Knowledge Article


ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ยาลดความอ้วน Phentermine


บทความโดย คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
390,325 View,
Since 2010-02-10
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +

โรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือโรคเบาหวาน  การรักษาโรคอ้วนสามารถทำได้โดยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การรับประทานยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการผ่าตัด  ปัจจุบันพบว่าการรักษาด้วยวิธีการรับประทานยานั้นเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในวัยรุ่นหรือผู้หญิงที่มีค่านิยมในการอยากผอม การใช้ยาลดความอ้วนอย่างถูกต้องเป็นวิธีที่เห็นผลเร็วและมีประสิทธิภาพดี  แต่ในปัจจุบันมีการใช้ยาลดความอ้วนอย่างผิดๆ ทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในกลไกการออกฤทธิ์ อาการข้างเคียง และวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง รวมถึงประชาชนบางกลุ่มที่ไปแสวงหายาลดความอ้วนมาใช้โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลหรือตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองจากการใช้ยาซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพตามมาเป็นอย่างมาก





อย่างไรจึงเรียกว่า“อ้วน”

มาตรฐานสำคัญที่ใช้บ่งชี้ว่าบุคคลใดมีภาวะอ้วนหรือไม่นั้น ในปัจจุบันนิยมใช้ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) ซึ่งคำนวณได้จาก


ดัชนีมวลร่างกาย (BMI) = น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม
 (ส่วนสูงเป็นเมตร) 2

 

หลังจากนั้นจึงนำค่า BMI ที่คำนวณได้มาแปลผล ดังนี้

ภาวะ

ค่าที่คำนวณได้

ผอม

ต่ำกว่า18.5

ปกติ

18.5 - 23

น้ำหนักเกิน รูปร่างท้วม

23 – 27.5

อ้วน

27.5 ขึ้นไป

หมายเหตุ- การคำนวณวิธีนี้ ไม่ใช้กับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต สตรีมีครรภ์ และนักกีฬา

 

นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานอีกชนิดหนึ่งที่ใช้บ่งชี้ถึงความอ้วนได้ คือ เส้นรอบเอว (waist circumference) ซึ่งมาตรฐานรอบเอว (waist circumference) สำหรับคนไทย คือ

- ผู้ชายไม่ควรเกิน 36 นิ้วหรือ 90 ซม.

- ผู้หญิงไม่เกิน 32 นิ้ว หรือ 80 ซม.

 

วิธีการวัดเส้นรอบเอว ควรวัดรอบพุงให้ทำในช่วงเช้า ขณะยังไม่ได้รับประทานอาหาร

ตำแหน่งที่วัดไม่ควรมีเสื้อผ้าปิด โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. อยู่ในท่ายืน
  2. ใช้สายวัด วัดรอบเอวโดยวัดผ่านสะดือ
  3. วัดในช่วงหายใจออก(ท้องแฟบ) โดยให้สายวัดแนบกับลำตัวไม่รัดแน่นและ ให้ระดับของสายวัดที่วัดรอบเอววางอยู่ในแนวขนานกับพื้น

 

ยาชุดลดความอ้วน : ใช้ผิดมีสิทธิ์ตาย

จากการสำรวจของกองควบคุมวัตถุเสพติดพบว่ายาชุด “ยาลดน้ำหนัก” หรือ “ยาลดความอ้วน” มักจะประกอบไปด้วยยาหลายชนิดเพื่อช่วยเสริมผลในการลดน้ำหนัก เช่น ยาลดความอยากอาหาร ชื่อ เฟนเทอร์มีน (phentermine) ยาธัยรอยด์ฮอร์โมน ยาขับปัสสาวะ และยาระบาย ซึ่งยาเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้หากมีการใช้ผิดวิธี เช่น

- การใช้ยาขับปัสสาวะเป็นการลดน้ำหนักโดยทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายลดลงเท่านั้น ซึ่งผลเสียคือ ร่างกายสูญเสียแร่ธาตุที่จำเป็นในการทำงานของร่างกายออกไปกับปัสสาวะด้วย ทำให้มีอาการผิดปกติของหัวใจ-สมองซึ่งทำให้หัวใจวายหรือหมดสติได้

- การใช้ยาธัยรอยด์ฮอร์โมนเพื่อเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย มีผลทำให้เพิ่มการทำลายโปรตีนของกล้ามเนื้อ ใจสั่น หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นต้น

- ยาลดความอยากอาหาร “เฟนเทอร์มีน”(phentermine) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางและมีผลทำให้เกิดอาการติดยาได้ ดังนั้นจึงถูกจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 ซึ่งต้องมีการควบคุมการซื้อขายไว้สำหรับโรงพยาบาลหรือคลินิกเพื่อจ่ายให้กับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสมแล้วเท่านั้นซึ่ง phentermine มีข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคอ้วนโดยตรงแต่ให้ใช้ในระยะสั้นเท่านั้น เช่น ไม่ควรเกิน 3-6 เดือน ข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากการรับประทานยา phentermine ยังคงมีให้เห็นอยู่เป็นระยะและไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป

Phentermine เป็นยาลดความอ้วนที่ใช้เสริมกับวิธีการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดย phentermine จะทำหน้าที่ลดการทำงานของศูนย์ควบคุมความหิวบริเวณด้านข้างของสมองส่วนไฮโปธาลามัส ทำให้มีการเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาท 2 ชนิด คือ นอร์อีพิเนฟริน (norepinephrine; NE) และ โดปามีน (dopamine; DA)ถที่สมอง จึงมีผลทำให้ลดความอยากอาหารลงอย่างมาก อย่างไรก็ดีสารสื่อประสาทเหล่านี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความอยากอาหารแล้วยังส่งผลกระทบอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพชีวิตได้ เช่น ทำให้นอนไม่หลับ กระวนกระวาย มีอาการเคลิ้มฝัน ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ปากแห้ง เหงื่อออก คลื่นไส้ ท้องผูก มองเห็นภาพไม่ชัด มองเห็นสีผิดปกติไปจากเดิม และผลจากการเพิ่มสารสื่อประสาทโดปามีนอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อจิตประสาท เช่น หงุดหงิด หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน และเกิดอาการติดยาได้

เมื่อรับประทานยา phentermine ติดต่อกันไประยะหนึ่ง อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการซึมเศร้าได้ และอาจรับประทานยามากกว่าเดิม เนื่องจากยาไปมีผลทำให้ระดับ NE และ DA ลดน้อยลงอย่างมาก ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะเบื่ออาหารอย่างมาก (anorexia)จนทำให้ภูมิต้านทานลดลงจากการขาดสารอาหาร ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

 นอกจากนี้ ในกรณีที่หยุดรับประทานยาผิดวิธีก็อาจทำให้เกิดภาวะถอนยาได้อีกเช่นกัน ซึ่งอาการถอนยาที่เกิดขึ้น ได้แก่ มีอาการอ่อนเพลีย ง่วงซึม ไม่มีแรง ซึมเศร้า และหลับเป็นเวลานาน จะเห็นได้ว่าการใช้ phentermine ผิดวิธีสามารถก่อให้เกิดปัญหาได้มากและมีมอันตรายสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว เช่น

- ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ

- ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดอุดตัน

- ผู้ป่วยโรคต้อหิน (glaucoma)

- ผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานมากเกิน

- ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการใช้ยาในทางที่ผิด

- ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคจิต หรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ

- ผู้ป่วยขณะที่กำลังได้รับยากลุ่ม  monoamine oxidase inhibitors (MAOI)รวมทั้งที่   เคยได้รับ  MAOI  มาก่อนหน้านี้ไม่เกิน  14  วัน

ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ถือเป็นข้อห้ามใช้ของยา phentermineเนื่องจากผลข้างเคียงจากยาจะมีผลทำให้โรคประจำตัวของผู้ป่วยมีสภาวะเลวลง

 

 

ดังนั้นการไปหาซื้อยาชุดหรือยาลดความอ้วนมาใช้เอง ทั้งจากคลินิกและสถานเสริมความงามที่ไม่มีแพทย์ที่มักไม่มีการตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียด รวมถึงจากร้านขายยาที่ลักลอบนำมาขาย อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

การใช้ยา phentermine ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ?

1. ไม่มีการไปแสวงหายานี้มาใช้โดยไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง

2. แพทย์ต้องเป็นผู้ที่สั่งจ่ายเท่านั้น และยานี้ห้ามจำหน่ายในร้านยา

3. แพทย์ควรประเมินว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นจะต้องได้รับยาลดความอ้วนหรือไม่

   โดยอ้างอิงตามเกณฑ์ข้อบ่งใช้ของยาลดความอ้วน คือ

- BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กก/ม2
- BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 27 กก/ม2 ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงผิดปกติ

4. ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการใช้ยาลดความอ้วน ผู้ป่วยต้องไม่มีข้อห้าม

ของการใช้ยา phentermine

5. ควรเริ่มด้วยขนาดยาต่ำๆ ก่อน เช่น 7.5 mg ในตอนเช้า ไม่เกิน 9.00 น. เพราะถ้าใช้

   ยาในช่วงกลางวันอาจทำให้นอนไม่หลับได้ จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มขนาดยาขึ้นเป็น 15

   mg อย่างช้าๆ

6. มีการติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

7. ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน เพราะมีโอกาสทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้

8. ต้องระวังปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้นได้กับ phentermine

ข้อมูลจากการศึกษาและคำแนะนำจากองค์กรต่างๆ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือ องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (USFDA) แนะนำให้ใช้ phentermine ในระยะสั้นเท่านั้น (ไม่เกิน 3เดือน) และต้องมีความระมัดระวังในการรับประทานอาหารหรือยาอื่นๆ ร่วมกับ phentermine เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา หรือที่เรียกว่า “ยาตีกัน” และส่งผลให้ผู้ที่รับประทานได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงหรือความเป็นพิษของยาได้ในที่สุด

การรักษาโรคอ้วนที่ดี ประหยัด และปลอดภัยที่สุด คือ การลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารอย่างถูกวิธี การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ปัจจัยหลายประการ เช่น การตามใจปาก ความเกียจคร้าน ภาระงานที่รัดตัว การขาดความมั่นใจในรูปร่าง ทำให้ผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วนไม่มีเวลา หรือไม่กล้าที่จะปฏิบัติตามวิธีการรักษาดังกล่าว ทำให้การใช้ยาลดความอ้วนเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับบุคคลเหล่านั้น อย่างไรก็ดีแม้ว่าการใช้ยาลดความอ้วนจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีและเห็นผลเร็ว แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นก่อนตัดสินใจรับประทานยาลดความอ้วนหรือยาใดๆ ตาม ควรศึกษาวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องและข้อมูลความปลอดภัยของยาจากเภสัชกร หรือเข้ารับคำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ทางด้านอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อ หรือโภชนวิทยา จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาได้มากที่สุด

 

Reference:

  1. Phentermine. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2010 Jan 13. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010 Feb 3].
  2. กองควบคุมวัตถุเสพติด. โรคอ้วนและปัญหาการใช้ยาลดความอ้วนในประเทศไทย[Online]. [cited 2010 Feb 3]. Available from: URL: http://www.fda.moph.go.th/youngfda/knowledge/page5.shtm.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.