เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


พยาธิใบไม้และปัจจัยเสี่ยงมะเร็งตับ


รองศาสตราจารย์ แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 32,972 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 20/07/2557
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

พยาธิใบไม้เป็นพยาธิตัวแบนชนิดหนึ่งซึ่งอาจเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งตับในคนได้ มีผู้ป่วยจำนวนมากในประเทศไทยที่เป็นมะเร็งตับจากพยาธิใบไม้ ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งด้านสุขภาพ แรงงาน เศรษฐกิจ 
เราสามารถแบ่งกลุ่มพยาธิโดยอาศัยรูปร่างลักษณะได้เป็น 2 แบบใหญ่ ได้แก่ พยาธิตัวกลม (nematodes) และพยาธิตัวแบน ที่แบนเป็นเส้นยาว (cestodes) และแบนคล้ายใบไม้ (trematodes) ที่เรามักเรียกว่าพยาธิใบไม้ อัตราการก่อโรคจากพยาธิทั้งสามชนิดที่พบในเมืองไทยจะต่างกันไปตามภูมิภาค 
องค์การอนามัยโลกได้รายงานเกี่ยวกับโรค foodborne trematodiases ซึ่งเป็นโรคพยาธิใบไม้ที่ได้รับมาจากอาหาร โดยกล่าวว่ามีประชากร 56 ล้านคนทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และอัฟริกาใต้ ที่ทนทุกข์ทรมานจากอาการของโรคนี้เนื่องจากตับอักเสบอันมีสาเหตุจากพยาธิใบไม้ ในอาหารที่รับประทาน 
พยาธิใบไม้ที่พบมากในไทยชนิดหนึ่งคือพยาธิใบไม้ตับ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Opisthorchis viverrini (รูปที่ 1) โรคพยาธิใบไม้ตับ พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย แม้ว่าจะมียาแผนปัจจุบันในการรักษา แต่การป้องกันตัวเองจากการรับพยาธิเข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะพยาธิจากอาหารนั้นอยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพราะการที่จะได้รับพยาธิใบไม้ที่สามารถก่อโรคได้นั้น สัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่เป็นพาหะต้องอยู่ในระยะที่เรียกว่า “ระยะติดต่อ” (infective stage) ในที่นี้ ตัวพยาธิจะอยู่ในระยะที่เรียกว่า metacercaria ที่พบในเนื้อปลาหลายชนิดในตระกูลปลาตะเพียน 
 
การได้รับพยาธิ เมื่อคน/สัตว์ กินปลาดิบที่ไม่ได้ทำให้สุกด้วยความร้อน (การปรุงโดยใช้น้ำส้มหรือบีบมะนาวทำให้เนื้อปลาอยู่ในสภาพคล้ายสุก แต่ไม่สามารถทำลายระยะติดต่อได้ทั้งหมด) ระยะติดต่อจะเข้าสู่กระเพาะ ไปที่ถุงน้ำดี-ท่อน้ำดีได้ใน 5 ชั่วโมง ต่อมาจะพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยที่ท่อน้ำดี หลังจากพยาธิสร้างไข่และขับออกมาพร้อมอุจจาระ เมื่อไข่พยาธิลงสู่แหล่งน้ำ ตัวอ่อนในไข่ (miracidium) จะเข้าสู่หอยน้ำจืด เจริญเป็นระยะ sporocyst --> radiae --> cercaria --> เข้าสู่ปลาจนได้ระยะติดต่อ metacercaria อีกครั้ง (รูปที่ 2) 
 
อาการ ผู้ที่มีพยาธิใบไม้จำนวนน้อยอาจไม่พบอาการผิดปรกติใดๆ หรืออาจมีอาการท้องอืดเฟ้อบ้าง แต่เมื่อได้รับพยาธิเพิ่มและนานวันเข้าจะพบอาการร้อนท้อง เบื่ออาหาร ท้องมาน ตับโต กดเจ็บบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา เมื่อรุนแรงขึ้นจะมีอาการดีซ่าน มีไข้ต่ำ ตัวเหลืองตาเหลือง บางครั้งพยาธิไปขวางทางเดินท่อน้ำดีทำให้ท่ออุดตัน มีการอักเสบติดเชื้อแทรกซ้อนมีไข้สูงได้ 
การตรวจวินิจฉัย จากการตรวจหาไข่ที่มีลักษณะจำเพาะจากอุจจาระผู้ป่วย หรือวิธีทางวิทยาภูมิคุ้มกัน 
การรักษา การใช้ยา Praziquantel ที่ผลการรักษาหายสูงถึงร้อยละ 95 แต่ต้องไม่รับระยะติดต่อพยาธิอีก 
พยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในปี 2506 พบหลักฐานจากงานวิจัยถึงความสัมพันธ์ของพยาธิใบไม้ ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในผู้ป่วยไทย ทำให้เกิดการศึกษาอย่างกว้างขวางด้านปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เช่น จำนวนพยาธิในตับ ความถี่ในการดื่มแอลกอฮอล์ ประวัติการกินยาขับพยาธิ จนถึงความแปรปรวนของลำดับเบสของเอนไซม์บางชนิดของผู้ป่วย เป็นต้น ทั้งนี้หน่วยงาน International Agency for Research on Cancer (IARC) ในหัวข้อ Monograph on the evaluation of carcinogenic risk to humans จัดให้การก่อมะเร็งของพยาธิใบไม้ตับ Opisthorchis viverrini และ Clonorchis sinensis (ที่พบมากในภูมิภาคอื่น) อยู่ในกลุ่ม 1 คือ ก่อมะเร็งได้ในคน (carcinogenic to humans) (Agents classified by the IARC Monographs, Vol.61,100B 2012) ในขณะที่การที่มีพยาธิ Opisthorchis felineus จัดอยู่ในกลุ่ม 3 (IARC Monographs, Vol.61, 1994) ปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดมะเร็งจากการมีพยาธิใบไม้ในร่างกาย โดยเฉพาะการมีพยาธิอยู่เป็นระยะเวลานานนั้น ได้แก่

  • การอักเสบเรื้อรังตามกระบวนการธรรมชาติ มีการหลั่งสารที่เรียกว่าไซโตไคน์ เป็นภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยที่ต้านต่อการก่อโรค
  • การสร้างอนุมูลอิสระปริมาณมาก ขณะเดียวกันก็มีผลในการทำลายดีเอ็นเอของเซลล์ผู้ป่วย จนเกินความสามารถในการซ่อมแซม ทำให้สารพันธุกรรมเกิดการผ่าเหล่ามีความผิดปรกติเกิดขึ้น
  • การดำรงชีพของพยาธิในตำแหน่งที่ไปเติบโตอยู่ มีการสร้างสารคัดหลั่ง การขยับเคลื่อนตัว ทำให้เกิดการระคายเคือง เซลล์เยื่อยุผิวท่อน้ำดีหลุดลอกช่วยกระตุ้นให้แบ่งตัว เยื่อบุจึงหนาขึ้น เกิดการคั่งของน้ำดีที่อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา


จากผลในสัตว์ทดลอง การได้พยาธิซ้ำๆ เกิดการสะสมการทำลายเซลล์ เมื่อการแบ่งเซลล์ใหม่เพิ่มมากขึ้น โอกาสเซลล์ผ่าเหล่าจึงมีมากขึ้น ดังนั้นผู้ที่กินอาหารที่มีระยะติดต่อของพยาธินี้เป็นประจำ ทำให้สะสมความผิดปรกติระดับเซลล์อย่างต่อเนื่อง จึงเพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งท่อน้ำดีได้ ประมาณการณ์ว่าคนไทย 6 ล้านคนมีพยาธิใบไม้ตับ ทำให้คนไทยถูกระบุว่ามีอัตราของโรคมะเร็งท่อน้ำดีสูงสุดในโลก

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Agents classified by the IARC Monographs, Vol61,100B 2012
  2. ธนพร หล่อปิยานนท์ โรคพยาธิใบไม้ตับ สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค 2551. ISSN 0857-6521, http://epid.moph.go.th
  3. นพ.โกศล รุ่งเรืองชัย บทความ จาก http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9520000139744
  4. พวงรัตน์ ยงวณิชย์ และสมชาย ปิ่นละออ กลไกการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีโดยอนุมูลอิสระจากการติดพยาธิใบไม้ตับ ศรีนครินทร์เวชสาร 20(3):150-154, 2548.
  5. รายงานเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ ปีที่ 35ฉบับที่ 2: 16 มกราคม2547
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้