Eng |
อาจารย์ ดร.ภญ.กัลยานี นุ่มโต
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระแสรักสุขภาพกำลังเป็นอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์ที่ได้รับความนิยม นอกจากวิธีการควบคุมการรับประทานอาหารในรูปแบบต่าง ๆ และการออกกำลังกาย ยังมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ของผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดที่ต่างปรับตัวเป็นสินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพมากขึ้น อาทิ สูตรหวานน้อย หรือการใช้สารให้ความหวานอื่นแทนน้ำตาล เป็นต้น
ติดหวาน (sugar blues) คืออะไร เราเข้าข่ายติดหวานหรือการเสพติดน้ำตาลหรือไม่ ติดหวานคือร่างกายมีความต้องการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานอยู่เสมอ หากไม่ได้รับประทานจะเกิดความรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ขาดสมาธิและมีความโหยหาของที่มีรสชาติหวาน วิธีสังเกตอาการติดหวานมีดังนี้
1. รู้สึกอยากรับประทานแต่ขนมหวาน ผลไม้รสหวาน หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
2. เมื่อไม่ได้รับประทานอาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของแป้งหรือน้ำตาลจะรู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด
3. มีอาการหิวบ่อย หรือมักนึกถึงอาหารอยู่เสมอ
4. มีนิสัยรับประทานอาหารหวานต่อจากอาหารคาวเป็นประจำ
5. เติมน้ำตาลเพิ่มในอาหารคาวเกือบทุกจาน
6. ดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน มากกว่า 1 แก้วต่อวัน
แล้วความหวานเป็นอันตรายจริงหรือ
ความเป็นจริงแล้วหากเราสามารถรับประทานน้ำตาลในระดับที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ความหวานหรือน้ำตาลก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายและยังเป็นสารที่ให้พลังงานกับร่างกาย แต่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกมักรับประทานน้ำตาลเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ควรได้รับ เช่น หญิงวัยทำงานอายุ 25-60 ปี ต้องการพลังงานอยู่ที่ 1600 กิโลแคลอรี/วัน ดังนั้นปริมาณที่บริโภคน้ำตาลไม่ควรเกิน 160 กิโลแคลอรี หรือ 10 ช้อนชา/วัน (ปริมาณน้ำตาล 1 ช้อนชา เท่ากับ 4 กรัม และน้ำตาล 1 กรัมให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี ดังนั้นน้ำตาล 1 ช้อนชา จะให้พลังงานประมาณ 16 กิโลแคลอรี) แต่ในผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ควบควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งลดความเสี่ยงการเกิดโรคจากการบริโภคน้ำตาลที่มากเกิน WHO แนะนำว่าควรบริโภคน้ำตาลให้น้อยกว่า 5% ของพลังงานที่ควรได้รับ หรือประมาณ 5 ช้อนชา/วัน ซึ่งมีความสอดคล้องตามที่กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ คือ ปริมาณน้ำตาลไม่ควรเกิน 24 กรัม/วัน หรือ 6 ช้อนชา/วัน ทั้งนี้หากต้องการลดความเสี่ยงจากโรคทางหัวใจและเมแทบอลิก (cardiometabolic disease) ซึ่งเป็นอันตรายจากผลข้างเคียงที่ตามมาจากการบริโภคน้ำตาล ควรจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลให้น้อยกว่า 1 แก้ว (ประมาณ 200-355 มิลลิลิตร) /สัปดาห์ ด้วย
รู้หรือไม่ว่าเครื่องดื่มต่าง ๆ มีน้ำตาลเท่าไหร่
หากพิจารณาปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้รับประทานได้ที่ 6 ช้อนชา/วัน หรือไม่เกิน 24 กรัม/วัน อาจดูเหมือนว่าปริมาณดังกล่าวไม่ได้ดูน้อยมากจนเกินไป แต่ทราบหรือไม่ว่าเครื่องดื่มแต่ละชนิดให้น้ำตาลในปริมาณเท่าไหร่ต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์ เริ่มจากชานมไข่มุกซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่นิยมมากในปัจจุบัน โดยเฉลี่ยจะมีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 35-60 กรัม/แก้ว เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาล 34-40 กรัม/กระป๋อง และเครื่องดื่มประเภทน้ำหวาน ชาชง หรือกาแฟต่าง ๆ ที่ระดับความหวานปกติจะมีปริมาณน้ำตาลประมาณ 40-60 กรัม/แก้ว จะเห็นว่าหากรับประทานเครื่องดื่มดังกล่าวแค่วันละ 1 แก้ว โดยไม่ได้ลดความหวานลงปริมาณน้ำตาลก็เกินกว่าที่ควรจะได้รับในแต่ละวันแล้ว ทั้งนี้ยังไม่รวมน้ำตาลที่อยู่ในอาหารประเภทอื่น ๆ อีก ดังนั้นหากต้องการลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการติดหวานเพื่อสุขภาพดีแบบยั่งยืน
การปรับพฤติกรรมการติดหวาน
Image by fabrikasimf on Freepik