ผักชีของไทย..ดังไกลถึงญี่ปุ่น..แล้วประโยชน์คืออะไร
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
|
108,993 ครั้ง เมื่อ 2 ช.ม.ที่แล้ว | |
2016-08-14 |
วันนี้ผักชีไทยดังข้ามประเทศไปยังญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว กลายเป็นกระแส “ผักชีฟีเวอร์” หลังจากสำนักข่าว NHK ได้ทำรายงานถึงสรรพคุณต่าง ๆ ของผักชีที่มีต่อร่างกาย และยังมี music video “ผักชีเฮเว่น” และรายการทีวีเชิญชวนให้คนญี่ปุ่นรับประทานผักชีทั้งในรูปใบสด ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ เครื่องดื่มสารสกัดผักชี จนนำมาทำเป็น mask พอกหน้า ชาวญี่ปุ่นมักเรียกผักที่มีกลิ่นหอมและใส่เป็นผักโรยในอาหารว่า ผักชี ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นผักชีอะไร กรณีเพื่อนชาวญี่ปุ่นมาเที่ยวเมืองไทยสั่งก๋วยเตี๋ยว และบอกว่าไม่เอาผักชี เพราะแพ้ จึงบอกคนขายไม่ใส่ผักชี แต่ผักชีที่เพื่อนญี่ปุ่นแพ้ไม่ใช่ผักชีไทย แต่เป็นผักชีฝรั่ง
ภาพจาก : http://frynn.com/ผักชี/
แล้วคนไทยล่ะ รู้จักผักชีไทยกันแค่ไหน? เป็นแค่ผักเคียงรับประทานกับสาคูไส้หมู หรือเป็นผักแต่งจานอาหาร ทำให้อาหารน่ารับประทานมากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ผักชีโรยหน้า” ซึ่งมีความหมายว่า ทำอะไรให้ดูดีแค่ภายนอก หรือการทำความดีอย่างผิวเผิน เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง
ผักชีในประเทศไทยที่คนไทยรู้จัก จะมีหลายชนิดได้แก่ ผักชี (Coriandrum sativum L.; Coriander, Cilantro), ผักชีฝรั่ง (Eryngium foetidum L.; Culantro), ผักชีลาว (Anethum graveolens L.; Dill weed) ผักชีทั้งสามชนิดก็เป็นผักที่คนไทย และคนเอเซีย รับประทานเป็นผักเคียง หรือเป็นเครื่องเทศ ฉะนั้นการที่จะนำพืชชนิดใดมารับประทาน ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือยา จะต้องหยิบให้ถูกต้น เพื่อที่จะได้ทราบว่าชนิดไหนรับประทานแล้วอาจจะเกิดอาการแพ้ได้
ผักชีที่กำลังฮิตในประเทศญี่ปุ่นคือ ผักชีชนิดใด?
ผักชีที่กำลังฮิตในประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้คือ ผักชีไทยที่มีชื่อว่า Coriander, Cilantro, Chinese parsley ชื่อวิทยาศาสตร์ Coriandrum sativum L. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี หรือเทียน (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ได้แก่ ผักหอม (นครพนม), ยำแย้ (กระบี่), ผักหอมป้อม ผักหอมผอม (ภาคเหนือ), ผักหอมน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผักชีไทย จริง ๆ แล้วไม่ใช่พืชที่มีถิ่นกำหนดในประเทศไทย แต่มีถิ่นกำเนิดในแถบเมดิเตอร์เรเนียน อินเดีย และเอเซียตะวันตก ถือได้ว่าเป็นเครื่องเทศที่มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน มีหลักฐานการปลูกในประเทศอียิปต์นานกว่า 3,500 ปี คำว่า “Coriander” มาจากภาษากรีก “Koris” แปลว่า bug ทั้งนี้เนื่องจากกลิ่นของลูกผักชีมีกลิ่นเฉพาะคล้าย bed bug สำหรับประเทศที่ปลูกและส่งออกผักชีคือ ประเทศอินเดีย และมอรอคโค ส่วนแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ๆ ในประเทศไทยได้แก่ จังหวัดราชบุรี นครปฐม และกรุงเทพมหานคร ผักชีเป็นพืชผักที่สามารถปลูกได้ตลอดปี แต่ช่วงที่เหมาะที่สุดคือฤดูหนาว เพราะจะทำให้ผักชีโตเร็ว ผักชีเป็นผักที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในการนำมาใช้ประกอบอาหารต่าง ๆ เพื่อทำให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ารับประทานมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารของประเทศแถบ Latin America, the Middle East, ประเทศจีน และประเทศไทย นอกจากนี้ผักชียังมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย คนไทยรู้จักนำผักชีทุกส่วนมาใช้เป็นเครื่องเทศปรุงอาหาร และเป็นยารักษาโรค หรือเป็นน้ำกระสายยา นอกจากนี้ผักชีและน้ำมันหอมระเหยจากลูกผักชีมีการนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นยา สารแต่งกลิ่นยาสูบ เครื่องสำอางและสบู่
สรรพคุณตามภูมิปัญญา
ทุกส่วนของผักชีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนใบ ทั้งต้น ผล หรือราก
ขนาดรับประทาน
ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก รับประทานได้ในขนาดที่ใช้ประกอบอาหาร
ข้อควรระวัง
ควรระวังในคนที่มีประวัติแพ้พืชวงศ์ผักชี (Apiaceae) หรือคนที่มีประวัติแพ้ คึ่นช่าย (Celery), ยี่หร่า (Caraway), เทียนข้าวเปลือก (Fennel), เทียนสัตตบุศย์ (Anise), กระเทียม, หอมใหญ่
อาการแพ้ที่พบได้ คือ ผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis) และทำให้ผิวไวต่อแสงแดดซึ่งมีผลที่จะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง, เยื่อบุจมูกและตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Rhinoconjunctivitis), และหลอดลมเกร็งตัว (Bronchospasm)
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของผักชี
ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาในคน จะมีเพียงข้อมูลที่ศึกษาในสัตว์ทดลองและหลอดทดลองทั้งการพิสูจน์ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และความเป็นพิษ ส่วนของผักชีที่มีการศึกษามากที่สุดคือ ส่วนผลและน้ำมันหอมระเหยจากส่วนผล รองลงมาคือ ส่วนใบและทั้งต้น
สรุป จะเห็นได้ว่าผักชีที่มีการฮือฮาให้รับประทานกันมาก ๆ ในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากทุกส่วนของผักชีมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นผักที่เป็นประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร มีฤทธิ์ปกป้องตับ ได และสมอง นอกจากนี้ยังมีผลลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันเลือด และลดไขมันในเลือด
แต่การรับประทานในปริมาณมากก็จะก่อเกิดโทษ มีผลก่อกลายพันธุ์ ทำให้ทารกวิรูป และเป็นพิษต่อตับและสมอง ผักชีอาจจะก่อการแพ้ทั้งผื่นแพ้ ทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด เยื่อบุจมูกและตาอักเสบจากภูมิแพ้ และหอบหืดได้ ฉะนั้นการรับประทานผักชีควรรับประทานในขนาดพอเหมาะ ตามภูมิปัญญาที่ได้ใช้กันต่อเนื่องกันเป็นระยะยาวนานและมีความปลอดภัย นอกจากนี้ควรจะต้องหยิบผักชีให้ถูกชนิด เพื่อความปลอดภัยในการใช้
ข้อมูลในบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนที่สนใจจะรับประทานผักชีเพื่อสุขภาพที่ดี และก็คงไม่ใช่เป็นเพียงผักชีโรยหน้า ต่อไปแล้ว
![]() |
มะระขี้นก 1 วินาทีที่แล้ว |
![]() |
อันตรกิริยาระหว่างส้มโอกับยา (ตอนที่ 2) 13 วินาทีที่แล้ว |
![]() |
ยาไอซ์ (Ice) 1 นาทีที่แล้ว |
![]() |
แอสไพริน (aspirin) 1 นาทีที่แล้ว |
![]() |
ข้อควรรู้เบื้องต้นเรื่อง “แอนติเจน เทสต์ คิท” เพื่อคัดกรองโรคโควิด-19 1 นาทีที่แล้ว |
![]() |
นอนไม่หลับ...อาจเกิดจากยา 2 นาทีที่แล้ว |
![]() |
ใบทุเรียนเทศรักษามะเร็งได้ (จริงหรือ?) … ที่นี่มีคำตอบ 2 นาทีที่แล้ว |
![]() |
การพัฒนาอนุภาคนาโนและระบบนำส่ง ตอนที่ 3 2 นาทีที่แล้ว |
![]() |
เปลี่ยนยาคุมกำเนิด ... ทำอย่างไรดี 2 นาทีที่แล้ว |
![]() |
ไกลห่างโรคภัยด้วยโยคะ 2 นาทีที่แล้ว |
![]() ![]() |
|
ที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานภายในคณะฯ
HTML5 Bootstrap Font Awesome