Knowledge Article


“ยาฆ่าเชื้อ” ลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด…หรือไม่?


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn%3AANd9GcS1hwwqJKO3j7GQ_eui6kEN8im5sERZNd4TFA&usqp=CAU
73,272 View,
Since 2020-09-30
Last active: 3h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


“ยาฆ่าเชื้อ” ในที่นี้ เป็นคำที่ประชาชนมักใช้เรียกยาต้านจุลชีพกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียซึ่งใช้กันมากในการรักษาอาการเจ็บคอและแผลติดเชื้อ ส่วนยาเม็ดคุมกำเนิดที่ใช้กันมากเป็นชนิดฮอร์โมนรวม ในแต่ละเม็ดมีตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจนผสมกับฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน บรรจุเป็นแผง รับประทานสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวันจนหมดแผง การเกิดปฏิกิริยาระหว่าง “ยาฆ่าเชื้อ” กับยาเม็ดคุมกำเนิดไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการกล่าวถึงกันมามานาน โดยเป็นที่กังวลว่าหากรับประทาน “ยาฆ่าเชื้อ” ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดอาจเกิดปฏิกิริยากัน ทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลงจนเกิดการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้มียาบางชนิดเท่านั้นที่ลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด ในบทความนี้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงยาฮอร์โมนในร่างกาย เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเกิดปฏิกิริยาระหว่าง “ยาฆ่าเชื้อ” ที่เป็นยาต้านแบคทีเรียกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม พร้อมทั้งยกตัวอย่าง “ยาฆ่าเชื้อ” ที่อาจมีผลหรือไม่มีผลลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดตามข้อมูลทางวิชาการที่มีอยู่ และข้อแนะนำหากต้องรับประทาน “ยาฆ่าเชื้อ” ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด



ภาพจาก : https://ichef.bbci.co.uk/news/720/cpsprodpb/E939/production/_102850795_gettyimages-629430743.jpg

ยาฮอร์โมนใน “ยาเม็ดคุมกำเนิด”

“ยาเม็ดคุมกำเนิด” ที่กล่าวถึงกันทั่วไปและใช้กันมากเป็นชนิดแผงที่รับประทานสม่ำเสมอวันละ 1 เม็ดต่อเนื่องทุกวันจนหมดแผง ในแต่ละเม็ดมีตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน (estrogens) ผสมกับฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (progestins) ซึ่งโพรเจสตินเป็นสารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์เลียนแบบฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน (progesterone) ในร่างกาย ฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจนที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเอทินิลเอสทราไดออล (ethinylestradiol หรือ ethinyl estradiol) ส่วนเมสทรานอล (mestranol) และเอสทราไดออล (estradiol) ซึ่งอาจอยู่ในรูปเอสทราไดออลวาเลอเรต (estradiol valerate) นั้นมีใช้น้อยกว่า เมสทรานอลไม่มีฤทธิ์ในการคุมกำเนิดแต่ถูกเปลี่ยนเป็นเอทินิลเอสทราไดออลได้ที่ตับ ในอดีตปริมาณเอทินิลเอสทราไดออลในยาเม็ดคุมกำเนิดมีค่อนข้างสูง ทำให้มีผลไม่พึงประสงค์มาก ปัจจุบันมีไม่เกิน 35 ไมโครกรัม บางตำรับอาจมีเพียง 15-20 ไมโครกรัมเท่านั้น ส่วนฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสตินที่มีในยาเม็ดคุมกำเนิดมีหลายชนิด เช่น เลโวนอร์เจสเทรล (levonorgestrel), นอร์เอทิสเทอโรน (norethisterone), เจสโตดีน (gestodene), เดโซเจสเทรล (desogestrel), ไซโพรเทอโรนแอซีเทต (cyproterone acetate) ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

ยาฮอร์โมนใน “ยาเม็ดคุมกำเนิด” มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในร่างกาย

เมื่อรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ตัวยาฮอร์โมนจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยาแสดงฤทธิ์หลายอย่างในการป้องกันการตั้งครรภ์ ที่สำคัญคือยับยั้งการตกไข่ ยาฮอร์โมนเปลี่ยนเป็นสารอื่นได้ที่ลำไส้และตับ กรณีที่เป็นเอทินิลเอสทราไดออล (เป็นเอสโตรเจนชนิดที่ใช้มากในยาเม็ดคุมกำเนิด) ส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตับผ่านกระบวนการไฮดร็อกซีเลชัน (hydroxylation) โดยเอนไซม์ไซโทโครม P450 3A4 (หรือ CYP3A4) สารที่เกิดขึ้นถูกเปลี่ยนแปลงต่อไปด้วยกระบวนการคอนจูเกชัน (conjugation) เกิดเป็นเอทินิลเอสทราไดออลซัลเฟต (ethinylestradiol sulfate) และเอทินิลเอสทราไดออลกลูคูโรไนด์ (ethinylestradiol glucuronide) ซึ่งสารประกอบเหล่านี้ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ ถูกขับถ่ายออกจากร่างกายทางปัสสาวะและทางน้ำดี (ฮอร์โมนพวกเอสโตรเจนชนิดอื่นเกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเช่นเดียวกัน) เหลือเอทินิลเอสทราไดออลในระบบไหลเวียนเลือดเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ในเลือดพบในรูปเอทินิลเอสทราไดออลซัลเฟต สารประกอบที่ถูกขับออกทางน้ำดีจะเข้าสู่ลำไส้เล็ก จากนั้นเอนไซม์จากแบคทีเรียในลำไส้จะย่อยสารประกอบเหล่านั้นได้เป็นเอทินิลเอสทราไดออลรูปเดิม สารรูปเดิมนี้ถูกดูดซึมที่ลำใส้เล็กส่วนล่างกลับเข้าสู่กระแสเลือดอีกครั้งหนึ่ง (คือเกิด enterohepatic cycling หรือ enterohepatic recirculation) เพื่อร่วมออกฤทธิ์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการรับประทาน “ยาฆ่าเชื้อ” ที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียอาจลดปริมาณเอทินิลเอสทราไดออลที่จะถูกดูดซึมกลับเข้ากระแสเลือดดังกล่าว

ส่วนยาฮอร์โมนกลุ่มโพรเจสตินถูกเปลี่ยนแปลงโดยกระบวนการคอนจูเกชันได้เช่นเดียวกันแต่ไม่ใช่เกิดกับตัวยาที่ออกฤทธิ์ ดังนั้นสารประกอบที่เกิดขึ้นเมื่อถูกขับออกทางน้ำดีและถูกเอนไซม์จากแบคทีเรียในลำไส้ย่อย สารที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ตัวยาที่ออกฤทธิ์ ด้วยเหตุนี้การรับประทาน “ยาฆ่าเชื้อ” ที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียจึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงระดับยาฮอร์โมนกลุ่มโพรเจสตินในกระแสเลือดโดยผ่านกลไกที่กล่าวข้างต้น

“ยาฆ่าเชื้อ” ลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดได้อย่างไร?

การรับประทาน “ยาฆ่าเชื้อ” ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อาจลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดด้วยกลไกหลายอย่างดังนี้
  1. เพิ่มการสร้างเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนแปลงยาฮอร์โมน เนื่องจากยาฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจนและโพรเจสตินถูกเปลี่ยนแปลงได้โดยเอนไซม์ไซโทโครม P450 ดังนั้นการชักนำการสร้างเอนไซม์ให้มีมากขึ้นจึงเพิ่มการเปลี่ยนยาฮอร์โมนไปเป็นสารอื่นที่ไม่มีฤทธิ์ ทำให้ระดับยาฮอร์โมนในเลือดลดลง เช่น “ยาฆ่าเชื้อ” ในกลุ่มไรฟาไมซิน (rifamycins) โดยเฉพาะอย่างยิ่งไรแฟมพิซิน (rifampicin) หรือชื่ออื่นคือไรแฟมพิน (rifampin) ส่วนยาอื่นในกลุ่มนี้ไม่ว่าจะเป็นไรฟาบูติน (rifabutin) หรือไรฟาเพนทีน (rifapentine) มีฤทธิ์ชักนำการสร้างเอนไซม์ได้น้อยกว่า เชื่อว่าฤทธิ์ชักนำการสร้างเอนไซม์มีบทบาทสำคัญมากกว่ากลไกอื่นที่จะกล่าวต่อไป อย่างไรก็ตามการที่ “ยาฆ่าเชื้อ” รบกวนประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดนั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นด้วยกลไกเดียว สำหรับ “ยาฆ่าเชื้อ” รุ่นใหม่ ๆ แม้ออกฤทธิ์กว้างขวางแต่มักไม่มีฤทธิ์ชักนำการสร้างเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนแปลงยา
  2. กำจัดแบคทีเรียในลำไส้ เนื่องจากการย่อยสารประกอบซัลเฟตและสารประกอบกลูคูโรไนด์ในลำไส้เล็กเพื่อให้ได้เอทินิลเอสทราไดออลรูปเดิม (ไม่อยู่ในรูปสารประกอบที่กล่าวข้างต้น) นั้นอาศัยเอนไซม์จากแบคทีเรีย ดังนั้น “ยาฆ่าเชื้อ” ซึ่งมีฤทธิ์กำจัดแบคทีเรียจึงลดปริมาณเอทินิลเอสทราไดออลในลำไส้ ทำให้การดูดซึมกลับเข้าสู่กระแสเลือดเกิดน้อยลง ด้วยเหตุนี้หาก “ยาฆ่าเชื้อ” มีฤทธิ์กว้างขวางต่อแบคทีเรียหลายอย่างและเป็นยาที่ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ไม่ดี จะยิ่งส่งผลกระทบมากต่อระดับยาเอทินิลเอสทราไดออลในเลือด เช่น แอมพิซิลลิน (ampicillin), นีโอไมซิน (neomycin) ส่วนยาฮอร์โมนกลุ่มโพรเจสตินไม่ได้รับผลกระทบจากกลไกข้อนี้
  3. เพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร หากทางเดินอาหารมีการเคลื่อนไหวมาก ยาจะเดินทางผ่านทางเดินอาหารเร็วเกินไป ทำให้การดูดซึมยาลดลงไม่ว่าจะเป็นเอสโตรเจนหรือโพรเจสติน นอกจากนี้ยังลดการดูดซึมกลับของยาเอทินิลเอสทราไดออลที่ลำไส้เล็กส่วนล่าง (ตอนเกิด enterohepatic cycling) ด้วยเหตุนี้ “ยาฆ่าเชื้อ” ที่เพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร เช่น ยาในกลุ่มแมโครไลด์ (macrolides) ซึ่งตัวอย่างยามีกล่าวต่อไปในหัวข้ออื่น อาจมีส่วนในการลดการดูดซึมยาฮอร์โมนไม่ว่าชนิดใด อย่างไรก็ตามกลไกดังกล่าวมีผลกระทบน้อยต่อประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด
  4. ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน “ยาฆ่าเชื้อ” บางชนิดมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ หรืออาจเกิดร่วมกับอาการเจ็บป่วย (ที่ทำให้ต้องรับประทาน “ยาฆ่าเชื้อ”) หากเกิดการอาเจียนภายหลังรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดไปไม่นาน อาจมีผลกระทบต่อปริมาณยาในทางเดินอาหารที่จะถูกดูดซึม
  5. ทำให้เกิดอาการท้องเสีย “ยาฆ่าเชื้อ” บางชนิดมีผลข้างเคียงทำให้ท้องเสีย จึงอาจลดการดูดซึมกลับของยาเอทินิลเอสทราไดออล (ตอนเกิด enterohepatic cycling) อย่างไรก็ตามกลไกดังกล่าวมีผลกระทบน้อยต่อประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด
ปัจจัยที่มีผลต่อ “ยาฆ่าเชื้อ” ในการรบกวนประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด

การรับประทาน “ยาฆ่าเชื้อ” จะส่งผลรบกวนประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดหรือไม่นั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งด้าน “ยาฆ่าเชื้อ” ยาเม็ดคุมกำเนิด และผู้ที่ใช้ยาดังนี้
  1. “ยาฆ่าเชื้อ” ทั้งชนิดของยา ขนาดยาและระยะเวลาที่ใช้ยา ล้วนมีผลต่อการแสดงฤทธิ์ของยา เช่น ยาที่มีฤทธิ์ชักนำการสร้างเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนยาฮอร์โมนไปเป็นสารอื่น ถ้ายิ่งใช้ในขนาดสูงหรือใช้เป็นเวลานานจะยิ่งเห็นผลมากขึ้น
  2. ยาเม็ดคุมกำเนิด หากเป็นตำรับที่มีเอทินิลเอสทราไดออล (ซึ่งเป็นเอสโตรเจน) ในปริมาณต่ำจะได้รับผลกระทบจาก “ยาฆ่าเชื้อ” มากกว่าตำรับที่มียาฮอร์โมนดังกล่าวในปริมาณสูง
  3. ผู้ที่ใช้ยา ภายหลังการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ระดับยาฮอร์โมนในกระแสเลือดมีความแปรปรวนได้มากในผู้หญิงแต่ละคน การรับประทาน “ยาฆ่าเชื้อ” ร่วมด้วยจึงส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดแตกต่างกันได้ นอกจากนี้แม้ว่าข้อมูลส่วนใหญ่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนถึงผลกระทบเรื่องดัชนีมวลกายต่อประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม อย่างไรก็ตามบางการศึกษาพบว่าผู้หญิงอ้วนเกินที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมจะเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์มากกว่าผู้ที่ไม่อ้วน ดังนั้นผู้หญิงอ้วนเกินหากได้รับผลกระทบที่ทำให้ระดับยาฮอร์โมนในเลือดลดลงแม้เพียงเล็กน้อย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ก็เป็นไปได้
“ยาฆ่าเชื้อ” ชนิดใดลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด

ที่ผ่านมามีรายงานถึงการเกิดความผิดปกติซึ่งอาจแสดงถึงการเกิดปฏิกิริยาระหว่าง “ยาฆ่าเชื้อ” กับยาเม็ดคุมกำเนิด เช่น การมีเลือดคล้ายประจำเดือนออกกะปริบกะปรอย หรือมีความล้มเหลวในการคุมกำเนิดจนเกิดตั้งครรภ์ขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลส่วนใหญ่เป็นรายงานที่มาจากผู้ป่วยเฉพาะราย (case report) หลักฐานด้านวิชาการที่มาสนับสนุนยังมีความขัดแย้งกัน ทั้งนี้อาจเนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อ “ยาฆ่าเชื้อ” ในการรบกวนประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดดังกล่าวแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตามอาจแบ่ง “ยาฆ่าเชื้อ” ตามความเสี่ยงในการลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ตามข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนได้ดังนี้
ยาที่น่าจะลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด ข้อมูลจนถึงขณะนี้มีเพียงยาในกลุ่มไรฟาไมซิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไรแฟมพิซินที่มีหลักฐานว่าลดระดับยาฮอร์โมนพวกเอสโตรเจนและโพรเจสตินในเลือด ส่วนยาอื่นในกลุ่มนี้ไม่ว่าจะเป็นไรฟาบูตินหรือไรฟาเพนทีนมีผลน้อยกว่าหรือไม่ชัดเจน ยาเหล่านี้ใช้รักษาวัณโรค และบางชนิดใช้รักษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรียชนิดอื่นด้วย ไรแฟมพิซินมีฤทธิ์แรงในการชักนำการสร้างเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนแปลงยาฮอร์โมนไปเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์ นอกจากนี้หากมียาในลำไส้ (แม้ว่าไรแฟมพิซินถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี แต่ยาถูกขับถ่ายออกทางน้ำดีสู่ลำไส้เล็กได้) ซึ่งยามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย อาจทำให้มีปริมาณเอทินิลเอสทราไดออลที่จะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่กระแสเลือดลดลง (ตอนเกิด enterohepatic cycling) ดังนั้นการที่ไรแฟมพิซินรบกวนประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดอาจไม่ได้มีเพียงกลไกเดียว

ส่วน “ยาฆ่าเชื้อ” ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ยาในกลุ่มไรฟาไมซินซึ่งจะกล่าวถึงข้างล่างนี้ ข้อมูลทางวิชาการที่มีอยู่ยังไม่ชัดเจนที่จะสนับสนุนว่ายามีผลลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดหรือไม่

ยาที่อาจลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดได้บ้าง ยาที่จะกล่าวถึงนี้มีข้อมูลสนับสนุนน้อยหรือข้อมูลไม่ชัดเจน เช่น

– ยากลุ่มเพนนิซิลลิน (penicillins) ตัวอย่างเช่น แอมพิซิลิน (ampicillin), อะม็อกซิซิลลิน (amoxicillin), ไดคล็อกซาซิลลิน (dicloxacillin)

– ยากลุ่มเตตราไซคลีน (tetracyclines) ตัวอย่างเช่น เตตราไซคลีน (tetracycline), ด็อกซีไซคลีน (doxycycline), ออกซีเตตราไซคลีน (oxytetracycline)

– ยาอื่น ตัวอย่างเช่น เมโทรนิดาโซล (metronidazole)

ยาที่ไม่น่าจะรบกวนประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด ยาเหล่านี้มีข้อมูลสนับสนุนน้อยมากหรือมีข้อมูลระบุว่ายาไม่รบกวนประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด เช่น

– กลุ่มเซฟาโลสปอริน (cephalosporins) ตัวอย่างเช่น เซฟาเลกซิน (cephalexin)

– กลุ่มแมโครไลด์ (macrolides) ตัวอย่างเช่น อิริโทรไมซิน (erythromycin), คลาริโทรไมซิน (clarithromycin), เทลีโทรไมซิน (telethromycin) ยาเหล่านี้เพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารได้ จึงอาจรบกวนการดูดซึมทั้งยาฮอร์โมนกลุ่มเอสโตรเจนและกลุ่มโพรเจสติน แต่ยาเหล่านี้มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงยาฮอร์โมนไปเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์ ดังนั้นในกรณีหลังจะทำให้ยาฮอร์โมนออกฤทธิ์ได้นานขึ้น ด้วยเหตุนี้ยาในกลุ่มนี้จึงไม่น่าที่จะลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด

– กลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolones) ตัวอย่างเช่น ซิโพรฟล็อกซาซิน (ciprofloxacin), โอฟล็อกซาซิน (ofloxacin)

– ยาอื่น ตัวอย่างเช่น คลินดาไมซิน (clindamycin), แดปโซน (dapsone), ไอโซไนอะซิด (isoniazid), ไทรเมโทพริม/ซัลฟาเมท็อกซาโซล (trimethoprim/sulfamethoxazole), ไนโตรฟูแรนโทอิน (nitrofurantoin)


ข้อแนะนำหากต้องรับประทาน “ยาฆ่าเชื้อ” ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด

ภายหลังการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ระดับยาฮอร์โมนในกระแสเลือดมีความแปรปรวนได้มากในผู้หญิงแต่ละคน ประกอบกับมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อ “ยาฆ่าเชื้อ” ในการรบกวนประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดดังกล่าวข้างต้น ด้วยเหตุนี้หากมีการใช้ “ยาฆ่าเชื้อ” ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดมีข้อแนะนำดังนี้
  1. ไม่รับประทาน “ยาฆ่าเชื้อ” พร้อมกันกับยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดควรรับประทานเวลาเดิมตามปกติ
  2. หากมีการใช้ยาในกลุ่มไรฟาไมซิน ซึ่งน่าจะลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นไรแฟมพิซินหรือยาอื่นในกลุ่มเดียวกัน (แม้ว่าจะมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนเฉพาะไรแฟมพิซินก็ตาม) ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือเพิ่มการคุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัย (ยาเม็ดคุมกำเนิดยังคงรับประทานตามปกติ) ตลอดช่วงที่ใช้ยาในกลุ่มไรฟาไมซินไปจนถึง 7 วันหลังหยุดใช้ (หากเป็นไรแฟมพิซินและอาจรวมถึงไรฟาบูตินแนะนำให้คุมกำเนิดต่อไปอีก 4-6 สัปดาห์หลังหยุดใช้) บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายยาในกลุ่มไรฟาไมซินให้กับผู้ที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ควรให้คำแนะนำดังกล่าวแก่ผู้ที่ใช้ยา หากต้องใช้ในกลุ่มนี้เป็นเวลานานโดยเฉพาะอย่างยิ่งไรแฟมพิซิน อาจพิจารณาใช้การคุมกำเนิดวิธิอื่นที่ไม่ใช่ยาเม็ดชนิดฮอร์โมนรวมหรือยาเม็ดชนิดที่มีโพรเจสตินอย่างเดียว (progestin-only pills)
  3. สำหรับยาอื่นที่ไม่ใช่ยาในกลุ่มไรฟาไมซิน หากเป็นยาที่อาจลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดได้บ้างดังกล่าวข้างต้น แม้จะมีหลักฐานสนับสนุนน้อยหรือยังไม่ชัดเจนว่าจะรบกวนประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดหรือไม่ แต่เพื่อความปลอดภัยควรปฏิบัติเช่นเดียวกับที่กล่าวข้างต้น (คือ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือเพิ่มการคุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัย ตลอดช่วงที่ใช้ยาไปจนถึง 7 วันหลังหยุดใช้ “ยาฆ่าเชื้อ”) โดยเฉพาะหากใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดตำรับที่มีเอสโตรเจนขนาดต่ำ ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้น (เช่น การใช้ “ยาฆ่าเชื้อ” ในขนาดสูง, การใช้ยาเป็นเวลานาน, ผู้ที่ใช้ยาเป็นผู้ที่อ้วนเกิน) หรือในรายที่การตั้งครรภ์จะสร้างปัญหาใหญ่หลวง
  4. สำหรับยาอื่นที่ไม่ใช่ยาในกลุ่มไรฟาไมซิน หากเป็นยาที่ไม่น่าจะรบกวนประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด (ตัวอย่างชื่อยาดังระบุข้างต้น) อาจไม่จำเป็นต้องมีการปฏิบัติอย่างอื่นเพิ่มเติม
  5. ไม่มีวิธีการใดที่จะประเมินความเสี่ยงถึงปฏิกิริยาที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นในกรณีที่ไม่มั่นใจว่า “ยาฆ่าเชื้อ” จะลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดหรือไม่ อีกทั้งการตั้งครรภ์จะสร้างปัญหาใหญ่หลวง เพื่อความปลอดภัยอาจปฏิบัติเช่นเดียวกับที่กล่าวข้างต้น (คือ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือเพิ่มการคุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัย ตลอดช่วงที่ใช้ยาไปจนถึง 7 วันหลังหยุดใช้ “ยาฆ่าเชื้อ”) รอจนกว่ามีข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจนจึงสามารถให้คำแนะนำเป็นอย่างอื่นได้อย่างมั่นใจ
  6. ไม่แนะนำให้เพิ่มขนาดยาเม็ดคุมกำเนิดหรือเปลี่ยนไปใช้ตำรับที่มีปริมาณฮอร์โมนสูงขึ้น เนื่องจากไม่ได้เป็นที่ยืนยันว่าจะให้ผลดี อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์จากยาฮอร์โมนได้ นอกจากนี้ส่วนใหญ่การใช้ “ยาฆ่าเชื้อ” จะใช้ในช่วงเวลาระยะหนึ่งเท่านั้น
เอกสารอ้างอิง
  1. American College of Obstetricians and Gynecologists' Committee on Practice Bulletins—Gynecology. ACOG Practice Bulletin No. 206: Use of hormonal contraception in women with coexisting medical conditions. Obstet Gynecol 2019; 133:e128-e150.
  2. Aronson JK, Ferner RE. Analysis of reports of unintended pregnancies associated with the combined use of non-enzyme-inducing antibiotics and hormonal contraceptives. BMJ Evid Based Med 2020. doi: 10.1136/bmjebm-2020-111363. Accessed: September 20, 2020.
  3. Simmons KB, Haddad LB, Nanda K, Curtis KM. Drug interactions between rifamycin antibiotics and hormonal contraception: a systematic review. BJOG 2018; 125:804-11.
  4. Simmons KB, Haddad LB, Nanda K, Curtis KM. Drug interactions between non-rifamycin antibiotics and hormonal contraception: a systematic review. Am J Obstet Gynecol 2018; 218:88-97.
  5. Zhanel GG, Siemens S, Slayter K, Mandell L. Antibiotic and oral contraceptive drug interactions: Is there a need for concern? Can J Infect Dis 1999; 10:429-33.
  6. Clinical guidance: drug interactions with hormonal contraception. January 2017, updated January 2019. https://www.fsrh.org/standards-and-guidance/documents/ceu-clinical-guidance-drug-interactions-with-hormonal/. Accessed: September 20, 2020.
  7. Pottegård A, Broe A, Stage TB, Brøsen K, Hallas J, Damkier P. Use of dicloxacillin and risk of pregnancy among users of oral contraceptives. Basic Clin Pharmacol Toxicol 2018; 123:288-93.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.