เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย ใช้ของผู้หญิงได้หรือไม่?


รองศาสตราจารย์ ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 51,363 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 06/10/2556
อ่านล่าสุด 11 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ปัจจุบันจะพบว่ามีการโฆษณาขายเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายมากขึ้น และผู้ชายจะเข้ารับบริการเสริมความงามตามร้านตกแต่งทรงผม ทำสีผม นวดหน้า ดูดสิวเสี้ยน นวดตัวรวมทั้งการทำ ‘สปา’ ทั้งหลายไม่น้อยหน้าผู้หญิง ความจริงผู้ชายก็มีสิทธิมีผิวสะอาด ผิวสวย และชะลอแก่เช่นเดียวกับผู้หญิง ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า แชมพูสระผม ครีมบำรุงผิวทั้งหลายและอื่นๆ ทั้งหญิงและชายจะซื้อใช้กันได้ สินค้าเหล่านี้ไม่ควรจะมีเพศ เพราะพื้นฐานและลักษณะโครงสร้างของผิวหนังเหมือนกัน อาจจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่ปัจจุบันเครื่องสำอางจะเพิ่มประเภทให้ผู้ชายเลือกซื้อ เป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าของผู้ผลิต เช่น ครีมโฟมล้างหน้าสำหรับผู้ชาย ครีมบำรุงผิวสำหรับผู้ชาย ครีมกันแดดสำหรับผู้ชาย แชมพูสระผมสำหรับผู้ชาย บทความฉบับนี้จึงอยากจะให้ความรู้เพิ่มเติมกับผู้บริโภคถึงความแตกต่างของผิวหนังระหว่างชายหญิงว่าต่างกันมากน้อยเพียงไร สารมารถใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันได้หรือไม่

สรีระของผิวหนัง: ความแตกต่างระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย
ผู้หญิงและผู้ชายมีความแตกต่างในทางสรีระวิทยาอันเนื่องมาจากพันธุกรรมและฮอร์โมนเพศ ผิวหนังก็เช่นกัน ผิวหนังของผู้หญิงจะบางละเอียดกว่าผู้ชายแต่จะมีชั้นไขมันใต้ผิวหนังหนากว่า ในขณะที่ผู้ชายจะมีชั้นผิวหนังหนากว่าผู้หญิงตลอดตั้งแต่ช่วงอายุ 5 ถึง 90 ปี ความหนาแน่นของคอลลาเจนของชั้นผิวหนังซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่นและเต่งตึงจะค่อยๆบางลงเมื่ออายุมากขึ้น สำหรับผู้ชายจะโชคดีกว่าผู้หญิงตรงที่ คอลลาเจนในผู้ชายจะเสื่อมช้ากว่าจนถึงอายุ 90ปี ในขณะที่คอลลาเจนในผู้หญิงจะเสื่อมอย่างรวดเร็วในช่วงวัยหมดประจำเดือนประมาณอายุ 45 ปีเป็นต้นไป ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่าในวัยเดียวกัน ผู้หญิงจึงแก่เร็วกว่า ผิวหนังเหี่ยวเร็วกว่าผู้ชาย ฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงเมื่อลดน้อยลงในวัยทอง ทำให้ผิวหน้าและผิวหนังแห้งเหี่ยวอย่างเห็นได้ชัด สำหรับคุณสมบัติของผิวหนังในการปกป้องความชุ่มชื้นของผิวหนังไม่มีความแตกต่างกันในชายและหญิง

สิ่งที่แตกต่างชัดเจนอีกประการหนึ่งคือ ผิวหนังผู้ชายจะมีไขมันหลั่งออกมาจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังมากกว่า ทำให้ผิวหนังมันกว่าตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงอายุประมาณ 69ปี และเป็นเหตุให้ผิวหน้าผู้ชายมีโอกาสเกิดสิวได้ง่ายกว่าและมากกว่าในผู้หญิง ในผู้หญิง ผิวหนังจะสูญเสียความชุ่มชื้นเนื่องจากการหลั่งของไขมันจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังหมดประจำเดือนในขณะที่วัยทองของผู้ชายผิวหนังยังอยู่ในสภาพดีแม้จะไม่เต่งตึงเท่าวัยหนุ่มแต่ก็ไม่เสื่อมอย่างรวดเร็วเช่นในผู้หญิง

ผลของฮอร์โมนเพศชาย ‘แอนโดรเจน’ต่อการเจริญเติบโตและการหลุดร่วงของเส้นผม จะพบว่าผู้ชายมักจะมีปัญหาผมร่วงผมบางอันเนื่องมาจากฮอร์โมนแอนโดรเจน ในขณะที่ผู้หญิงจะมีผมดกผมหนาอันเนื่องมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจน


ความแตกต่างระหว่างเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายและผู้หญิง
โครงสร้างหลักของผิวหนังมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงจะไม่แตกต่างกันแม้ว่าจะแตกต่างกันในรายละเอียดอันเนื่องมาจากพันธุกรรมทางเพศและฮอร์โมนเพศดังที่กล่าวไปข้างต้น องค์ประกอบในเครื่องสำอางสำหรับทำความสะอาดผิว แชมพูสระผม ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด ครีมลบเลือนริ้วรอยแห่งวัยซึ่งผสมสารคอลลาเจน วิตามินอี และอื่นๆ ก็ยังคงอยู่ในหลักการเดียวกัน เพื่อบำรุง ซ่อมแซม และปกป้องผิวหนัง ครีมโฟมล้างหน้าไม่ว่าจะสำหรับผู้หญิงหรือผู้ชาย ก็ต้องประกอบด้วยสารทำความสะอาด ดังนั้นหลักการตลาดในการประชาสัมพันธ์เครื่องสำอางสำหรับผู้ชายจึงมักเน้นหนักที่ภาพลักษณ์สินค้าความเป็นผู้ชาย เช่น กลิ่นน้ำหอมผู้ชาย ภาชนะบรรจุสีหนักแน่น และตรอกย้ำคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ที่ ‘การแก้ไขจุดบกพร่อง’ (Corrective cosmetics) มากกว่าเครื่องสำอางทั่วไป เพื่อเป็นการดึงจุดขายของสินค้าแยกจากเครื่องสำอางผู้หญิง แต่ตามข้อเท็จจริงในสูตรตำรับและในหลักวิชาการแล้วไม่มีความแตกต่างสำหรับเครื่องสำอาง

โดยสรุปแล้ว ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ควรจะมีเพศ ควรจะใช้ได้ทั้งชายและหญิง ให้คุณประโยชน์เท่ากันในชายและหญิง ผู้ชายที่ดูแลผิวพรรณให้สะอาดตั้งแต่ผิวหน้าจรดปลายเท้าได้ รวมถึงเสื้อผ้าที่สะอาดสะอ้าน ย้อมจะดูดีแน่นนอนเมื่อเทียบกับผู้ชายที่ผิวหนังแลดูหยาบกร้าน ขาดการบำรุงหรือขาดการดูแล เป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำไปที่ผู้ชายในยุคปัจจุบันจะหันมาเอาใจใส่ผิวพรรณร่างกายตนเองมากขึ้นกว่าในอดีต

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Parveen S, Misra R, Sahoo S K, Nanopartcles: a boon to drug delivery, therapeutics, diagnostics, and imaging. Nanomed Nanotechnol Biol Med. 2012;8:147-66.
  2. Venugaranti VV, Perumal OP, Chapter 9, Nanosystems for Dermal and Transdermal Drug Delivery, In: Pathak Y, Thassu D. Drug Delivery Nanoparticles Formulation and Characterization. New York: Informa Healthcare USA, Inc., 2009:126-55.
  3. Vettor M, Perugini P, Scalia S, Conti B, Genta I, Modena T, et al. Poly(D,L-lactide) nanoencapsulation to reduce photoinactivation of a sunscreen agent. Int J Cosmet Sci. 2008;30:219-27.
  4. Luppi B, Cerchiara T, Bigucci F, Basile R, Zecchi V. Polymeric nanoparticles composed of fatty acids and polyvinylalcohol for topical application of susscreens. J Pharm Pharmacol. 2004;56:407-11.
  5. Borowska K, Laskowska B, Magon A, Mysliwiec B, Pyda M, Wolowiec S. PAMAM dendrimers as solubilizers and hosts for 8-methoxypsorelene enabling transdermal diffusion of the guest. Int J Pharm. 2010;398:185-9.
  6. Chauhan AS, Sridevi S, Chalasani KB, Jain AK, Jain SK, Jain NK, et al. Dendrimer-mediated transdermal delivery: enhanced bioavailability of indomethacin. J Control Release. 2003;90:335-43.
  7. Cheng Y, Xu Z, Ma M, Xu T. Dendrimers as Drug Carriers: Applications in Different Routes of Drug Administration. J Pharm Sci. 2008;97(1):123-43.

-->



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


37 วินาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 3 นาทีที่แล้ว
ขยะอาหาร (Food Waste) 3 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้