Eng |
อาจารย์ ดร.ชัยวัฑฒน์ อ่อนศรี
ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า “แอลกอฮอล์” เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่สามารถพบได้ในหลายงานสังสรรค์ โดยทั่วไปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีเอทานอล (ethanol) หรือเอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งที่ได้จากกระบวนการหมักผลผลิตทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง อ้อย หรือ ข้าวโพด ด้วยยีสต์เพื่อเปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์ที่สามารถดื่มได้ ในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วยกว่า 40 รายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการมึนเวียนศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็ว หอบ เหนื่อย ตาพร่ามัว และในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีจำนวน 8 รายที่มีอาการรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต จากการสอบประวัติ และวินิจฉัยพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ดื่มผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีส่วนผสมเป็นเมทานอล (methanol) หรือเมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) เป็นองค์ประกอบ
เมทานอลเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมี รวมถึงเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตไบโอดีเซล เมทานอลมีสถานะเป็นของเหลวใสไม่มีสี ไม่มีกลิ่นเช่นเดียวกันกับเอทานอล จึงไม่สามารถแยกแอลกอฮอล์ทั้งสองชนิดได้ด้วยตาเปล่า นอกจากเมทานอลจะเข้าสู่ร่างกายผ่านการดื่มแล้ว ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการซึมผ่านผิวหนัง และการสูดดม เนื่องจากเมทานอลเป็นสารเคมีที่มีจุดเดือดต่ำ (64.7 องศาเซลเซียส) จึงสามารถระเหยเป็นไอได้ เมทานอลจะแสดงความเป็นพิษเมื่อร่างกายมีระดับของเมทานอลในเลือดสูงกว่า 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เมื่อเมทานอลเข้าสู่ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ตับด้วยเอนไซม์ในร่างกายเปลี่ยนเป็นฟอร์มัลดีไฮด์ (formaldehyde) และกรดฟอร์มิก (formic acid) ตามลำดับ กรดฟอร์มิกที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลให้เลือดในร่างกายเป็นกรด (metabolic acidosis) รวมทั้งทำลายระบบประสาทตาทำให้ตาพร่ามัว (ocular toxicity) ร่างกายจะปรับสมดุลด้วยการเปลี่ยนกรดฟอร์มิกเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon dioxide, CO2) และขับออกทางปอดผ่านการหายใจ เมทานอลส่วนหนึ่งที่คงอยู่ในเลือดจะถูกขับออกทางไตผ่านปัสสาวะ หากได้รับเมทานอลในปริมาณสูงอาจก่อให้เกิดภาวะไตวายได้
Photo by: www.freepik.com
แม้ว่าเอทานอลจะสามารถใช้ลดความเป็นพิษของเมทานอลได้ จากการแย่งจับกับเอนไซม์ alcohol dehydrogenase เพื่อยังยั้งการแปรสภาพของเมทานอลเป็นกรดฟอร์มิกได้ แต่ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มเอทานอลเพื่อแก้ความเป็นพิษด้วยตนเอง หากพบผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่าดื่มเมทานอลเข้าไปควรรีบนำส่งรักษาตัวในโรงพยาบาล เร่งกระบวนการขับเมทานอลออกจากร่างกายผ่านการฟอกเลือด (hemodialysis) ด้วยเครื่องไตเทียม ลดความเป็นกรดในเลือดด้วยการให้โซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate, NaHCO3) ซึ่งมีสมบัติเป็นเบส หรือกรดโฟลิก (folic acid) ซึ่งเป็นโคแฟกเตอร์ (cofactor) ในการเปลี่ยนกรดฟอร์มิกเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ในต่างประเทศอาจมีการใช้โฟมีพิโซล (fomepizole) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสารต้านพิษ (antidote) โดยยานี้จะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ alcohol dehydrogenase
เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตควรเลือกดื่มแอลกอฮอล์ที่มีการรับรอง และตรวจสอบคุณภาพจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ แต่จะดีมากกว่าหากหลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่คุณค่าทางโภชนาการ พักผ่อน และออกกำลังกายให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
2.National Library of Medicine. Methanol [Internet]. Maryland; 2024 [Cited 7 September 2024].
3.กิติศักดิ์ แสนประเสริฐ. ภาวะพิษจากเมทานอล (Methanol Poisoining). ใน: จารุวรรณ ศรีอาภา, บรรณาธิการ. ยาต้านพิษ ๔. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สมาคมพิษวิทยาคลินิก; 2557. หน้า 40-3.