เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) กับกรดโฟลิก .. คุณประโยชน์ที่ไม่ควรมองข้าม


อาจารย์ ดร. วันวิสาข์ อุดมสินประเสริฐ ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://financialtribune.com/sites/defau...roke_0.jpg
อ่านแล้ว 38,869 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 21/08/2561
อ่านล่าสุด 10 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


กรดโฟลิก……สำคัญอย่างไร 
กรดโฟลิก (folic acid) หรือ วิตามินบี 9 เป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งที่ละลายได้ในน้ำ เป็นที่ทราบกันดีว่ากรดโฟลิกมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสตรีตั้งครรถ์ โดยมีผลไปช่วยลดความเสี่ยงของความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรถ์ได้ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติของแขน ขา ความพิการของระบบทางเดินปัสสาวะ และโรคไม่มีรูทวารหนัก เป็นต้น กรดโฟลิกเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นสาร tetrahydrofolate ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์และซ่อมแซมสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าดีเอ็นเอ (DNA) ควบคุมการสังเคราะห์กรดอะมิโนซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย อีกทั้งยังควบคุมการสร้างและการแก่ตัวของเม็ดเลือด โดยเฉพาะเม็ดเลือดแดง ด้วยเหตุนี้การเสริมกรดโฟลิกจึงถูกนำมาใช้อย่างเป็นวงกว้างในการป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจาง [1] นอกเหนือประโยชน์ที่ใช้ในการรักษาภาวะโลหิตจาง ในปัจจุบันมีรายงานการศึกษาวิจัยที่ถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสารระดับนานาชาติพบว่าการเสริมกรดโฟลิกสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ [2] ผู้เขียนเชื่อว่าหลายท่านอาจมีข้อสงสัยว่ากรดโฟลิกจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างไร นอกเหนือจากบทบาทหน้าที่ของกรดโฟลิกที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น กรดโฟลิกมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการสร้างและการสลายกรดอะมิโนที่ชื่อว่า โฮโมซีสทีน (homocysteine) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อหลอดเลือดภายในร่างกาย หากร่างกายมีสารดังกล่าวคั่งสะสมในกระแสเลือดสูงเกิน 15 ไมโครโมลต่อลิตร จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนที่มีระดับปกติ 
 
ภาพจาก : http://arditor.com/wp-content/uploads/2017/09/stroke.jpg 
กรดโฟลิกกับการควมคุมโฮโมซีสทีน 
โฮโมซีสทีน (homocysteine) เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่เกิดจากการย่อยสลายสารอาหารประเภทโปรตีน ในภาวะปกติร่างกายจะอาศัยการทำงานของกรดโฟลิกเป็นตัวช่วยในกระบวนการสลายโฮโมซีสทีน เป็นซีสเตอีน (cysteine) เพื่อไม่ให้เกิดการคั่งสะสมของโฮโมซีสทีนในกระแสเลือด เนื่องจากโฮโมซีสทีนที่สูงในกระแสเลือดมีผลไปกระตุ้นการก่อตัวของลิ่มเลือดและทำลายหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ทำให้หลอดเลือดดังกล่าวตีบและอุดตันได้ง่ายกว่าผู้ที่มีระดับของโฮโมซีสทีนในเลือดปกติ มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ที่มีระดับโฮโมซีสทีนในเลือดสูงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น [3-5] จากกลไกดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ากรดโฟลิกมีบทบาทหน้าที่สำคัญที่ควบคุมกระบวนการเผาผลาญโฮโมซีสทีนให้อยู่ในภาวะปกติ และช่วยลดการเกิดภาวะที่มีโฮโมซีสทีนเหลือคั่งค้างในเลือดสูง (homocysteinemia) ด้วยเหตุนี้ทำให้นักวิจัยจำนวนมากเชื่อว่าการรับประทานกรดโฟลิกเพื่อป้องกันไม่ให้สารโฮโมซีสทีนในเลือดสูงน่าจะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ 
กรดโฟลิกกับโรคหลอดเลือดสมอง 
โรคหลอดเลือดสมองหรือที่เรามักจะคุ้นเคยกับคำว่า stroke คือ โรคที่เซลล์สมองถูกทำลายจากการขาดเลือดไปเลี้ยงที่สมอง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่หลอดเลือดสมองมีการตีบ อุดตันจากก้อนไขมัน หรือแตก ส่งผลให้สมองไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะและระบบต่างๆ ให้ทำงานได้ตามปกติ เป็นสาเหตุสำคัญของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต เกือบสองทศวรรษที่ผ่านมีงานวิจัยจำนวนมากที่ได้ทำการศึกษาผลของการเสริมกรดโฟลิกกับการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาของ Zhou และคณะ [6] ในปี 2018 ที่ได้ทำการศึกษาผลของกรดโฟลิกกับโรคหลอดเลือดสมอง โดยเสริมกรดโฟลิกปริมาณ 0.8 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับการใช้ยาปกติในผู้ป่วยชายโรคหลอดเลือดสมอง เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาปกติโดยไม่ได้รับการเสริมกรดโฟลิก กลุ่มอาสาสมัครในการศึกษานี้มีจำนวนทั้งสิ้น 8,384 ราย ผลการศึกษาของ Zhou และคณะ พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการเสริมกรดโฟลิกปริมาณ 0.8 มิลลิกรัมต่อวัน มีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาก่อนหน้าของ Huo และคณะ [7] ที่ได้เสริมกรดโฟลิกปริมาณ 0.8 มิลลิกรัมต่อวันร่วมกับยา enalapril 10 มิลลิกรัมต่อวัน ในกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 10,348 ราย เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับยา enalapril 10 มิลลิกรัมต่อวันเพียงชนิดเดียว จำนวน 10,345 ราย เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 4.5 ปี ผลการศึกษาพบว่าการเสริมกรดโฟลิกปริมาณ 0.8 มิลลิกรัมต่อวันร่วมกับใช้ยา enalapril 10 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้การศึกษาของ Hsu และคณะ [8] ที่ได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลของการเสริมกรดโฟลิกในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 65,812 ราย จากการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 13 การทดลอง ผลการวิเคราะห์พบว่าการเสริมกรดโฟลิกเพียงอย่างเดียวหรือการเสริมกรดโฟลิกร่วมกับการเสริมวิตามินบี 12 ในปริมาณที่น้อยกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อวัน มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในอนาคตได้ จากข้อมูลงานวิจัยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการเสริมกรดโฟลิกกับการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำในผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน แต่อย่างไรก็ตามการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร การหมั่นออกกำลังกาย และการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดยังคงเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง 
ปริมาณกรดโฟลิกที่แนะนำต่อวัน 
ผู้ป่วยหลายท่านหรือบุคคลทั่วไปอาจมีข้อสงสัยว่าหากไม่ต้องการรับประทานกรดโฟลิกในรูปแบบของผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ เราจะสามารถรับกรดโฟลิกจากทางใดได้บ้าง เนื่องจากร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์กรดโฟลิกได้เองต้องได้รับจากอาหาร ซึ่งในธรรมชาติกรดโฟลิกพบมากในผักใบเขียวเกือบทุกชนิด เช่น คะน้า ปวยเล้ง กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง บล็อกโคลี่ และถั่วลันเตา นอกจากนี้ยังมีแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิกอีกมากมาย เช่น ปลา นมสด ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ข้าวซ้อมมือ และผลไม้ตระกูลส้ม เป็นต้น ปริมาณกรดโฟลิกที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละบุคคล อาจได้รับในปริมาณที่แตกต่างกัน สำหรับคำแนะนำในการรับประทานกรดโฟลิกสำหรับบุคคลทั่วไป ดังแสดงในตารางที่ 1 
 
จากผลการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาที่ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวนมากช่วยสนับสนุนประโยชน์ของการเสริมกรดโฟลิกกับการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามปริมาณที่แน่นอนสำหรับการเสริมกรดโฟลิกเพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน และยังไม่มีงานวิจัยที่ทำการศึกษาผลของการเสริมกรดโฟลิกในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีระดับโฮโมซีสทีนสูง ดังนั้นก่อนได้รับการเสริมกรดโฟลิกผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองควรขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการรักษาโรค หรือทำการตรวจวัดระดับสารโฮโมซีสทีนในกระแสเลือดก่อนการเสริมกรดโฟลิกเพื่อการรักษาที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Drugs.com. American Society of Health-System Pharmacists. 2010-01-01. สืบค้นเมื่อ 2018-08-19.
  2. Huo Y, Qin X, Wang J, et al. Efficacy of folic acid supplementation in stroke prevention: new insight from a meta-analysis. Int J Clin Pract. 2012;66:544-51.
  3. Clarke R, Daly L, Robinson K, et al. Hyperhomocysteinemia: an independent risk factor for vascular disease. N Engl J Med 1991;324:1149–55.
  4. Graham IM. Plasma homocysteine as a risk factor for vascular disease. JAMA 1997;277:1775–81.
  5. Homocysteine Studies Collaboration. Homocysteine and risk of ischemic heart disease and stroke: a meta-analysis. JAMA 2002;288:2015–22.
  6. Zhou Z, Li J, Yu Y, et al. Effect of Smoking and Folate Levels on the Efficacy of Folic Acid Therapy in Prevention of Stroke in Hypertensive Men. Stroke. 2018;49:114-120.
  7. Huo Y, Li J, Qin X, et al. Efficacy of folic acid therapy in primary prevention of stroke among adults with hypertension in China: the CSPPT randomized clinical trial. JAMA. 2015;313:1325-35.
  8. Hsu CY, Chiu SW, Hong KS, et al. Folic Acid in Stroke Prevention in Countries without Mandatory Folic Acid Food Fortification: A Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials. J Stroke. 2018;20:99-109.
  9. From the Centers for Disease Control and Prevention. Recommendations for use of folic acid to reduce number of spina bifida cases and other neural tube defects. JAMA. 1993;269:1236-8.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


7 วินาทีที่แล้ว
31 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้