Knowledge Article


ยาในน้ำนมแม่ ตอนที่ 2 : ยารักษาโรคเบาหวาน


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://bremorx.com/wp-content/uploads/2016/05/GettyImages-187137286-5716d4453df78c3fa2e648fe.jpg
22,482 View,
Since 2020-08-06
Last active: 1 days ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


น้ำนมแม่มีประโยชน์ต่อทารกมาก มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและยังเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารก ทารกควรได้ดื่มนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นให้อาหารอื่นเพิ่มควบคู่กับการดื่มนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น ด้วยเหตุนี้แม่จึงไม่ควรหยุดให้นมทารกในช่วงเวลาที่กล่าวมาโดยไม่จำเป็น ในกรณีที่จำต้องใช้ยาซึ่งแม้ว่ายาส่วนใหญ่ถูกขับออกทางน้ำนมได้ แต่มักมีปริมาณต่ำและไม่เป็นอันตรายต่อทารกที่ดื่มนมแม่ มียาเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่ต้องระวังเป็นพิเศษหรือห้ามใช้ในช่วงที่ให้นมทารก ด้วยเหตุนี้แม่จึงไม่ควรเป็นกังวลมากเกินไปจนไม่ยอมใช้ยาหรือมีการใช้ยาแต่หยุดให้นมทารก ในบทความนี้จะกล่าวถึงโรคเบาหวานในแม่ที่ให้นมทารก ยารักษาโรคเบาหวานกลุ่มต่าง ๆ พร้อมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับยาในน้ำนมแม่ และยารักษาโรคเบาหวานที่ใช้ในแม่ช่วงให้น้ำนมทารก



ภาพจาก : https://www.fda.gov/media/90183/download

โรคเบาหวานในแม่ที่ให้นมทารก

โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาล (ซึ่งหมายถึงกลูโคส) ในเลือดสูงเกินอย่างเรื้อรัง เกิดจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือเกิดจากเซลล์ร่างกายดื้อต่อฤทธิ์อินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ตามปกติ จึงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงและเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้มากมาย อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างโดยเบตาเซลล์ในตับอ่อน ทำหน้าที่พากลูโคสเข้าสู่ภายในเซลล์เพื่อไปใช้ประโยชน์ จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย รับประทานอาหารได้มากแต่ไม่อ้วน ชาปลายมือปลายเท้า แผลจะหายยาก ตามัว โรคเบาหวานอาจแบ่งออกเป็น (1) โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ พบได้ตั้งแต่วัยเด็ก (2) โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากเซลล์ร่างกายดื้อต่อฤทธิ์อินซูลิน เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด มักเริ่มพบเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักมากเกิน และ (3) โรคเบาหวานที่เกิดในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งไม่ได้เป็นโรคเบาหวานมาก่อน ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานไม่ว่าจะเป็นชนิดใดในช่วงที่ให้นมทารกจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น เนื่องจากการให้นมทารกจะช่วยลดปริมาณกลูโคสในเลือดแม่ ช่วยกำจัดแคลอรี่ส่วนเกิน ทำให้แม่มีน้ำหนักตัวลดลง เซลล์ร่างกายไวต่อฤทธิ์อินซูลินมากขึ้นทำให้นำกลูโคสไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้นมทารกยังลดอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานในผู้ที่มีความเสี่ยงอยู่ก่อนแล้ว

ยารักษาโรคเบาหวาน

ในการรักษาโรคเบาหวานต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเป็นหลัก หากยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีพอจึงมีการใช้ยาร่วมด้วย ยารักษาโรคเบาหวานมีมากมาย ยามีความแตกต่างกันในด้านการออกฤทธิ์ ระยะเวลาที่ยาให้ผลควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผลไม่พึงประสงค์ เป็นต้น มีผู้ป่วยหลายรายที่ต้องใช้ยารักษาโรคเบาหวานมากกว่า 1 ชนิดในการควบคุมระดับน้ำตาล ยารักษาโรคเบาหวานมีทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน

ยารักษาโรคเบาหวานชนิดฉีด แยกตามการออกฤทธิ์ได้ดังนี้
  1. กลุ่มอินซูลิน (insulins)ยาในกลุ่มนี้แสดงฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ยาอินซูลินที่วางจำหน่ายมีหลายชนิดซึ่งระยะเวลาที่ออกฤทธิ์แตกต่างกันไป อินซูลินถูกขับออกทางน้ำนมได้ แต่ยาจะถูกทำลายในทางเดินอาหารทารก จึงไม่เป็นอันตรายต่อทารกเมื่อดื่มนมแม่ที่ได้รับอินซูลิน อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปยังคงมีคำแนะนำให้เฝ้าระวังอาการที่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) และควรติดตามวัดระดับน้ำตาลในเลือดทารกรายที่สงสัยว่าอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ดูหัวข้อ "ยารักษาโรคเบาหวานที่ใช้ในแม่ช่วงให้น้ำนมทารก") อินซูลินลดการสร้างน้ำนมจึงทำให้น้ำนมแม่มีปริมาณลดลงได้
  2. กลุ่มยากระตุ้นตัวรับจีแอลพี-1 (glucagon-like peptide 1 receptor agonists หรือ GLP-1 receptor agonists) เช่น อีเซนาไทด์ (exenatide), ดูลากลูไทด์ (dulaglutide), ลิรากลูไทด์ (liraglutide), ลิซิเซนาไทด์ (lixisenatide) ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์เหมือนจีแอลพี-1 ในร่างกาย โดยมีการออกฤทธิ์หลายอย่าง ที่สำคัญคือกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกลูคากอน (glucagon) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างโดยแอลฟาเซลล์ในตับอ่อนและแสดงฤทธิ์ตรงกันข้ามกับอินซูลินคือเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ในบรรดายาเหล่านี้อีเซนาไทด์มีค่าครึ่งชีวิตสั้น (ค่าครึ่งชีวิตเป็นช่วงเวลาที่จำเพาะสำหรับยาแต่ละชนิด ซึ่งทุก ๆ ช่วงเวลานี้ระดับยาในเลือดจะลดลงครึ่งหนึ่งเรื่อยไป) และมีโครงสร้างใหญ่ คาดว่าน่าจะมียาในน้ำนมปริมาณน้อย อย่างไรก็ตามไม่มีข้อมูลการใช้ยากลุ่มนี้ในแม่ที่ให้นมทารก จึงควรหลีกเลี่ยงไปใช้ยาอื่นที่มีข้อมูลมากกว่า
ยารักษาโรคเบาหวานชนิดรับประทาน แยกตามการออกฤทธิ์ได้ดังนี้
  1. กลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (sulfonylureas) ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ยารุ่นแรกออกฤทธิ์ได้นานจึงเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้มากโดยเฉพาะภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น คลอร์โพรพาไมด์ (chlorpropamide) ส่วนยารุ่นต่อ ๆ มามีระยะเวลาที่ออกฤทธิ์ที่สั้นกว่าและมีผลไม่พึงประสงค์น้อยกว่า เช่น ไกลพิไซด์ (glipizide), ไกลเบนคลาไมด์ (glibenclamide) หรืออีกชื่อหนึ่งคือไกลบูไรด์ (glyburide), ไกลคลาไซด์ (gliclazide), ไกลเมพิไรด์ (glimeperide) ในบรรดายาเหล่านี้ไกลเบนคลาไมด์และไกลเมพิไรด์มีระยะเวลาที่ออกฤทธิ์นานกว่าไกลพิไซด์และไกลคลาไซด์ ยาในกลุ่มนี้จับกับโปรตีนในพลาสมาได้ดี เหลือยาในรูปอิสระน้อย จึงน่าจะพบยาในน้ำนมได้น้อย อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลการศึกษาในแม่ที่ให้นมทารก สำหรับไกลพิไซด์และไกลเบนคลาไมด์มีการศึกษาอยู่บ้างแต่กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อย พบว่ายาทั้งสองชนิดนี้ในขนาดที่ใช้ทั่วไปถูกขับออกทางน้ำนมได้น้อยหรือไม่พบเลย บางการศึกษามีการวัดระดับน้ำตาลในเลือดทารกและไม่พบความผิดปกติ
  2. กลุ่มไบกัวไนด์ (biguanides) ยาในกลุ่มนี้ที่ใช้อยู่มีเพียงชนิดเดียว คือ เมตฟอร์มิน (metformin) ออกฤทธิ์ลดการสร้างกลูโคสจากตับ ลดการดูดซึมกลูโคสจากทางเดินอาหาร และเพิ่มการใช้กลูโคสโดยเซลล์ต่าง ๆ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ยานี้จับกับโปรตีนในพลาสมาได้ค่อนข้างดี มีการศึกษาพบว่ายาถูกขับออกทางน้ำนมได้เล็กน้อยและไม่ส่งผลเสียประการใดต่อทารก
  3. กลุ่มยายับยั้งแอลฟากลูโคซิเดส (alpha-glucosidase inhibitors) เช่น อะคาร์โบส (acarbose), โวกลิโบส (voglibose) ออกฤทธิ์ยั้งยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสในทางเดินอาหาร จึงลดการเปลี่ยนไดแซคคาไรด์ (disaccharides) และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (complex carbohydrates) ไปเป็นกลูโคส ทำให้ลดการดูดซึมกลูโคสจากทางเดินอาหาร จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการขับยาทั้งสองชนิดนี้ออกทางน้ำนม อย่างไรก็ตามยาเหล่านี้ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ไม่ดี จึงไม่น่าจะพบยาในน้ำนมแม่ นอกจากนี้ยาถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารทารกได้ไม่ดีเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าจะส่งผลเสียประการใดต่อทารก
  4. กลุ่มไทอะโซลิดีนไดโอน (thiazolidinediones) เช่น ไพโอกลิทาโซน (pioglitazone) มีการออกฤทธิ์หลายอย่าง ที่สำคัญคือลดการสร้างกลูโคสจากตับและทำให้อินซูลินออกฤทธิ์นำกลูโคสเข้าเซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ไขมันและเซลล์ตับได้ดีขึ้น จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ยานี้จับกับโปรตีนในพลาสมาได้ดี จึงน่าจะพบยาในน้ำนมน้อย อย่างไรก็ตามไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในแม่ที่ให้นมทารก จึงควรหลีกเลี่ยงไปใช้ยาอื่นที่มีข้อมูลมากกว่า
  5. กลุ่มเมกลิทิไนด์ (meglitinides) เช่น รีพาไกลไนด์ (repaglinide), มิทิไกลไนด์ (mitiglinide) ออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน รีพาไกลไนด์จับกับโปรตีนในพลาสมาได้ค่อนข้างดี ในสัตว์ทดลองพบยาในน้ำนมได้บ้าง อย่างไรก็ตามไม่มีข้อมูลการใช้ยาเหล่านี้ในแม่ที่ให้นมทารก จึงควรหลีกเลี่ยงไปใช้ยาอื่นที่มีข้อมูลมากกว่า
  6. กลุ่มยายับยั้งไดเพปทิดิลเพปทิเดส-4 (dipeptidyl peptidase 4 inhibitors หรือ DPP-4 inhibitors) เช่น ซิตากลิปติน (sitagliptin), วิลดากลิปติน (vildagliptin), แซกซากลิปติน (saxagliptin), ไลนากลิปติน (linagliptin), อะโลกลิปติน (alogliptin), เจมิกลิปติน (gemigliptin) ออกฤทธิ์ยับยั้งไดเพปทิดิลเพปทิเดส-4 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายฤทธิ์จีแอลพี-1 จึงทำให้มีจีแอลพี-1 ไปออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินและยับยั้งการหลั่งกลูคากอน (คล้ายกับกลุ่มยากระตุ้นตัวรับจีแอลพี-1 ที่กล่าวข้างต้น) ยาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีค่าครึ่งชีวิตยาว ถูกกำจัดออกจากร่างกายช้า จึงพบยาในน้ำนมได้นานหลังจากบริโภคยา ในบรรดายาเหล่านี้แซกซากลิปตินมีค่าครึ่งชีวิตสั้นกว่ายาอื่น นอกจากนี้ยาส่วนใหญ่จับกับโปรตีนในพลาสมาได้น้อย มียาในรูปอิสระมาก จึงอาจพบยาในน้ำนมได้ ในบรรดายาเหล่านี้มีเพียงไลนากลิปตินจับกับโปรตีนในพลาสมาได้ดี อย่างไรก็ตามไม่มีข้อมูลการใช้ยากลุ่มนี้ในแม่ที่ให้นมทารก จึงควรหลีกเลี่ยงไปใช้ยาอื่นที่มีข้อมูลมากกว่า
  7. กลุ่มยายับยั้งตัวขนส่งโซเดียม-กลูโคส 2 (sodium-glucose cotransporter 2 inhibitors หรือSGLT2 inhibitors) เช่น ดาพากลิโฟลซิน (dapagliflozin), คานากลิโฟลซิน (canagliflozin), เอ็มพากลิโฟลซิน (empagliflozin) ออกฤทธิ์ลดการดูดซึมกลับของกลูโคสที่ไต ทำให้เพิ่มการขับกลูโคสออกทางปัสสาวะ ระดับน้ำตาลในเลือดจึงลดลง ยาเหล่านี้จับกับโปรตีนในพลาสมาได้ในปริมาณที่แตกต่างกัน คานากลิโฟลซินจับกับโปรตีนในพลาสมาได้ดีกว่ายาอื่น พบยาในรูปอิสระในเลือดน้อย จึงคาดว่าถูกขับออกทางน้ำนมได้น้อยกว่ายาอื่น อย่างไรก็ตามไม่มีข้อมูลการใช้ยากลุ่มนี้ในแม่ที่ให้นมทารก จึงควรหลีกเลี่ยงไปใช้ยาอื่นที่มีข้อมูลมากกว่า
ยารักษาโรคเบาหวานที่ใช้ในแม่ช่วงให้น้ำนมทารก

ยารักษาโรคเบาหวานมีมากมาย ยาถูกขับออกทางน้ำนมได้มากหรือน้อยแตกต่างกัน ขึ้นกับคุณสมบัติของยาแต่ละชนิดและขนาดยาที่แม่ได้รับ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณยาในน้ำนมแม่ได้ในเรื่อง “ยาใน น้ำนมแม่ ตอนที่ 1 : ยาลดความดันโลหิต”) ยารักษาโรคเบาหวานที่ใช้ในแม่ช่วงให้น้ำนมทารกได้นั้น ควรเป็นยาที่มีข้อมูลการศึกษามาแล้ว ได้แก่ ยาฉีดอินซูลิน ซึ่งแม้ว่าอินซูลินถูกขับออกทางน้ำนมได้แต่จะถูกทำลายในทางเดินอาหารของทารกจึงไม่ส่งผลเสียต่อทารก ยาชนิดรับประทานที่อยู่ในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (ไกลพิไซด์และไกลเบนคลาไมด์) และเมตฟอร์มิน ซึ่งยาเหล่านี้ในขนาดที่ใช้ทั่วไปถูกขับออกทางน้ำนมได้น้อยและไม่ส่งผลเสียต่อทารก ส่วนยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งแอลฟากลูโคซิเดส (อะคาร์โบสและโวกลิโบส) แม้ไม่มีข้อมูลการศึกษาในแม่ที่ให้นมทารก แต่ยาเหล่านี้ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ไม่ดี คาดว่าพบยาในน้ำนมได้น้อยมากหรือไม่พบเลย จึงใช้กับแม่ช่วงให้น้ำนมทารกได้โดยไม่น่าจะส่งผลเสียประการใดต่อทารก อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแม้จะใช้ยาที่กล่าวข้างต้นได้ แต่มีคำแนะนำให้ใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฝ้าระวังผลไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะความผิดปกติจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในทารก เช่น ง่วงซึม เหงื่อออกมาก ซีด อิดโรย อาการสั่น หรือความผิดปกติอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแม่ต้องให้นมทารกแรกคลอดหรือทารกที่คลอดก่อนกำหนดซึ่งยังกำจัดยาได้ไม่ดี นอกจากนี้ควรติดตามวัดระดับน้ำตาลในเลือดของทารกรายที่สงสัยว่าอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่วนยาอื่นที่ไม่มีข้อมูลการศึกษาในแม่ที่ให้นมทารก ควรหลีกเลี่ยงไปใช้ยาทางเลือกอื่นที่มีข้อมูลมากกว่า แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านั้นเนื่องจากไม่มียาทางเลือกอื่น อาจพิจารณาเลือกยาที่จับกับโปรตีนในพลาสมาได้ดีกว่ายาอื่น หรือยาที่มีค่าครึ่งชีวิตสั้นกว่ายาอื่น ด้วยเหตุนี้ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาความเจ็บป่วยและต้องได้รับยา ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรว่าท่านอยู่ระหว่างเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเอง

เอกสารอ้างอิง
  1. World Health Organization (WHO). Infant and young child feeding, 1 April 2020. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/infant-and-young-child-feeding. Accessed: June 27, 2020.
  2. World Health Organization (WHO). Infant and young child feeding, 1 April 2020. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/infant-and-young-child-feeding. Accessed: June 27, 2020.
  3. Drugs and lactation database (LactMed). https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK501922/?term=breastfeeding. Accessed: July 30, 2020.
  4. Gardiner S. Drug safety in lactation. Prescriber Update 2001; 21:10-23.
  5. Glatstein MM, Djokanovic N, Garcia-Bournissen F, Finkelstein Y, Koren G. Use of hypoglycemic drugs during lactation. Can Fam Physician 2009; 55:371-3.
  6. Newton ER, Hale TW. Drugs in breast milk. Clin Obstet Gynecol 2015; 58:868-84.
  7. Anderson PO. Treating diabetes during breastfeeding. Breastfeed Med 2018; 13:237-9.
  8. Hanley L. Medication use during lactation: either a potential contributor to premature weaning or evidence-based support of the mother/child couplet. Clin Ther 2020; 42:393-400.
  9. Priya G, Kalra S. Metformin in the management of diabetes during pregnancy and lactation. https://www.drugsincontext.com/wp-content/uploads/2018/06/dic.212523.pdf. Accessed: August 3, 2020.
  10. Hillson R. Diabetes and the breast. Pract Diabetes 2015; 32:45-6.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.