Knowledge Article


ต้อหิน


อาจารย์ ดร.ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.royalspanishcenter.com/wp-content/uploads/2020/01/Glaucoma-768x456.jpg
6,666 View,
Since 2021-05-18
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2dyr36hy
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ต้อหิน เป็นสาเหตุอันดับที่ 2 ของการสูญเสียการมองเห็น รองจากต้อกระจกในระดับโลก องค์การอนามัยโลกประมาณว่า 7.7 ล้านคนทั่วโลก มีปัญหาต้อหินที่รุนแรงปานกลางจนถึงขั้นประสบปัญหาตาบอด

ต้อหิน เป็นกลุ่มโรคมีความผิดปกติของขั้วประสาทตา ส่วนใหญ่เกิดจากไหลเวียนน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาที่ผิดปกติ ทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น จนมีการทำลายไปที่ขั้วประสาทตา ส่งผลให้เกิดการสูญเสียลานสายตาแบบถาวร ในบางกรณีต้อหินสามารถเกิดในผู้ที่มีความดันลูกตาปกติได้ การวินิจฉัยจึงไม่ได้มีเพียงการตรวจวัดความดันตาเท่านั้น ยังต้องมีการตรวจอื่น ๆ เช่น ลานสายตา ความหนาของกระจกตา การตรวจขั้วประสาทตา และการตรวจพิเศษของจักษุแพทย์ร่วมด้วย



ภาพจาก : https://marvel-b1-cdn.bc0a.com/f00000000038905/www.aao.org/full/image.axd?id=ae6b7efb-c013-40b0-8c7b-fe8232bebc11&t=636789918580000000

อาการของต้อหินขึ้นอยู่กับประเภทของต้อหินโดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
  1. ต้อหินมุมเปิด การดำเนินของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป มักสังเกตอาการได้ยากในระยะแรก และไม่พบอาการผิดปกติทางสายตารูปแบบอื่นนอกจากตามัว ซึ่งอาการตามัวของต้อหินชนิดนี้ จะมัวจากลานสายรอบนอก และมัวเข้าในเรื่อย ๆ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อลานสายตาแคบลงจนกระทบชีวิตประจำวัน เช่น เดินชนสิ่งของด้านข้างบ่อย ๆ เป็นต้น
  2. ต้อหินมุมปิด การดำเนินของโรคจะฉับพลันและมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัวลงอย่างฉับพลัน บางรายมีอาการปวดศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
      ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต้อหินมีดังนี้
      • ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
      • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหิน
      • เชื้อชาติเอเชีย หรือกลุ่มละติน
      • ผู้ที่มีสายตาสั้นมาก ๆ หรือสายตายาวมาก ๆ
      • ผู้ที่มีความดันลูกตาสูงจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
      • ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
      แนวทางการรักษาสามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

      การรักษาโดยใช้ยา ยาที่ใช้จะหวังผลให้ลดความดันลูกตา ซึ่งรูปแบบยารับประทานจะเป็นยาในกลุ่ม carbonic anhydrase inhibitors เช่น acetazolamide มักใช้ลดความดันลูกตาในผู้ป่วยต้อหินมุมปิด ทำให้ลดความดันตาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังมีรูปแบบยาหยอดตา เช่น ยากลุ่ม prostaglandin analogues, beta blockers, alpha-adrenergic agonists และ parasympathomimetics เป็นต้น

      การรักษาโดยไม่ใช้ยา ปัจจุบันสามารถรักษาผู้ป่วยโดยการใช้เลเซอร์ และการผ่าตัดเพื่อเพิ่มช่องทางการระบายน้ำออกจากลูกตาได้ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดมักใช้ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมความดันตาโดยใช้ยาหยอดตาและเลเซอร์แล้ว

      สุดท้ายนี้หากมีปัญหาทางสายตา และกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับท่านเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ยา และอย่าลืมว่า “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ”

      เอกสารอ้างอิง
      1. American Academy of Ophthalmology. 2019. 2019-2020 BCSC: Basic and Clinical Science Course. American Academy of Ophthalmology.
      2. Chumley, Heidi S. 2019. “Glaucoma.” In The Color Atlas and Synopsis of Family Medicine, 3e, eds. Richard P Usatine, Mindy A Smith, Jr. Mayeaux E.J., and Heidi S Chumley. New York, NY: McGraw-Hill Education.
      3. Henderer, Jeffrey D, and Christopher J Rapuano. 2017. “Ocular Pharmacology.” In Goodman & Gilman's: The Pharmacological Basis of Therapeutics, 13e, eds. Laurence L Brunton, Randa Hilal-Dandan, and Björn C Knollmann. New York, NY: McGraw-Hill Education.
      4. Horton, Jonathan C. 2018. “Disorders of the Eye.” In Harrison's Principles of Internal Medicine, 20e, eds. J Larry Jameson et al. New York, NY: McGraw-Hill Education.
      5. National Institute for Health and Care Excellence (UK). 2017. Glaucoma: diagnosis and management. London: National Institute for Health and Care Excellence.
      6. Shaarawy, Tarek M, Mark B Sherwood, Roger A Hitchings, and Jonathan G Crowston. 2014. Glaucoma E-Book. Elsevier Health Sciences.
      7. World Health Organization. 2021. “Blindness and vision impairment” https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/blindness-and-visual-impairment (5 May 2021).

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.