Knowledge Article


ยาแก้วิงเวียน ระวัง! อย่าใช้พร่ำเพรื่อ


รองศาสตราจารย์.ดร.ภญ. จุฑามณี สุทธิสีสังข์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
867,418 View,
Since 2011-09-11
Last active: 5m ago
https://tinyurl.com/22gzqcqx
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


อาการวิงเวียนศีรษะเป็นความเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งสาเหตุของการเกิดอาการวิงเวียนศีรษะมีมากมายหลากหลายสาเหตุ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยบางรายมีอาการดังกล่าวบ่อยๆ และมักไปซื้อยารับประทานเอง และเมื่อใช้บ่อยจนรู้จักยาแล้ว ก็เรียกหาและใช้ยาเหล่านั้นเป็นประจำ หรือในบางกรณี ไปพบแพทย์แล้วได้รับยาแก้วิงเวียนศีรษะ ซึ่งเมื่อรับประทานแล้วได้ผลดีก็จะนำตัวอย่างยาไปซื้อรับประทานต่อเองเป็นระยะเวลานาน



>มียาแก้วิงเวียนอยู่ชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยมีชื่อสามัญว่า ฟลูนาริซีน (flunarizine) ซึ่งมีชื่อทางการค้าที่หลากหลายเช่น Sibelium, Fludan, Fluricin, Poli-flunarin, Liberal, Simoyiam, Sobelin, Vanid, Vertilium เป็นต้น มักมีลักษณะเป็นแคบซูลสีแดงและเทา ซึ่งยาดังกล่าวในทางการแพทย์ มีข้อบ่งใช้ในการรักษาอาการวิงเวียน (vertigo) และป้องกันไมเกรน ตัวยาดังกล่าวสามารถเข้าไปในสมองและออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดในสมองและปรับระดับสารสื่อประสาทบางชนิดในสมองทำให้ป้องกันไมเกรนและลดอาการวิงเวียนศีรษะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ หรือใช้ยาเองต่อเนื่อง โดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลางและส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อลายได้ โดยอาการที่พบมักเป็น อาการเดินได้ช้าลง ก้าวเดินผิดปกติ มือสั่น กล้ามเนื้อลิ้นพลิก พูดไม่ชัด อาการข้างเคียงเหล่านี้มักพบในผู้ป่วยเพศหญิงที่อายุมาก และมีประวัติการรับประทานยานี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน รับประทานยาในขนาดที่สูงจนเกินไปเช่นครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ซึ่งเป็นขนาดยาที่ผิด (ขนาดยาที่ถูกต้องคือครั้งละ 1-2 แคปซูลหรือ 5-10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง) หรือรับประทานร่วมกับยาอื่นที่มีผลเพิ่มระดับยาฟลูนาริซีนให้มากขึ้น เหตุผลที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เกิดจากการที่ยาฟลูนาริซีน มีผลลดการทำงานของสารสื่อประสาทที่สำคัญกับการเคลื่อนไหวของร่างกายที่มีชื่อว่า โดปามีน (dopamine) ในระบบประสาทส่วนกลางบริเวณเบซัลแกงเกลี่ย (basal ganglia) ทำให้การส่งสัญญาณประสาทเพื่อควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อลายหลายแห่งในร่างกายผิดปกติไป โดยทั่วไปหากใช้ยานี้ในขนาดต่ำและระยะเวลาสั้นๆ จะไม่เกิดอาการดังกล่าว

นอกจากยาฟลูนาริซีนแล้ว มียาอีกชนิดที่นิยมใช้เพื่อแก้อาการวิงเวียนเช่นกัน ได้แก่ยาซินนาริซีน (cinnarizine) และบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมักใช้ยาทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน หรือใช้ยาซินนาริซีนทดแทนยาฟลูนาริซีน ยาซินนาริซีนเองก็สามารถทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติได้เช่นเดียวกันกับยาฟลูนาริซีนหากใช้ในขนาดสูงและอย่างต่อเนื่อง

ผู้ที่มีอาการวิงเวียนศีรษะบ่อยครั้งและมักรับประทานยา 2 ชนิดนี้อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะที่ซื้อมารับประทานเองโดยไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์หรือเภสัชกร ควรตระหนักถึงผลเสียดังกล่าวด้วย อาการข้างเคียงดังกล่าวถึงแม้จะหายไปได้เองเมื่อหยุดในผู้ป่วยส่วนใหญ่ แต่ในผู้ป่วยบางรายพบว่า อาการดังกล่าวอาจคงอยู่นานและอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย จึงควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม ยานี้ยังคงมีประโยชน์โดยเฉพาะในการป้องกันไมเกรนและบรรเทาอาการวิงเวียนที่มีผลจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบการทรงตัวในหูส่วนใน (vestibular system) หากใช้อย่างถูกต้องภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์


Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.