Knowledge Article


ข้อควรรู้เบื้องต้นเรื่อง “แอนติเจน เทสต์ คิท” เพื่อคัดกรองโรคโควิด-19


อาจารย์ ดร.ทนพ.เมธี ศรีประพันธ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://images.workpointnews.com/workpointnews/2021/07/12185240/1626090751_87430_web-2021-07-12T184711.428.jpg
206,339 View,
Since 2021-07-13
Last active: 18m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เป็นสาเหตุสำคัญในการก่อโรค หนึ่งในปัจจัยที่มีผลในการควบคุมการระบาดของโรคที่สำคัญคือการตรวจเชิงรุก (active case finding) ให้ได้มากที่สุดเพื่อแยกผู้ที่ติดเชื้อเข้ารับการรักษาพยาบาลอันเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรค ปัจจุบันเทคนิคทางห้องปฏิบัติการที่ใช้เป็นมาตรฐานในตรวจยืนยันโรค โควิด-19 คือการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสด้วย real-time reverse transcription polymerase chain reaction (real-time RT-PCR หรือ rRT-PCR) ข้อจำกัดของวิธีข้างต้นคือจะต้องใช้ระยะเวลานานในการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการทางเทคนิคการแพทย์ โดยทั่วไปแต่ละรอบของการตรวจวิเคราะห์จะใช้เวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง และสามารถออกรายงานผลการตรวจได้ภายใน 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์เป็นจำนวนมาก อาจทำให้ระยะเวลาในการออกรายงานผลการตรวจนานขึ้น จึงมีการเสนอให้ใช้ชุดตรวจคัดกรองแบบรวดเร็วหรือ Rapid test เพื่อช่วยในการคัดกรองโรคดังกล่าวร่วมกับการตรวจด้วยวิธี real-time RT-PCR โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในชุมชนเป็นวงกว้าง ซึ่งชุดตรวจคัดกรองดังกล่าวมีชื่อว่า “แอนติเจน เทสต์ คิท” (Antigen test kit, ATK, Rapid antigen test) ชุดตรวจนี้ใช้เวลาตรวจ อ่านผลการตรวจด้วยตาเปล่าและออกผลการตรวจได้ในระยะเวลา 15-30 นาที

“แอนติเจน เทสต์ คิท” เป็นชุดตรวจที่ใช้ตรวจหาโปรตีนหรือแอนติเจนของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ส่วนมากจะเป็นการตรวจหาโปรตีนชนิด nucleocapsid หรือ N-protein วิธีการสังเกตชุดตรวจประเภทนี้คือ ตัวชุดตรวจ (ทั้งซองบรรจุและชุดตรวจ)จะเขียนข้อมูลชัดเจนว่าเป็นชุดตรวจแอนติเจน (Ag) และเมื่อดูที่ตัวชุดตรวจจะเห็นตัวอักษรภาษาอังกฤษที่สำคัญในส่วนที่ใช้อ่านผลคือ “T” (T คือ Test line สำหรับอ่านผลการทดสอบในตัวอย่างตรวจว่าเป็นบวกหรือลบ) และ “C” ( C คือ control line หรือแถบควบคุมที่จะบอกว่าผลการทดสอบน่าเชื่อถือหรือไม่) ในขณะที่ชุดตรวจอีกประเภทหนึ่งคือ “แอนตี้บอดี้ เทสต์ คิท” (Antibody test kit) ที่ใช้ตรวจภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 จะแสดงอักษรภาษาอังกฤษที่สำคัญในส่วนที่ใช้อ่านผลในชุดตรวจคือ “M”, “G” และ “C” ตามลำดับ (M แสดงถึงแถบสีของแอนติบอดีชนิด M หรือ IgM, G แสดงถึงแถบสีของแอนติบอดีชนิด G หรือ IgG) รวมถึงตัวอย่างตรวจที่ใช้ก็มีความแตกต่างกันด้วย โดยการตรวจแอนติบอดีด้วยชุด Antibody test kit จะใช้ตัวอย่างตรวจที่เป็นเลือด (ดังแสดงในภาพที่ 1)



ตัวอย่างที่ใช้ตรวจกับชุด “แอนติเจน เทสต์ คิท”

ตัวอย่างตรวจที่ใช้จะขึ้นอยู่กับชุดตรวจแต่ละยี่ห้อ โดยทั่วไปจะนิยมใช้ตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ตัวอย่างที่ได้จากการป้ายหลังโพรงจมูก (nasopharyngeal swab หรือ NPS) และป้ายจากลำคอ (throat swab หรือ TS) นอกจากนี้ยังสามารถใช้ตัวอย่างตรวจอื่น ๆ ได้เช่น ตัวอย่างตรวจจากการป้ายในโพรงจมูก (nasal swab) หรือน้ำลาย (saliva) เป็นต้น ทั้งนี้การใช้ตัวอย่างตรวจอื่น ๆ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุในคู่มือการใช้ของชุดตรวจแต่ละยี่ห้อ

การตรวจการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ด้วยวิธี “แอนติเจน เทสต์ คิท” สามารถเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหลังสงสัยว่าสัมผัสเชื้อหรือมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อตั้งแต่ 3-5 วันเป็นต้นไปจนถึง 14 วัน ส่วนใหญ่จะเก็บตัวอย่างตรวจในช่วง 3-7 วัน โดยค่าเฉลี่ยวันแรกที่สามารถตรวจพบเชื้อได้จะอยู่ที่วันที่ 5 หลังสัมผัสเชื้อหรือมีความเสี่ยง นอกจากนี้ไม่แนะนำให้เก็บตัวอย่างหลังวันที่ 14 มาตรวจด้วย “แอนติเจน เทสต์ คิท” เนื่องจากปริมาณของไวรัสอาจลดลงและทำให้ผลการทดสอบไม่แม่นยำได้ (อาจต้องตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ทดแทน) นอกจากนี้ควรเริ่มเก็บตัวอย่างตรวจครั้งแรกในช่วงวันแรกที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจหรือมีอาการสงสัยและเข้ากันได้กับโรคโควิด-19 และอาจต้องตรวจซ้ำอีกครั้งในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมเช่น 3-5 วันหลังจากการตรวจครั้งแรกเพื่อให้ผลการตรวจมีความแม่นยำและน่าเชื่อถือมากขึ้น

การแปลผลการตรวจด้วยชุด “แอนติเจน เทสต์ คิท”

วิธีการแปลผล “แอนติเจน เทสต์ คิท” แสดงในภาพที่ 2

  1. ให้สังเกตการขึ้นของแถบสีบริเวณ “C” หรือ control ก่อน ถ้าไม่มีแถบสีขึ้นจะไม่สามารถแปลผลการทดสอบได้ (invalid result) ผู้ตรวจต้องเก็บตัวอย่างและดำเนินการทดสอบอีกครั้ง
  2. แปลผลจากการขึ้นของแถบสีในส่วนของ “T” ถ้ามีแถบสีขึ้นในส่วน “T” และ “C” แสดงว่าการทดสอบให้ผลบวก (positive) นั่นคือกำลังติดเชื้อ SARS-CoV-2 หรือพบเชื้อก่อโรคโควิด-19 ซึ่งจะต้องยืนยันด้วยการตรวจวิธี rRT-PCR ก่อนเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลต่อไป
  3. ถ้ามีแถบสีขึ้นบริเวณ “C” อย่างเดียวแสดงว่าการทดสอบให้ผลลบ (negative) ซึ่งผลเป็นลบไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยไม่ติดเชื้อ แต่อาจมีปริมาณเชื้อน้อยมากจนตรวจไม่พบ ดังนั้นจะต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ ในการแปลผลร่วมด้วยเช่น ประวัติเสี่ยงหรือประวัติการสัมผัสผู้ติดเชื้อ อาการทางคลินิก หรือการเก็บตัวอย่างดำเนินการในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้อาจต้องมีการตรวจซ้ำอีกครั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสมเช่น 3-5 วันหลังจากการตรวจครั้งแรกร่วมกับการปฏิบัติตัวตามลักษณะความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 เช่นเฝ้าสังเกตอาการหรือกักตัว 14 วัน รวมถึงอาจต้องใช้วิธีการตรวจอื่นร่วมด้วยเช่นการตรวจ rRT-PCR หรือการตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2
  4. ถ้ามีแถบสีขึ้นในส่วน “T” แต่ไม่มีแถบสีที่ “C” หรือ ไม่มีแถบสีขึ้นทั้งในส่วน “T” และ “C” จะถือว่าไม่สามารถแปลผลการทดสอบได้ (invalid result) ต้องมีการทดสอบซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงหรือสัมผัสผู้ติดเชื้อแล้วมีอาการในระบบทางเดินหายใจหรืออาการที่เข้ากันได้กับโรคโควิด-19 แนะนำให้ตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยเทคนิค rRT-PCR เป็นหลัก

ด้วยนโยบายที่จะให้ประชาชนทุกคนเช้าถึงการตรวจโรค COVID-19 ได้ง่ายขึ้น กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกแนวทางการใช้ชุดตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ด้วยตนเอง และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ข้อมูลล่าสุดวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ตามที่เผยแพร่โดยกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่ามีชุดตรวจ “แอนติเจน เทสต์ คิท” (rapid test) ที่ผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนแล้วกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยเป็นการรับรองให้ใช้ในสถานพยาบาลหรือคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แบบ professional use ที่จะต้องดำเนินการตรวจและแปลผลโดยบุคลากรทางการแพทย์ทั้งสิ้น 27 ยี่ห้อ และสำหรับใช้โดยประชาชนทั่วไป (Home use) เพื่อการตรวจด้วยตนเอง (self-test kit) โดยเบื้องต้นจำนวน 4 ยี่ห้อ โดยชุดตรวจด้วยตนเอง (self-test kit) ดังกล่าวจะมีข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฉลาก วิธีใช้งาน วิธีแปลผล วิธีทิ้งหรือกำจัดชุดตรวจอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรค ข้อควรระวังต่าง ๆ รวมถึงรายละเอียดอื่น ๆ ที่สำคัญและอาจมีคลิปวิดีโอสั้น ๆ สำหรับแนะนำการใช้งาน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง อันจะเป็นการช่วยลดการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไป ซึ่งในอนาคตน่าจะมีการพัฒนาและขึ้นทะเบียนชุดตรวจ “แอนติเจน เทสต์ คิท” ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นทั้งที่เป็นแบบใช้ในสถานพยาบาลหรือคลินิกเทคนิคการแพทย์ (professional use) รวมทั้งแบบใช้ตรวจคัดกรองด้วยตนเอง (home use หรือ self-test kit) อย่างแน่นอน โดยผู้ที่สนใจข้อมูลชุดตรวจดังกล่าวสามารถเข้าไปสืบค้นเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

เอกสารอ้างอิง
  1. เอกสารเผยแพร่เรื่อง “5 Caution: rapid test COVID antigen” จัดทำโดยอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สภาเทคนิค การแพทย์ เผยแพร่วันที่ 11 กรกฎาคม 2564.
  2. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. คำแนะนำเรื่องการตรวจวินิจฉัยไวรัสก่อโรคโควิด-19 (SARS-CoV-2) ทางห้องปฏิบัติการ ฉบับ 28-05-64. เข้าถึงได้จาก https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1150
  3. กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. ข้อมูลรายชื่อชุดตรวจและน้ำยาสำหรับ COVID-19 ที่ได้รับอนุญาตผลิตและนำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา [อินเทอร์เน็ต]. นนทบุรี; 2564 [เข้าถึงเมื่อ 16 ก.ค. 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.fda.moph.go.th/sites/Medical/SitePages/test_kit_covid19.aspx
  4. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, กรมการแพทย์, กรมควบคุมโรค, Uhosnet, คณะทำงานวิชาการ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019. เอกสารเผยแพร่เรื่อง ข้อเสนอการใช้ Rapid antigen test สำหรับสถานการณ์ที่มีการติดเชื้อในชุมชนวงกว้าง. 8 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.cdce.me/uploads/1/2/9/6/129674478/ข้อเสนอแนวทางการใช้__rapid_antigen_test.pdf
  5. กระทรวงสาธารณสุข. ข้อมูลแถลงข่าวเรื่อง แนวทางการใช้ Antigen test kit ในการตรวจหาเชื้อโควิด 19 วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 [Online]. เข้าถึงได้จาก: https://www.facebook.com/fanmoph/videos/335609328161424/
  6. Sethuraman N, Jeremiah SS, Ryo A. Interpreting Diagnostic Tests for SARS-CoV-2. JAMA 2020;323(22):2249-51.
  7. Centers for Disease Control and Prevention. Interim guidance for antigen testing for SARS-CoV-2 [Internet]. 2021 [cited 2021 July 12]. Available from: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/lab/resources/antigen-tests-guidelines.html
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.