Knowledge Article


Long COVID-19


อาจารย์ ดร.ภก. วสุ ศุภรัตนสิทธิ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://st1.thehealthsite.com/wp-content/uploads/2022/04/longcovid.jpg?impolicy=Medium_Widthonly&w=710
4,029 View,
Since 2022-05-26
Last active: 2h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


          เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมหลังจากรักษาโรคติดเชื้อ SARS CoV-2 หรือโคโรน่าไวรัส 2019 (COVID-19) หายแล้ว ยังมีอาการไอ หรือเหนื่อยเพลียอยู่ทั้งที่กักตัวครบ 10 วันแล้วและไม่มีสาเหตุอื่น องค์การอนามัยโลก (World health organization; WHO) ให้คำนิยามภาวะดังกล่าวว่า “Post COVID-19 condition” หรือที่เราเรียกกันว่า “Long COVID” หรือ “Post COVID syndrome” ซึ่งภาวะดังกล่าวจะปรากฏในผู้ที่มีประวัติยืนยันการติดเชื้อ SARS CoV-2 มักเกิดขึ้น 3 เดือนหลังมีอาการ และเป็นอย่างน้อย 2 เดือนโดยไม่สามารถหาสาเหตุอื่นได้ อาจเกิดต่อเนื่องจากการติดเชื้อหรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้เช่นกัน



ภาพจาก : https://akm-img-a-in.tosshub.com/indiatoday/images/story/202105/Covid-protection.jpg?pQD451sl63bBhqLU8Gj7hAZP1oJX_tmi&size=1200:675

          ปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกการเกิดของภาวะนี้อย่างแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะมีการตอบสนองของร่างกายโดยการหลั่ง cytokine ชนิดต่าง ๆ ในระหว่างติดเชื้อไวรัส SARS CoV-2 ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด สมอง หัวใจ และเกิดอาการต่าง ๆ ตามมาภายหลังการติดเชื้อ ปัจจัยเสี่ยงที่พบในหลาย ๆ การศึกษาคือ ผู้ป่วยเพศหญิง อายุมาก ภาวะอ้วน มีโรคประจำตัว มีอาการมากกว่า 5 อาการในช่วง 1 สัปดาห์แรก เป็นต้น

สำหรับอาการที่พบบ่อยในผู้ที่มีภาวะ Long COVID ได้แก่
  • เหนื่อยเพลีย
  • หายใจลำบาก
  • การทำงานของหัวใจผิดปกติ
  • ปัญหาเรื่องความจำและสภาพจิตใจ
  • การได้กลิ่นผิดปกติ
  • อารมณ์ผิดปกติ
  • นอนไม่หลับ
การรักษา

          แพทย์จะประเมินผู้ป่วยจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุอื่นก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นภาวะ Long COVID เมื่อวินิจฉัยภาวะ Long COVID แล้ว แพทย์จะประเมินระดับความรุนแรงตามอาการแสดงของผู้ป่วย และรักษาตามแนวทางปฏิบัติต่อไป

          การรักษาโดยส่วนใหญ่จะเป็นการให้ความรู้เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจในภาวะดังกล่าว เพื่อเป็นการลดความเครียดและกังวลของผู้ป่วยและครอบครัวจากภาวะดังกล่าวด้วย โดยการรักษาจะเป็นการดูแลแบบองค์รวมกับสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งอาจจะมีทั้งการใช้ยา เช่น การใช้ยาในกลุ่ม Benzodiazepines ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหานอนไม่หลับ และการรักษาที่ไม่ใช่ยา เช่น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย จะแนะนำการทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกาย และการทำจิตบำบัดมาใช้ในการรักษาตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วย เป็นต้น

          จากการสำรวจของกรมการแพทย์พบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อ SARS CoV-2 แม้ขณะติดเชื้อจะมีอาการไม่มาก แต่ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาว ทำให้คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพทั่วไปลดลงจากก่อนการติดเชื้อ แม้ว่าในระลอกนี้ (ตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคม พ.ศ.2565) จะเป็นการติดเชื้อ SARS CoV-2 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่ค่อยมาก แต่มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่พบภาวะ Long COVID ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาและอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาว

          ถ้าท่านหรือคนใกล้ชิดติดเชื้อ SARS CoV-2 แล้วควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ ภายหลังการติดเชื้อ หากมีความผิดปกติควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนท่านที่ยังไม่เคยติดเชื้อดังกล่าว ควรยึดข้อปฏิบัติตามมาตรการ DMHTTA ได้แก่
Distancing เว้นระยะระหว่างบุคคล หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น
Mask wearing สวมใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
Hand washing ล้างมือบ่อย ๆ
Temperature ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าใช้บริการ เพื่อคัดกรองผู้ที่อาจไม่สบาย
Testing ตรวจหาเชื้อ SARS CoV-2
Application ติดตั้งและใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ” ก่อนเข้า-ออกสถานที่ทุกครั้งและเข้ารับการฉีดวัคซีนตามความเหมาะสม


          หากรู้สึกมีอาการผิดปกติให้รีบพามาโรงพยาบาล รวมทั้งการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ยากับท่านเอง และอย่าลืมว่า “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ”

เอกสารอ้างอิง
  1. กรมการแพทย์. การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือ ภาวะ Long COVID สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข [cited 2022 May 19]. Available from: https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=157&fbclid=IwAR22ngEtAxRbwbDm0xXsGqVncXklWk9i_hK-WK3lE2UfZGO6kY2KsUqaF-A
  2. ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค. กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือประชาชนเคร่งครัดมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 [cited 2022 May 19]. Available from: https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=18373&deptcode=brc
  3. Raveendran AV, Jayadevan R, Sashidharan S. Long COVID: An overview. Diabetes & Metabolic Syndrome: Clinical Research & Reviews. 2021 May;15(3):869–75.
  4. WHO. A clinical case definition of post COVID-19 condition by a Delphi consensus, 6 October 2021 [cited 2022 May 19]. Available from: https://www.who.int/publications/i/item/WHO-2019-nCoV-Post_COVID-19_condition-Clinical_case_definition-2021.1
  5. Yong SJ. Long COVID or post-COVID-19 syndrome: putative pathophysiology, risk factors, and treatments. Infectious Diseases. 2021 Oct 3;53(10):737–54.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.