Knowledge Article


ไมเกรน กับ แมกนีเซียม


รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภก. ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.we-cares.com/wp-content/uploads/2019/09/5d8c60df86e5a.jpg
32,157 View,
Since 2020-07-15
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ไมเกรนเป็นหนึ่งในภาวะปวดศีรษะที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน อาการปวดศีรษะไมเกรนมักเกิดจากปัจจัยกระตุ้น (trigger factors) ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน เช่น อากาศร้อน กลิ่นที่รุนแรง ควันบุหรี่ อาหารบางประเภท เช่น ช็อกโกแลต ยาบางชนิด เช่น ฮอร์โมนคุมกำเนิด แสงสว่างที่มากเกินไป การนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งการรักษาไมเกรนในเบื้องต้นคือการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น แต่ในหลายครั้งเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเหล่านี้ได้ เนื่องจากหน้าที่การงานที่บังคับให้ต้องสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา1



ภาพจาก : https://cdn.amarbank.co.id/AmarBlog/uploads/2018/06/28141933/Migrain-menyerang.jpg

ดังนั้นจึงทำให้ต้องมีการใช้ยาเพื่อรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลัน เช่น กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs หรือ เอ็นเสด) ยากลุ่ม triptan (ทริปแทน) หรือยา ergotamine โดยในบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะไมเกรนเป็นประจำทำให้ต้องใช้ยาดังกล่าวบ่อยครั้ง ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ตั้งแต่ ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ไตวาย ปลายมือ-เท้าเย็นจากการขาดเลือด ไปจนถึงกล้ามเนื้อหัวใจตาย โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้ยาเกินขนาด มีโรคประจำตัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือใช้ยาที่ตีกับยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ทาง website นี้ เรื่อง “ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน ergotamine ใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัย” และ “ปวดไมเกรน ... ระวังปัญหายาตีกันของ ergotamine”)

จากปัญหาอาการข้างเคียง การมีโอกาสใช้ยาเกินขนาด และ การมีโอกาสยาตีกัน ในผู้ที่ใช้ยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน ดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันมีการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เพื่อป้องกันไมเกรนเพื่อลดความถี่ของการปวดศีรษะซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้ยารักษาอาการปวดแบบเฉียบพลันได้ และหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีการพูดถึงบ่อยๆ คือ ผลิตภัณฑ์เสริมแมกนีเซียม

แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่พบมากภายในเซลล์ของร่างกาย มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์สารชีวเคมีชนิด adenosine triphosphate (ATP) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อ ความคงสภาพของเยื่อหุ้มเซลล์ รวมถึงส่งผลต่อกระบวนการส่งสัญญาณประสาทหรือการหลั่งสารสื่อประสาทต่างๆ ด้วย ทั้งนี้มีงานวิจัยหลายฉบับที่แสดงให้เห็นผลในหลอดทดลองหรือสัตว์ทดลองว่าแมกนีเซียมอาจส่งผลยับยั้งกระบวนการในการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้2-5 ทำให้มีความพยายามในการนำแมกนีเซียมมาทดลองใช้ในคนเพื่อป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน6 ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยในมนุษย์บางฉบับพบว่าการใช้แมกนีเซียมช่วยลดจำนวนวันหรือจำนวนครั้งของการปวดศีรษะไมเกรนต่อเดือนลงได้ร้อยละ 22-43 ซึ่งมากกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ แต่งานวิจัยบางฉบับกลับไม่พบความแตกต่างระหว่างการได้รับแมกนีเซียมและยาหลอก โดยขนาดยาของแมกนีเซียมที่ใช้ในการศึกษาเหล่านี้อยู่ในช่วง 300 – 600 มิลลิกรัมต่อวัน และบางงานวิจัยเป็นการทดลองใช้แมกนีเซียมร่วมกับ co-enzyme Q10 และแร่ธาตุอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม อาการข้างเคียงสำคัญที่พบจากการศึกษาเหล่านี้ คือ ท้องเสีย ซึ่งพบได้ร้อยละ 5-45.7 ของผู้ที่เข้าร่วมการศึกษา

จากข้อมูลข้างต้น สรุปได้ว่าการใช้แมกนีเซียมเพื่อป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนนั้นอาจได้ประโยชน์สำหรับบางคน และในขณะเดียวกันอาจก่อให้เกิดอาการท้องเสียหรือถ่ายเหลวได้มากขึ้น รวมถึงการรับประทานแมกนีเซียมอาจตีกับยาปฏิชีวนะบางชนิดและเสี่ยงต่อการเกิดความล้มเหลวในการรักษาภาวะติดเชื้อได้7

แมกนีเซียมมีจำหน่ายในประเทศไทยในรูปแบบยา (ยาเม็ดแข็ง และ ยาเม็ดฟู่) และรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยส่วนใหญ่ประกอบด้วยแมกนีเซียม ร่วมกับ แร่ธาตุอื่นๆ เช่น แคลเซียม สังกะสี เหล็ก และ วิตามิน เช่น วิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี วิตามินเอ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ได้ให้การรับรองข้อบ่งใช้ในการป้องกันไมเกรน8

ดังนั้นการตัดสินใจรับประทานแมกนีเซียมเพื่อป้องกันไมเกรนควรพิจารณาทั้งประโยชน์และผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นเป็นหลัก และขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับทราบข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

เอกสารอ้างอิง
  1. Minor DS, Wofford MR. Chapter 45. Headache disorders. In: DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey L. eds. Pharmacotherapy: a pathophysiologic approach, 9 edition. McGraw-Hill. [Cited 2020 July 7]. Available from: https://accesspharmacy.mhmedical.com/content.aspx?bookid=689§ionid=45310495.
  2. Mody I, Lambert JD, Heinemann U. Low extracellular magnesium induces epileptiform activity and spreading depression in rat hippocampal slices. J Neurophysiol. 1987;57(3):869-88.
  3. Weglicki WB, Phillips TM. Pathobiology of magnesium deficiency: a cytokine/neurogenic inflammation hypothesis. Am J Physiol. 1992;263(3 Pt 2):R734-7.
  4. Foster AC, Fagg GE. Neurobiology. Taking apart NMDA receptors. Nature. 1987;329(6138):395-6.
  5. Meller ST, Gebhart GF. Nitric oxide (NO) and nociceptive processing in the spinal cord. Pain. 1993;52(2):127-36.
  6. von Luckner A, Riederer F. Magnesium in migraine prophylaxis-Is there an evidence-based rationale? A systematic review. Headache. 2018;58(2):199-209.
  7. Sulli MM, Ezzo DC. Drug interactions with vitamins and minerals. US Pharm 2007;1:42-55.
  8. แมกนีเซียม. [อินเทอร์เน็ต] [เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.