Knowledge Article


ปวดศีรษะไมเกรนกับการทำสมาธิ


อาจารย์ ดร.ภญ. ชญานิน กีรติไพบูลย์
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://kalyanamitra.org/th/images/ModernDhamma/59/01/modern_590111_01.jpg
9,629 View,
Since 2022-05-16
Last active: 17h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


การทำสมาธิ เป็นการรับรู้หรือการรู้สึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น รับรู้สิ่งที่กำลังทำอยู่ และรับรู้ถึงสภาพแวดล้อม หรือบางคนอาจเรียกว่า การอยู่กับปัจจุบัน การทำสมาธิเป็นหนึ่งในเทคนิคที่ใช้บรรเทาความเครียดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการปวดศีรษะไมเกรน งานวิจัยล่าสุดพบว่าการทำสมาธิช่วยลดความถี่และความรุนแรงของการปวดศีรษะไมเกรนได้1 อย่างไรก็ตามแนวทางหลักในการป้องกันและรักษาการปวดศีรษะไมเกรนในปัจจุบันคือการรับประทานยา และบ่อยครั้งที่บุคลากรสาธารณสุขพบปัญหาจากการใช้ยาในกลุ่มผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรน เช่น อาการข้างเคียงจากยา การปวดศีรษะที่เกิดจากการใช้ยามากเกินความจำเป็น และในผู้ป่วยบางรายไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา เป็นต้น ดังนั้นบทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เผยแพร่ประโยชน์ของการทำสมาธิต่อการบรรเทาอาการการปวดศีรษะไมเกรน



ภาพจาก : https://www.vejthani.com/wp-content/uploads/2020/03/Migraine-headache-Th.jpg

เมื่ออ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจเกิดคำถามว่าการทำสมาธิส่งผลต่อร่างกายเราอย่างไร แล้วทำไมถึงบรรเทาการปวดศีรษะไมเกรนได้ นักวิจัยพบว่าการทำสมาธิมีผลโดยตรงต่อการทำงานของสมอง เนื่องจากการทำสมาธิสามารถยับยั้งการทำงานของสมองในส่วนที่ตอบสนองต่อความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งทั้งความเครียดและความวิตกกังวลเป็นปัจจัยที่กระตุ้นการปวดศีรษะไมเกรน นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่าภาพสแกนสมองของกลุ่มผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนมีปริมาตรของสมองเนื้อสีเทาซึ่งเป็นส่วนของเซลล์ประสาทลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับอาสาสมัครที่ไม่เคยมีประวัติการปวดศีรษะไมเกรน2,3 โดยเฉพาะบริเวณที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ การรับความรู้สึก ความจำ การตัดสินใจ การควบคุมตนเอง และการแก้ปัญหา โดยผลการศึกษายังแสดงให้เห็นอีกว่าปริมาตรสมองเนื้อสีเทาที่ลดลงมีความสัมพันธ์กับความถี่และระยะเวลาของการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนที่เพิ่มขึ้น3 ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสมองสีเทาจึงอาจเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการปวดศีรษะไมเกรน 4

นอกจากนี้ผลการวิจัยยังแสดงถึงเปลี่ยนแปลงปริมาณสารเคมีภายในสมองของผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรน5 เนื่องจากการที่ปริมาตรของเนื้อสมองสีเทาลดลง ได้แก่ การมีปริมาณ dopamine, melatonin และ serotonin ลดลง แต่มีปริมาณ cortisol และ norepinephrine เพิ่มขึ้น แสดงว่าให้เห็นว่าการทำสมาธินอกจากสามารถเพิ่มปริมาตรของเนื้อสมองส่วนสีเทาแล้วยังช่วยปรับปริมาณสารเคมีในสมองได้6,7,8,9 ผลการวิจัยระบุว่าสารเคมีในสมอง ได้แก่ dopamine, melatonin และ serotonin มีปริมาณเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ที่ฝึกสมาธิ โดย dopamine มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทักษะการเรียนรู้, melatonin เป็นฮอร์โมนที่ควบคุมวงจรการหลับ-ตื่น ส่วน serotonin หรือสารแห่งความสุข ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ให้คงที่ ในทางตรงข้ามการทำสมาธิช่วยลดปริมาณ cortisol และ norepinephrine ซึ่งเป็นสารเคมีที่ตอบสนองต่อความเครียดและความวิตกกังวล 6,7,8,9 ดังนั้นการทำสมาธิจึงปรับทั้งการทำงานและโครงสร้างของสมอง ช่วยบรรเทาการปวดศีรษะไมเกรน อย่างไรก็ตามการศึกษากลไกในระดับโมเลกุลของการทำสมาธิต่อการบรรเทาการปวดศีรษะไมเกรนยังจำเป็นต้องทำการศึกษาต่อไป

หากพิจารณาเชิงเหตุผลแบบที่ไม่ต้องอาศัยข้อมูลจากงานวิจัย การที่เรามีสมาธิจะทำให้เราอยู่กับปัจจุบัน ลดการใช้ความคิด มีสติ และสามารถพิจารณาว่าสิ่งใดทำให้เกิดความเครียดหรือกังวล เมื่อรู้สาเหตุแล้วการแก้ปัญหาย่อมไม่ใช่เรื่องยากนะคะ สุดท้ายนี้ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพกาย และใจที่สดชื่นแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บค่ะ

เอกสารอ้างอิง
  1. Rosenberg K (2021) Mindfulness Meditation has Benefits for Migraine Sufferers. American Journal of Nursing 121: 71.
  2. Kim JH, Suh SI, Seol HY, Oh K, Seo WK, Yu SW, Park KW, Koh SB (2008) Regional grey matter changes in patients with migraine: a voxel-based morphometry study. Cephalalgia 28:598-604.
  3. Schmitz N, dmiraal-Behloul F, Arkink EB, Kruit MC, Schoonman GG, Ferrari MD, van Buchem MA (2008b) Attack frequency and disease duration as indicators for brain damage in migraine. Headache 48:1044-1055.
  4. Jia Z and Yu S (2017) Grey matter alterations in migraine: A systematic review and meta-analysis. NeuroImage: Clinical 14:130-140.
  5. In book: Meditation – Neuroscientific Approaches and Philosophical Implications, Edition: Springer Series: Studies in Neuroscience, Consciousness and Spirituality (Vol. 2 / Edition 2014), Chapter: The Neurobiology of Meditation and Mindfulness, Publisher: Springer International Publishing, Editors: Schmidt S, Walach H, pp.153-173)
  6. Vestergaard-Poulsen P, van BM, Skewes J, Bjarkam CR, Stubberup M, Bertelsen J, Roepstorff A (2009) Long-term meditation is associated with increased gray matter density in the brain stem. Neuroreport 20:170-174
  7. Lazar SW, Kerr CE, Wasserman RH, Gray JR, Greve DN, Treadway MT, McGarvey M, Quinn BT, Dusek JA, Benson H, Rauch SL, Moore CI, Fischl B (2005) Meditation experience is associated with increased cortical thickness. Neuroreport 16:1893-1897.
  8. Grant JA, Courtemanche J, Duerden EG, Duncan GH, Rainville P (2010) Cortical thickness and pain sensitivity in zen meditators. Emotion 10:43-53 Holzel BK, Carmody J, Vangel M, Congleton C, Yerramsetti SM, Gard T, Lazar SW (2011) Mindfulness practice leads to increases in regional brain gray matter density. Psychiatry Research: Neuroimaging 191:36-43.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.