เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ใบทุเรียนเทศรักษามะเร็งได้ (จริงหรือ?) … ที่นี่มีคำตอบ


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 265,719 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 06/07/2558
อ่านล่าสุด 1 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


เกริ่นนำ 
สมุนไพรสุดฮิตที่กล่าวขานกันมากที่สุดใน social media ขณะนี้คือ “ทุเรียนเทศ” หรืออาจจะเรียกว่า ทุเรียนน้ำ เป็นสมุนไพรที่ว่ากันว่าเป็นสุดยอดในการรักษาโรคมะเร็งสารพัดชนิด มีคนไข้ที่กล่าวว่าได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าเป็นมะเร็ง และเมื่อได้รับประทานน้ำต้มใบทุเรียนเทศแล้ว ทำให้หายจากโรคมะเร็ง ซึ่งข่าวนี้ได้มีการส่งต่อในสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลายมาได้ระยะหนึ่งแล้ว.... แต่ .. ข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้องเชื่อถือได้หรือไม่ และข้อมูลนั้นมีการพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์มาแล้วหรือไม่ ?? 
ก่อนที่จะกล่าวถึง “ทุเรียนเทศ” ผู้เขียนขอแลกเปลี่ยน เรียนรู้ เรื่องของข้อมูลสมุนไพรที่มีการส่งต่อ ๆ กันใน social media เพื่อเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับเกี่ยวกับสมุนไพรว่ามีความน่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด โดยประเด็นที่ควรจะพิจารณา คือ สมุนไพรเหล่านั้น มีข้อมูลเหล่านี้อยู่หรือไม่

  1. ข้อมูลการใช้ตามภูมิปัญญา ซึ่งควรพิจารณาว่า ส่วนของพืชที่ใช้คือส่วนใด วิธีการเตรียมตามภูมิปัญญาเป็นอย่างไร เช่น เป็นยาต้ม ยาชง ยาดอง หรือยาผง ขนาดรับประทานเป็นเท่าไร ใช้รักษาโรคอะไร ซึ่งข้อมูลการใช้ตามภูมิปัญญาจะเป็นข้อมูลที่บ่งบอกถึงความปลอดภัยที่มีการใช้มาหลายชั่วอายุคน
  2. ข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งควรพิจารณาว่า เป็นการศึกษาในระดับใด เช่น การศึกษาระดับหลอดทดลอง การศึกษาในสัตว์ทดลอง หรือ การศึกษาในคน (clinical trial) หรือเป็นกรณีศึกษา (case study) มีการศึกษาความเป็นพิษหรือไม่ ถ้าเป็นการศึกษาระดับหลอดทดลองจะเป็นการทดสอบสารต่อเซลล์โดยตรง โดยสารนั้นไม่ได้ผ่านกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย ส่วนการศึกษาในสัตว์ทดลอง จะได้ข้อมูลเบื้องต้นถึงสารที่ได้ผ่านกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย ซึ่งสารจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอื่นที่มีฤทธิ์ หรือไม่มีฤทธิ์ก็ได้ และการศึกษาในสัตว์ทดลองยังให้ข้อมูลความเป็นพิษของสมุนไพรนั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นการศึกษาในระยะสั้น หรือระยะยาว (ในกรณีที่รับประทานสมุนไพรติดต่อกันเป็นเวลานาน) ส่วนการศึกษาในคน (clinical trial) หรือเป็นกรณีศึกษา (case study) จะเป็นข้อมูลที่สร้างความมั่นใจกับผู้บริโภค ว่าสมุนไพรนั้นมีสรรพคุณตามที่ได้กล่าวถึง หรือมีความปลอดภัยระดับใด

ข้อมูลที่ได้กล่าวมานี้จะเป็นข้อมูลที่จะสร้างความมั่นใจใหักับสมุนไพรนั้น ทั้งด้านประสิทธิผล และด้านความปลอดภัย ในกรณีของใบทุเรียนเทศก็เช่นเดียวกัน ก็ควรที่จะวิเคราะห์ข้อมูลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว 
ทุเรียนเทศ ...คืออะไร? 
ทุเรียนเทศ หรือทุเรียนน้ำ มีวิทยาศาสตร์ว่า Annona muricata L. อยู่ในวงศ์ Annonaceae (วงศ์เดียวกับน้อยหน่า น้อยโหน่ง กระดังงา และการเวก) ทุเรียนเทศมีชื่อเรียกตามประเทศและท้องถิ่นที่ต่างๆ กัน เช่น soursop, graviola, prickly custard apple, Nangka blanda, Brazilian pawpaw, guanabana, durian benggala, zuurzak, Sirsak, Sauersack1 เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกา ปัจจุบันปลูกได้ทั่วโลกในประเทศแถบเขตร้อนชื้น ในทวีปเอเซียพบได้ในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยพบได้มากทางตอนใต้ ทุเรียนเทศเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 5–6 เมตร ใบสีเขียวเข้ม ผลขนาดใหญ่รับประทานได้ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15–20 เซนติเมตร เปลือกผลสีเขียว มีหนาม เนื้อในสีขาว มีขายในตลาดเป็นผลไม้ เครื่องดื่ม หรือ sherbets2 ในประเทศบราซิลและแถบรัฐปีนังของประเทศมาเลเซีย มีการนำทุเรียนเทศมาแปรรูปเป็นน้ำทุเรียนเทศเข้มข้นซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก1 
สรรพคุณทางภูมิปัญญาของใบทุเรียนเทศ 
ชาว west Indies ใช้ชาชงใบทุเรียนเทศเป็นชาสงบ ระงับ (sedative) ชาวตรินิแดดใช้ใบ ลดความดันโลหิต ชาวเปรูใช้ใบรักษาอาการปวดเกร็งท้อง และสงบ ระงับ ชาวกานาใช้ชาชงจากใบ บำรุงหัวใจและสงบ ระงับ ชาวบราซิลใช้ชาชงและน้ำต้มจากใบ รักษาอาการปวดข้อ รูมาตอยด์ และปวดปลายประสาท3,4 แก้ปวดศรีษะ นอนไม่หลับ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้านการอักเสบ4 จะเห็นได้ว่าในอดีตไม่มีการใช้ทุเรียนเทศในการรักษาโรคมะเร็ง 
ใบทุเรียนเทศรักษามะเร็งได้ ( จริงหรือ?) 
จากข้อมูลสรรพคุณทางภูมิปัญญาของใบทุเรียนเทศ จะเห็นได้ว่าภูมิปัญญาในหลายประเทศมีการใช้ใบทุเรียนเทศในการลดความดันโลหิต ช่วยสงบ ระงับ นอนไม่หลับ ปวดข้อ รูมาตอยด์ และปวดปลายประสาท ไม่มีการกล่าวถึงการใช้รักษาโรคมะเร็ง มีแต่ในประเทศที่ยากจน เช่น ประเทศทางอัฟริกา ที่มีปัญหาของโรคมะเร็งและพบว่าประชาชนเข้าถึงยาแผนปัจจุบันได้น้อย ทำให้อัตราการตายด้วยโรคมะเร็งสูงจึงใช้ใบทุเรียนเทศในการรักษาโรคมะเร็ง โดยการนำใบมาต้มกับน้ำโดยอิงข้อมูลจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปี 1940 ไม่ใช่สรรพคุณทางภูมิปัญญาท้องถิ่น 
ปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศทางยุโรปมีผลิตภัณฑ์ใบทุเรียนเทศหลายรูปแบบ ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมกับยาแผนปัจจุบันในการรักษาโรคมะเร็ง ได้แก่ รูปแบบชาชง (infusion) โดยรับประทานครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง รูปแบบยาทิงเจอร์ รับประทานครั้งละ 3-4 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง รูปแบบยาผงบรรจุแคปซูล รับประทานขนาด 2 กรัม วันละ 3 ครั้ง2 
 
ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงการศึกษาฤทธิ์ของใบทุเรียนเทศในการรักษามะเร็งในแง่วิทยาศาสตร์ ในรูปแบบ

  1. ชาชง หรือ ยาต้ม ใช้น้ำเป็นตัวสกัด
  2. ยาผง หรือ ยาทิงเจอร์ ใช้สารละลายอื่นเป็นตัวสกัดเช่น แอลกอฮอล์

เพื่อให้อ่านง่ายสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงวิจัย จึงขอยกบทสรุปงานวิจัยของแต่ละรูปแบบมากล่าวไว้ก่อนในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนท่านที่อยู่ในแวดวงวิชาการหรืองานวิจัยสามารถอ่านรายละเอียดได้ด้านล่าง

สรุป ผลการวิจัย รูปแบบชาชงหรือน้ำต้ม
การบริโภคใบทุเรียนเทศในรูปแบบชาชงหรือน้ำต้ม ซึ่งอาศัยน้ำเป็นตัวทำละลาย พบว่าข้อมูลวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีน้อยมาก และส่วนใหญ่พบว่าไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง (เป็นการศึกษาในหลอดทดลอง) ถึงแม้ว่ามีบางงานวิจัยที่พบว่าน้ำต้มหรือชาชงใบทุเรียนเทศมีฤทธิ์ดังกล่าว แต่ต้องใช้ขนาดยาที่สูง ทั้งนี้เพราะว่าสารสำคัญในพืชวงศ์นี้เป็นสารกลุ่ม annonaceaous acetogenins ซึ่งเป็นสารที่ไม่ละลายในน้ำ (อุณหภูมิห้อง) แต่ละลายได้บ้างในน้ำต้ม และการบริโภคน้ำต้มในปริมาณที่มากจะเป็นพิษต่อไตและมดลูก ฉะนั้นหญิงตั้งครรภ์ห้ามรับประทาน8 นอกจากนี้น้ำต้มใบทุเรียนเทศยังประกอบด้วยสารต่างๆ ที่มีขั้ว ซึ่งอาจจะมีผลต่อร่างกาย เช่น สารกลุ่ม cardiac glycosides จะมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ7
สรุป ผลการวิจัย รูปแบบยาผงหรือยาทิงเจอร์
การบริโภคใบทุเรียนเทศในรูปแบบยาผง หรือ ยาทิงเจอร์ ที่สกัดด้วยตัวทำละลายอื่นที่ไม่ใช่น้ำ เช่น แอลกอฮอล์ อาจมีผลในการรักษาโรคมะเร็งได้จริง เนื่องจากมีงานวิจัยทั้งการศึกษาในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง และพบว่าสารสำคัญคือสารกลุ่ม annonaceous acetogenins และสารกลุ่มแอลคาลอย์ แต่สารกลุ่มดังกล่าวพบว่าถ้ารับประทานในปริมาณมากและระยะเวลานานจะก่อเกิดพิษต่อเนื้อเยื่อสมอง ทำให้เกิดอาการพาร์กินสัน (atypical parkinsonism) และเกิดไตวายได้ด้วย
สรุป ใบทุเรียนเทศรักษามะเร็งได้ (จริงหรือ)

การบริโภคใบทุเรียนเทศในรูปแบบยาต้มหรือยาชง ก็จะมีความปลอดภัยมากกว่าการบริโภครูปแบบยาทิงเจอร์ หรือยาดอง หรือยาผง แต่การจะมีผลในการรักษาโรคมะเร็งหรือไม่คงต้องมีการศึกษาในรายละเอียดอีกมากมาย ในการที่ประเทศที่ยากจนจะนำใบทุเรียนเทศมาใช้เป็นทางเลือกหนึ่ง ในการรักษามะเร็ง คงเป็นการแก้ปัญหาที่ประชาชนเข้าถึงยาแผนปัจจุบันได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง 
ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน คิดว่าผู้ป่วยมะเร็งที่ตรวจพบในระยะแรก ๆ น่าจะมีโอกาสได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด หรือฉายแสง หรือได้รับยาต้านมะเร็ง ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ยอมรับกันในวงการแพทย์ การบริโภคสมุนไพรอาจจะเป็นทางเลือกในการช่วยลดผลข้างเคียงของยาแผนปัจจุบัน หรือการใช้ร่วมกันจะช่วยให้การรักษาเป็นไปได้ดีขึ้น แต่ผู้บริโภคก็ต้องมีวิจารณญานในการวิเคราะห์ข้อมูลของสมุนไพรอย่างถ่องแท้ ดังที่ได้เกริ่นนำข้างต้น ทั้งนี้เพื่อประกันความปลอดภัยและประสิทธิผลที่จะได้รับต่อไป 
กรณีผู้ป่วยที่จะบริโภคใบทุเรียนเทศ มีข้อแนะนำดังนี้

  1. ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร
  2. ควรระวังในการใช้ ในกรณีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและรับประทานยาลดความดัน จะต้องติดตามตรวจสอบความดันโลหิต เพราะใบทุเรียนเทศมีผลลดความดันโลหิต (การทดลองในสัตว์ทดลอง) ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาลดน้ำตาลในเลือด ทั้งนี้เพราะใบทุเรียนเทศมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด (การทดลองในสัตว์ทดลอง) นอกจากนี้การรับประทานสารสกัดใบทุเรียนเทศนาน ๆ จะมีผลทำให้จุลชีพที่ดี (normal flora) ในระบบทางเดินอาหารถูกทำลายได้ เนื่องจากใบทุเรียนเทศมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ และอาจมีผลทำให้เกิดอาการ atypical parkinsonism เนื่องจากสารกลุ่ม annonaceous acetogenins มีผลเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อสมอง

ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งท่านผู้อ่านทั่วไปสามารถข้ามไปได้ 
1. รูปแบบชาชง หรือ ยาต้มใบทุเรียนเทศ รักษามะเร็งได้จริงหรือ? 
การวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของทุเรียนเทศ โดยเฉพาะการวิจัยในส่วนใบ จะเห็นได้ว่างานวิจัยจากทั่วโลกจนถึงปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษาระดับการศึกษาในคน (clinical trial) ส่วนใหญ่จะเป็นงานวิจัยในระดับหลอดทดลอง และสารสกัดส่วนใหญ่ที่วิจัยจะเป็นสารสกัดจากแอลกอฮอล์ มีงานวิจัยที่พบว่าสารสำคัญที่สกัดได้จากใบด้วยตัวทำละลายที่ไม่มีขั้ว (เช่น hexane, chloroform) หรือมีขั้วน้อยถึงปานกลาง (ethanol, methanol, butanol) มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งหลายชนิดในหลอดทดลอง ซึ่งสารเหล่านั้นคือ สารกลุ่ม annonaceous acetogenins, alkaloids, styryllactones ซึ่งสารดังกล่าวเป็นสารที่ไม่มีขั้ว หรือมีขั้วน้อย สารดังกล่าวจะไม่ถูกสกัดออกมาด้วยน้ำ 
จากงานวิจัยของ Champy และคณะ (2005) ได้ทำการวิเคราะห์สาร annonacin (ซึ่งเป็นสารที่พบได้มากที่สุดในสารกลุ่ม annonaceous acetogenins ประมาณ 70%) ในเนื้อผล ชาชง น้ำต้ม และสารสกัดเมทานอลจากใบ โดยวิธี reversed phase high pressure liquid chromatography (RP HPLC) ร่วมกับ matrix-assisted laser desorption-ionization mass spectrometry (MALDI MS) หรือ LC-MS พบว่า สาร annonacin จะถูกสกัดออกมาในรูปแบบชาชง และน้ำต้มได้น้อยกว่าเนื้อผล ประมาณ 100 เท่า และการที่สาร annonacin ถูกสกัดออกมาได้ด้วยน้ำร้อน เนื่องจากสารนี้มีจุดหลอมตัวต่ำ (ประมาณ 64 oC)5 ซึ่งจากงานวิจัยของ Fidianingsih และคณะ (2014) ได้สนับสนุนว่าชาชงใบทุเรียนเทศ มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด T47D ได้บ้างแต่น้อยกว่าสารมาตรฐาน tamoxifen 274 เท่า (มีค่า IC50= 31,384.21 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ส่วนสาร tamoxifen มีค่า IC50 = 114.52 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร) แสดงว่าอาจจะมีสาร annonaceous acetogenin ละลายออกมาในน้ำร้อนได้บ้าง6 
งานวิจัยของ Gavamukulya (2014) พบว่า สารสกัดจากใบทุเรียนเทศด้วยน้ำ (อุณหภูมิห้อง) ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับชนิด Ehrlich Ascites Carcinoma ในทุกความเข้มข้นขนาด 250, 500, 750, 1000, และ 1250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร) แต่สารสกัดแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งได้ โดยมีค่า IC50 = 335.85 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สารสกัดน้ำมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าสารสกัดแอลกอฮอล์ โดยมีค่า IC50 = 0.9077 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ส่วนสารสกัดแอลกอฮอล์มีค่า = 2.0456 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งกลุ่มสารที่พบได้ในทั้งสองสารสกัดคือ alkaloids (ถ้าอยู่ในรูปเกลือจะละลายน้ำได้ แต่ถ้าอยู่ในรูปอิสระจะไม่ละลายในน้ำ), flavonoids, terpenoids, coumarins และ lactones, anthraquinones, tannins, Cardiac glycosides, phenols, phytosterols, และ saponins7 เช่นเดียวกับงานวิจัยของ Arthur และคณะ (2011) ที่พบว่าน้ำต้มประกอบด้วยสารกลุ่ม saponins, condensed tannins, flavonoids และสาร glycosides อื่นๆ8 
แต่จากงานวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า สารสกัดน้ำจากใบทุเรียนเทศมีผลต่อเซลล์มะเร็งตับ โดยมีผลฆ่าเซลล์มะเร็งตับได้ โดยเฉพาะน้ำต้มจากใบแห้ง ส่วนน้ำคั้นจากใบสดมีผลเช่นเดียวกันแต่มีพิษต่อเซลล์ตับปกติด้วย ถ้าจะวิเคราะห์ข้อมูลของงานวิจัยนี้ โดยอ้างอิงงานวิจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น แสดงว่าสารสำคัญในน้ำต้มใบทุเรียนเทศอาจจะเป็นสารกลุ่ม annonaceous acetogenins ที่ละลายออกมาได้บ้างด้วยน้ำร้อน ส่วนในกรณีน้ำคั้นใบทุเรียนเทศ สารออกฤทธิ์อาจจะเป็นสารกลุ่มอื่นที่มีขั้ว เช่น flavonoid glycosides, phenolic compounds, saponins, tannins7-9 
ในฐานะผู้เขียนเป็นนักพฤกษเคมีที่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับพืชสมุนไพรที่มีชื่อว่า “ข้าวหลาม Goniothalamus marcanii Craib” ซึ่งเป็นพืชในวงศ์เดียวกับทุเรียนเทศ คือวงศ์ Annonaceae โดยได้วิจัยและพัฒนาสารจากเปลือกต้นข้าวหลามเพื่อเป็นยาต้านมะเร็ง งานวิจัยพบว่า สารสำคัญที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งของคนหลายชนิด (เซลล์มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งสมอง และมะเร็งเต้านม) คือ สารกลุ่ม annonaceous acetogenins และ 1-azaanthraquinones ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารที่สกัดแยกได้จากสารสกัดแอลกอฮอล์จากส่วนเปลือกต้น แสดงว่าสารสำคัญเหล่านี้เป็นสารที่มีขั้วน้อย ถึงขั้วปานกลาง จึงสามารถถูกสกัดได้ด้วยตัวทำละลายที่มีขั้วน้อยหรือขั้วปานกลาง และงานวิจัยนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสารสกัดด้วยน้ำ (อุณหภูมิห้อง) ไม่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง10,11

  • การศึกษาความเป็นพิษของน้ำต้มจากใบทุเรียนเทศ 
    การศึกษาความเป็นพิษของน้ำต้มจากใบทุเรียนเทศโดยป้อนให้หนูขาว พบว่า ค่า LD50 มีค่า <5 กรัม/กิโลกรัม ถือได้ว่าน้ำต้มใบทุเรียนเทศมีความปลอดภัย (จากการคำนวน การดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 เวลา จะได้รับสารสกัดน้ำต้ม 211 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน)8 
    การศึกษาความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังของน้ำต้มใบทุเรียนเทศในหนูขาวทั้งเพศผู้และเพศเมีย เป็นเวลา 14 วัน พบว่า ขนาดความเข้มข้น 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีผลลดน้ำตาลในเลือด และไขมันในเลือดได้ โดยเฉพาะ low density lipoprotein (LDL-cholesterol) และเพิ่มระดับของ high density lipoprotein (HDL-cholesterol) โดยไม่เป็นพิษต่ออวัยวะต่างๆของร่างกาย แต่ขนาดความเข้มข้น 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีผลทำให้น้ำหนักตัวหนูลดลง และทำให้มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น และขนาดความเข้มข้น 2,500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีผลเป็นพิษต่อไต ทำให้ระดับเอนไซม์ creatinine สูงขึ้น ผลงานวิจัยนี้แสดงว่าการบริโภคน้ำต้มใบทุเรียนเทศในปริมาณน้อยจะเป็นประโยชน์ทั้งเรื่องน้ำตาลในเลือดและระดับไขมันในเลือด ส่วนการบริโภคในปริมาณที่มากจะเป็นพิษต่อไตและมดลูก ฉะนั้นหญิงตั้งครรภ์ห้ามรับประทาน8


2. รูปแบบยาผง หรือ ยาทิงเจอร์ใบทุเรียนเทศ รักษามะเร็งได้จริงหรือ? 
มีงานวิจัยเป็นจำนวนมากที่ศึกษาในสารสกัดแอลกอฮอล์ของใบทุเรียนเทศ (หรือรูปแบบยาทิงเจอร์ หรือยาดอง) พบว่า สารประกอบทางเคมีส่วนใหญ่ที่พบในสารสกัดแอลกอฮอล์จากใบคือ สารกลุ่ม annonaceous acetogenins และสารกลุ่ม isoquinoline alkaloids ซึ่งสารกลุ่ม annonaceous acetogenins ที่สกัดได้จากส่วนใบมีมากกว่า 30 ชนิด เช่น annonacin3,4 (เป็นสารหลัก พบได้มากกว่า 70%), annonacin-10-one, annonacin A, annomutacin4, isoannonacin3, isoannonain-10-one3,4, annomuricin C, annopentocins A-C, annocatacin A และ B4, Bullatacin3, goniothalamicin, gigantetrocin A3,4, gigantetronenin4, muricoreacin, murihexocin A-C3,4,12, muricatetrocins A และ B, muricatocins A-C4, annohexocin12,13, annomuricins A และ B4 ส่วนสารกลุ่ม isoquinoline alkaloids ที่พบได้แก่ reticuline, coclaurine, coreximine, atherosperminine, stepharine, anomurine และ anomuricin12 ซึ่งสารเหล่านั้นเป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง

  • การศึกษาในหลอดทดลอง 
    สารสกัดต่อเนื่องด้วยตัวทำละลาย hexane, ethyl acetate และ methanol จากส่วนใบ พบว่าสารสกัด ethyl acetate มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งปอดชนิด A549 ได้ดีที่สุด โดยมีกลไกหยุดยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ (cell cycle arrest) และทำให้เซลล์ตายแบบ apoptosis โดยผ่านกระบวนการ mitochondrial-mediated signaling pathway ซึ่งเกี่ยวข้องกับ NF-kB signalling pathway14 
    สารสกัดเอทานอลจากใบ มีผลเป็นพิษต่อเซลล์ท่อน้ำนมชนิด T47D (Human ductal breast epithelial tumor cell line) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 17.149 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร1 
    สารกลุ่ม annonaceous acetogenins ได้แก่ annonacin, isoannonacin, isoannonain-10-one, goniothalamicin และ gigantetrocin มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งอวัยวะต่าง ๆ ของคน (human tumor cell lines) หลายชนิด ได้แก่ เซลล์มะเร็งปอด (A549 lung carcinoma), เซลล์มะเร็งเต้านม (MCF-7 breast carcinoma), และเซลล์มะเร็งลำไส้ (HT-29 colon adenocarcinoma) ส่วนสาร muricoreacin และ murihexocin มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งตับอ่อน (PACA-2 pancreatic carcinoma) และ เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก (PC-3 prostate adenocarcinoma cell lines)13 สาร bullatacin และสาร acetogenins อื่น ๆ มีผลยับยั้งการสร้าง adenosine triphosphate (ATP) ซึ่งจะมีผลในการยับยั้งเนื้องอกที่ดื้อยา3 สาร annohexocin มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิด ได้แก่ เซลล์มะเร็งปอด เต้านม ลำไส้ ตับอ่อน ไต โดยเฉพาะต่อมลูกหมาก โดยมีค่า ED50 เท่ากับ 0.0195 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สารมาตรฐาน adriamycin มีค่า ED50 เท่ากับ 0.0310 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร แสดงว่าสาร annohexocin มีฤทธิ์ดีกว่าสาร adiamycin13 
    ในปี ค.ศ. 1976 สถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง (ในหลอดทดลอง) ของสารกลุ่ม annonaceous acetogenins ที่สกัดได้จากใบและลำต้น พบว่า สารกลุ่มดังกล่าวมีผลเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ และมะเร็งชนิดที่ดื้อต่อยา งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวไต้หวันพบว่า สาร annonacin เป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งผิวหนัง2 นักวิจัย Fidianingsih และคณะ (2014) พบว่าสารกลุ่ม annonaceous acetogenins มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ และมะเร็งที่ดื้อต่อยา6
  • การศึกษาในสัตว์ทดลอง 
    ฤทธิ์ป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม: สารสกัด 70% เอทานอลจากใบ ในขนาดยา 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร/วัน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยการป้อนให้หนูถีบจักรตัวเมีย ที่ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมด้วยสารก่อมะเร็ง 7,12-dimethylbenz[a]anthracene (DMBA) พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้ และพบว่าสารสกัดดังกล่าวประกอบด้วยสารกลุ่ม polyphenol เป็นสารหลัก15 
    ฤทธิ์ต้านเนื้องอกที่ลำไส้: สารกลุ่ม acetogenins มีฤทธิ์ลด colon crypts ของหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดด้วยสาร azoxymethane (Azo)12 
    ฤทธิ์ต้านเนื้องอกที่ปอด: สาร annonacin ขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์ต้านเนื้องอกที่ปอดได้ดีเทียบเท่ากับยา adiamycin แต่ปลอดภัยกว่า2 
    ความเป็นพิษของสารสกัดเอทานอลใบทุเรียนเทศและสารกลุ่ม annonaceous acetogenins 
    การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดเอทานอล (95%) พบว่าเมื่อป้อนให้หนูถีบจักร มีค่า LD50 เท่ากับ 1.67 กรัม/กิโลกรัม4 มีงานวิจัยพบว่า การป้อนสารสกัดเอทานอลจากใบ ขนาด 10, 20, และ 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 40 วัน มีผลทำให้ไตวายได้13 การป้อนสาร annonacin แก่หนูขาวเป็นเวลานาน จะเกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อสมอง และเกิดอาการ atypical parkinsonism3 โดยมีกลไกทำให้เกิดความผิดปกติที่ substantia nigra และ basal ganglia ซึ่งความเป็นพิษนี้จะมีมากกว่าสาร reticuline ซึ่งเป็นสารกลุ่มแอลคาลอยด์ (benzyl-tetrahydroisoquinoline) 1,000 เท่า และมากกว่าสาร 1-methyl-4-phenylpyridinium (MPP+) (สารที่เป็นพิษต่อเซลล์ประสาท) ประมาณ 100 เท่า5

3. โอกาสการพัฒนาสารกลุ่ม annonaceous acetogenins เป็นยาต้านมะเร็ง มีมากน้อยเพียงใด? 
จะเห็นได้ว่าหน่วยงานสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute) ของประเทศสหรัฐอเมริกามีความพยายามที่จะพัฒนาสารกลุ่ม annonaceous acetogenins เป็นยาต้านมะเร็ง เช่นเดียวกับสาร taxol ที่สกัดได้จากต้น Taxus brevifolia (Pacific yew หรือ western yew) โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 งานวิจัยพบว่าสารกลุ่ม annonaceous acetogenins มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้หลายชนิดในหลอดทดลอง และในสัตว์ทดลอง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักคือ มหาวิทยาลัย Purdue ในขณะเดียวกันทางประเทศเกาหลี (the Catholic University) ได้วิจัยพบว่าสารกลุ่มนี้มีฤทธิ์ต่อเซลลล์มะเร็งลำไส้และมะเร็งเต้านมดีกว่าสาร adriamycin ถึง 1,000 เท่า และไม่เป็นพิษต่อเซลล์ปกติ แต่จะเห็นได้ว่าจนถึงปัจจุบันงานวิจัยไม่ได้ก้าวหน้า ยังไม่มีงานวิจัยในระดับการศึกษาในคน (clinical trial) ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากสารกลุ่มนี้มีความเป็นพิษสูงทั้งต่อเนื้อเยื่อสมองและไต และที่สำคัญสารกลุ่มนี้ในการที่จะพัฒนาเป็นยา จะต้องมีการต่อยอดในการสังเคราะห์ให้มีปริมาณมากเพียงพอ เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างของสารกลุ่มนี้ จะเห็นได้ว่าสาร annonaceous acetogenins เป็นสารที่มีโครงสร้างเป็น long chain fatty acid ที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง และที่สำคัญคือมี chiral center ที่ carbon atom หลายตำแหน่ง ตัวอย่างเช่น สาร annonacin มี chiral center 7 ตำแหน่ง คือ carbon ที่ 4, 10, 15, 16, 19, 20 และ 34 ซึ่งเป็นการยากมากที่จะสังเคราะห์สารให้ได้ stereochemistry เหมือนสารที่ได้จากธรรมชาติ และสาร annonaceous acetogenins ที่มี chiral center ต่างกันเพียงจุดเดียวก็จะมีฤทธิ์แตกต่างกันเป็น 1,000 เท่า 100,000 เท่า จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลข้างต้นคงเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาสาร annonaceous acetogenins เป็นยาต้านมะเร็ง จึงยังไม่บรรลุผลจนถึงปัจจุบัน 
 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Sawant TP, Gogle DP. A brief review on recent advances in clinical research of Annona muricata. Int J Univ Pharm Bio Sci 2014;3(3):267-304.
  2. Taylor L. Technical Data Report for GRAVIOLA (Annona muricata). Austin: Sage Press, Inc., 2005
  3. Badrie N, Schauss AG. Soursop (Annona muricata L.): Composition, nutritional value, medicinal uses, and toxicology. In Bioactive Foods in Promoting Health: Fruits and Vegetables. Elsevier Inc., 2010.
  4. Sousa OV, Vieira GDV, Pinho JJ, Yamamoto CH, Alves MS. Antinociceptive and anti-inflammatory activities of the ethanol extract of Annona muricata L. leaves in animal models. Int J Mol Sci 2010;11:2067-78.
  5. Champy P, Melot A, Guerineau V, Gleye C, Fall D, Hoglinger GU, et al. Quantification of acetogenins in Annona muricata linked to atypical parkinsonism in Guadeloupe. Movement Disorders 2005;20(12):1628-33.
  6. Fidianingsih I, Handayani ES. Annona muricata aqueous extract suppresses T47D breast cancer cell proliferation. Univ Med 2014;33:19-26.
  7. Gavamukulya Y, Abou-Elella E, Wamunyokoli F, AEl-Shemy H. Phytochemical screening, anti-oxidant activity and in vitro anticancer potential of ethanolic and water leaves extracts of Annona muricata (Graviola). Asian Pac J Trop Biomed 2014;4(1):930-9.
  8. Arthur FKN, Woode E, Terlabi EO, Larbie C. Evaluation of acute and subchronic toxicity of Annona muricata (Linn.) aqueous extract in animals. Eur J Exp Biol 2011;1(4):115-24.
  9. Solomon-Wisdom GO, Ugoh SC, Mohammed B. Phytochemical screening and antimicrobial activities of Annona muricata (L) leaf extract. Am J Biol Chem Pharm Sci 2014;2(1):1-7.
  10. Soonthornchareonnon N, Cassady JM, Patarapanich C, Bavovada R, Suwanborirux K. Goniothalamusins: New monotetrahydrofuran acetogenins from Goniothalamus marcanii. Proceedings of the third NRCT-JSPS seminar. Current advances in natural product research. November 27-29, 1996. Bangkok, Thailand. P. 96-102.
  11. Soonthornchareonnon N, Suwanborirux K, Bavovada R, Patarapanich C, Cassady JM. New cytotoxic 1-azaanthraquinones and 3-aminonaphthoquinone from the stem bark of Goniothalamus marcanii. J Nat Prod 1999;62:1390-4.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


Product Champion ของสมุนไพรไทย 27 วินาทีที่แล้ว
อันตรายจากการสัก 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้