกรณีที่รักษาแบบ conservative มานานกว่า 9 เดือน แล้วไม่ได้ผล

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Cornwell MW, McPoil TG. Plantar Fasciitis: Etiology and treatment. Journal of Orthopaedic & Sports Physical Therapy. 1999; 29(12):756-760.
  2. Orchard J. Plantar Fasciitis. BMJ. 2012; 345(e6603):35-40.
  3. Sonu P, Aman. Plantar Fasciitis. Indian Journal of Physiotherapy and Occupational Therapy. 2015; 9(1):54-58.
  4. https://www.ortho.wustl.edu/content/Education/3691/Patient-Education/Educational-Materials/Plantar-Fasciitis-Exercises.aspx
  5. https://www.mskcc.org/cancer-care/patient-education/plantar-fasciitis

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


โรครองช้ำ 1 วินาทีที่แล้ว
“ยา” กับอันตรายต่อไต 19 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้