Knowledge Article


มะเร็งยูเวีย หรือมะเร็งผนังลูกตาชั้นกลาง


อาจารย์ ดร.ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://areaoftalmologica.com/wp-content/uploads/uvea-1024x768.jpg
6,260 View,
Since 2021-05-19
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2afjge5l
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ยูเวีย (uvea) คือเนื้อเยื่อชั้นกลางของผนังลูกตาประกอบด้วย ม่านตา (iris) เนื้อเยื่อซิลเลียรี่ (ciliary) และคอรอยด์ (choroid) โดยหน้าที่จะแตกต่างกันไปตามส่วนต่าง ๆ คือ ม่านตา มีหน้าที่ ควบคุมแสงให้เข้ามาในตาอย่างเหมาะสม เนื้อเยื่อซิลเลียรี่ มีหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ปรับระยะโฟกัส (focus) ใกล้ไกล และมีกล้ามเนื้อที่ใช้ในการควบคุมการไหลเวียนน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ส่วนคอรอยด์จะมีเส้นเลือดปริมาณมาก จึงมีหน้าที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทและจอประสาทตา



ภาพจาก : https://images.ctfassets.net/u4vv676b8z52/NynW9QHIfw9IEDtld2TpR/00e99c219fdcca53b4cc4451a61307c5/uvea-1200x630.png?fm=jpg&q=80

มะเร็งผนังลูกตาชั้นกลาง (uveal melanoma) เป็นมะเร็งที่พบน้อยในโลก โดยจะพบ 4.3 คนในประชากร 1 ล้านคน มักพบในชาวคอเคเซียนร้อยละ 98 กลุ่มละตินอเมริการ้อยละ 1 กลุ่มเอเชีย แอฟริกันและชนพื้นเมืองอเมริกา น้อยกว่าร้อยละ 1 สาเหตุการเกิดโรคนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน อาจเกิดจากเม็ดสีในตาที่ผิดปกติ และสันนิษฐานว่าสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยง คือ เชื้อชาติ อายุ ละติจูดการอยู่อาศัย สำหรับการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งผนังลูกตาชั้นกลางส่วนหลัง (posterior melanoma)

อย่างไรก็ตามมะเร็งชนิดนี้มักไม่มีอาการแสดงที่กระทบการมองเห็นในชีวิตประจำวัน โดยหากเกิดมะเร็งบริเวณม่านตา อาจจะพบลักษณเพียงจุดดำ ๆ หรือสีผิดปกติขึ้น ซึ่งบางจุดจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับไฝในตา และหากเกิดบริเวณเนื้อเยื่อซิลเลียรี่หรือคอรอยด์อาจจะไม่พบความผิดปกติภายนอกเลยก็ได้ ต้องอาศัยการตรวจพิเศษอย่างชนิด เช่น การตรวจอัลตราซาวน์ดวงตา (high-frequency ultrasonography), การตรวจจอประสาทตาโดยการฉีดสี (fluorescein angiography) เป็นต้น

การที่ไม่มีอาการแสดงชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยอาจจะไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญมากนัก ซึ่งหากตรวจพบได้เร็วจะมีการรักษาและมีการพยากรณ์โรคที่ดี เช่น มะเร็งผนังลูกตาส่วนม่านตาพบอัตราการตายเพียงร้อยละ 1 – 4 แต่ถ้าหากตรวจวินิจฉัยโรคพบในระยะท้าย หรือระยะแพร่กระจายแล้ว มีการศึกษาพบว่า มะเร็งชนิดนี้มักมีการแพร่กระจายไปที่ตับประมาณร้อยละ 90 ของมะเร็งผนังลูกตาชั้นกลางระยะแพร่กระจายทั้งหมด และหากตรวจพบในระยะนี้อัตราการรอดชีวิตจะค่อนข้างต่ำ โดยมักจะเสียชีวิตภายใน 12 เดือนหลังตรวจพบ

การวินิจฉัยจะพิจารณาจากประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษโดยจักษุแพทย์ และอาจจะมีการเจาะนำชิ้นเนื้อไปตรวจด้วย

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโดยใช้ยาเคมีบำบัด แต่มีแนวทางวิธีการรักษาดังนี้
  • การผ่าตัด
  • การฉายรังสี
  • การฝังแร่กัมมันตภาพรังสี
ถึงแม้โรคมะเร็งผนังลูกตาชั้นกลาง เป็นโรคที่พบไม่บ่อย แต่หากสังเกตว่ามีความผิดปกติในตา แม้ว่าจะไม่พบการผิดปกติทางการมองเห็น ควรปรึกษาแพทย์ หากมีความผิดปกติจริงจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว ดังนั้นหากมีปัญหาทางสายตา และกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับท่านเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ยา และอย่าลืมว่า “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ”

เอกสารอ้างอิง
  1. American Academy of Ophthalmology. 2019. 2019-2020 BCSC: Basic and Clinical Science Course. American Academy of Ophthalmology.
  2. Grisanti S, and Ayseguel Tura. 2018. “Uveal Melanoma.” In Noncutaneous Melanoma, eds. Jeffrey F. Scott, and Meg R. Gerstenblith (AU): Codon Publications.
  3. Hassel, Jessica C, and Alexander H Enk. 2019. “Melanoma.” In Fitzpatrick’s Dermatology, 9e, eds. Sewon Kang et al. New York, NY: McGraw-Hill Education.
  4. Kaliki, S, and Carol L Shields. 2017. “Uveal Melanoma: Relatively Rare but Deadly Cancer.” Eye (Basingstoke) 31(2): 241–57.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.