Knowledge Article


ต้อกระจก


อาจารย์ ดร.ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://huffmanandhuffman.com/wp-content/uploads/cataract-before-after.jpg
5,942 View,
Since 2021-05-14
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/27r697zq
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ต้อกระจก เป็นปัญหาทางการมองเห็นที่สำคัญและนำไปสู่ภาวะตาบอดได้หากไม่ได้รักษา องค์การอนามัยโลกประมาณว่า 94 ล้านคนทั่วโลก มีปัญหาต้อกระจกที่รุนแรงปานกลางจนถึงขั้นประสบปัญหาตาบอด สำหรับประเทศไทยมีการสำรวจสถานการณ์โรคตาระหว่างปี พ.ศ. 2546 – 2560 พบว่า มีผู้ป่วยตาบอดร้อยละ 0.59 สายตาเลือนรางร้อยละ 1.57 โดยมีสาเหตุมาจากต้อกระจก ต้อหิน ภาวะตาบอดในเด็ก ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา และกระจกตาขุ่น ซึ่งจากสาเหตุทั้งหมด “ต้อกระจก” เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถรักษาให้หายได้



ภาพจาก : https://huffmanandhuffman.com/wp-content/uploads/cataract-before-after.jpg

ต้อกระจก คือ โรคที่เลนส์แก้วตามีความขุ่นเกิดขึ้น โดยปกติแล้วเลนส์แก้วตาจะมีลักษณะเหลืองใส แต่เมื่อเลนส์ตาขุ่นมากขึ้นจะบังแสง ทำให้แสงเข้าสู่ด้านในของดวงตาและไปกระทบที่จอประสาทตาได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ภาพที่เห็นเบลอ ไม่ชัดเจน บางครั้งผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการที่เหมือนเห็นหมอกบังตา ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80.00 เกิดจากความเสื่อมตามอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป เรียกว่า ต้อกระจกในผู้สูงอายุ (senile cataract) อีกส่วนหนึ่งประมาณร้อยละ 20.00 เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ต้อกระจกแต่กำเนิด ทั้งยังมีปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่มีผลทำให้เกิดต้อกระจกได้ เช่น การสูบบุหรี่ แสงแดดที่มีรังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) ภาวะน้ำตาลสูงในโรคเบาหวาน การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน อุบัติเหตุที่มีผลกับลูกตา และภาวะสายตาสั้นรุนแรง (high myopia)

ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงกลไกการเกิดต้อกระจกที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน อาจมาจากเลนส์ตาที่มีความหนามากขึ้น ขุ่นขึ้น มีเม็ดสีมากขึ้น รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงของสารภายในเลนส์ตา เช่น โปรตีนในเลนส์ตา น้ำ รวมถึงเกลือแร่ต่าง ๆ

โดยทั่วไปอาการของต้อกระจกมักสังเกตในช่วงเริ่มต้นได้ยาก แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะเริ่มมองเห็นได้ไม่ชัดเจน เห็นภาพเบลอ เห็นภาพซ้อน หรือเห็นลักษณะเหมือนหมอกบังตา ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การอ่านหนังสือ แพ้แสง และหากมีอาการของต้อกระจกรุนแรง เรียกว่า ต้อกระจกสุก (mature cataract) อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากภาวะนี้ได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ปวดศีรษะ ความดันในตาสูงขึ้น เป็นต้น

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโดยใช้ยา จะมีการรักษาเฉพาะการผ่าตัด อาจใช้คำว่า “ลอกต้อกระจก” ซึ่งเป็นการผ่าตัดนำเลนส์ตาเดิมออก และใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทน การผ่าตัดต้อกระจกเป็นการผ่าตัดเล็ก มักทำโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่และหยอดยาชา โดยทั่วไปจะใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง ในหลายโรงพยาบาลจะมีการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (one day surgery) ทำให้ผู้ป่วยสะดวกมากขึ้น อีกทั้งหลังผ่าตัดยังใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน เพียงแค่ต้องระวังหลังผ่าตัด เช่น ระวังไม่ให้น้ำเข้าตาและขยี้ตาประมาณ 4 สัปดาห์ เพื่อให้แผลติดสนิท รวมทั้งไม่ควรยกของหนักประมาณ 2 – 3 สัปดาห์หลังผ่าตัด เป็นต้น ทั้งนี้การพิจารณาผ่าตัดต้อกระจกขึ้นอยู่กับดุลพินิจของจักษุแพทย์

สำหรับเรื่องวิตามินที่ใช้ในการป้องกันการเกิดต้อกระจกยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย บางการศึกษาพบประโยชน์ จากการรับประทานวิตามินซีและวิตามินอี อย่างไรก็ตามผู้ป่วยต้อกระจกในผู้สูงอายุ การรับประทานวิตามินซี วิตามินอี เบตาแคโรทีน สังกะสี และทองแดง ยังไม่สามารถลดการเปลี่ยนแปลงของเลนส์ตาที่นำไปสู่การเกิดต้อกระจกได้

จะเห็นได้ว่า ต้อกระจกไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรง หากแต่เป็นภัยเงียบที่หากไม่รักษาอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่สาเหตุทำให้ตาบอดได้ นอกจากนั้นการรักษาต้อกระจกไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ดังนั้นหากมีปัญหาทางสายตา และกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับท่านเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ยา และอย่าลืมว่า “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ”

เอกสารอ้างอิง
  1. American Academy of Ophthalmology. 2019. 2019-2020 BCSC: Basic and Clinical Science Course. American Academy of Ophthalmology.
  2. Bourne, Rupert R.A. et al. 2017. "Magnitude, Temporal Trends, and Projections of the Global Prevalence of Blindness and Distance and near Vision Impairment: A Systematic Review and Meta-Analysis." The Lancet Global Health 5(9): e888–97.
  3. Duncan, Jacque L, Neeti B Parikh, Gerami D Seitzman, and Paul Riordan-Eva. 2020. "Cataract." In Current Medical Diagnosis and Treatment 2020, eds. Maxine A Papadakis, Stephen J McPhee, and Michael W Rabow. New York, NY: McGraw-Hill Education.
  4. Horton, Jonathan C. 2018. "Disorders of the Eye." In Harrison's Principles of Internal Medicine, 20e, eds. J Larry Jameson et al. New York, NY: McGraw-Hill Education.
  5. Riordan-Eva, Paul. 2019. "Disorders of the Eyes & Lids." In Current Medical Diagnosis & Treatment 2019, eds. Maxine A Papadakis, Stephen J McPhee, and Michael W Rabow. New York, NY: McGraw-Hill Education.
  6. Schimmer, Bernard P, and John W Funder. 2017. "Adrenocorticotropic Hormone, Adrenal Steroids, and the Adrenal Cortex." In Goodman & Gilman's: The Pharmacological Basis of Therapeutics, 13e, eds. Laurence L Brunton, Randa Hilal-Dandan, and Björn C Knollmann. New York, NY: McGraw-Hill Education.
  7. Shiels, Alan, and J Fielding Hejtmancik. 2014. "Age-Related Cataract." In Clinical Genomics: Practical Applications in Adult Patient Care, eds. Michael F Murray et al. New York, NY: McGraw-Hill Education.
  8. World Health Organization. 2021. "Blindness and vision impairment" https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/blindness-and-visual-impairment (5 May 2021).

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.