Knowledge Article


ยารักษาโรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย


อาจารย์ ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://i.insider.com/5649fdb7112314ef038b5627?width=1100&format=jpeg&auto=webp
87,276 View,
Since 2020-06-30
Last active: 9m ago
https://tinyurl.com/2nppw3y9
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ผู้อ่านเคยเป็นหรือเคยเห็นคนใกล้ชิดเป็นแบบนี้กันบ้างไหม? บางช่วงที่ต้องใส่ถุงเท้าและรองเท้าทำงานนาน ๆ และมีเหงื่อออกที่เท้ามาก ๆ หลายวันติดต่อกัน จะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีกลิ่นเท้าเหม็น ทั้ง ๆ ที่เปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน และเมื่อสังเกตที่ฝ่าเท้าพบว่ามีลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ หรือถลอกเป็นปื้น ๆ ร่วมกับอาการกลิ่นเหม็นนั้น ยิ่งไปกว่านั้น บางคนคิดว่าตัวเองเป็นโรคน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อราจึงหาซื้อยาฆ่าเชื้อรามาทาแต่ก็ไม่หาย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า อาการเท้าเหม็นที่ว่ามานั้นไม่ได้เกิดจากเชื้อราแต่เป็นเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งบางครั้งเรียกโรคนี้ว่า “โรคเท้าเป็นรู” หรือ “โรคเท้าเหม็นเป็นรู” ในบทความนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ว่าเป็นอย่างไร และมียาอะไรบ้างที่ใช้ในการรักษา

โรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย เกิดได้อย่างไร

โรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “pitted keratolysis (พิต-เต็ด-เคอร์-รา-โท-ไล-สิส)” ตามลักษณะอาการที่พบ นั้นคือ ผิวหนังบริเวณฝ่าเท้าเป็นรู (pitted = รู หรือ หลุม) เนื่องจากมีการหลุดลอกของผิวหนังชั้นบน (keratolysis = การสลายของผิวหนังชั้นบน) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก โดยเฉพาะกลุ่ม Corynebacterium spp. (โค-ราย-นี-แบค-ที-เรียม) หรือ Kytococcus sedentarius (ไค-โต-คอค-คัส-ซี-เด็น-ทา-เรียส) ซึ่งปกติพบบนผิวหนังของมนุษย์ในปริมาณพอเหมาะ แต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะอับชื้น โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้นอย่างบ้านเรา ดังนั้น ผู้ที่มีเหงื่อออกมากและสวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่ระบายอากาศได้ไม่ดีหรือไม่รักษาความสะอาดของถุงเท้าและรองเท้า มักส่งเสริมการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจนก่อให้เกิดโรคที่ฝ่าเท้าได้ โดยเชื้อเหล่านี้สามารถผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยสลายผิวหนังชั้นบนจนเกิดเป็นรูหรือหลุม (ดังแสดงในรูปภาพ) โดยเฉพาะฝ่าเท้าบริเวณที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ แต่มักไม่มีอาการคัน (แตกต่างจากเชื้อราหรือน้ำกัดเท้า) ส่วนกลิ่นเท้าที่เหม็นนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสร้างสารประกอบซัลเฟอร์ (sulfur compounds) ออกมาซึ่งมีกลิ่นเฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่ต้องกังวลว่าหากอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วจะติดมาด้วย



โรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย รักษาอย่างไร

ยาหลักที่ใช้รักษาโรคนี้ ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดทาผิวหนัง (ดังแสดงในตาราง) ซึ่งใช้เวลารักษาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ร่วมกับการรักษาความสะอาดและดูแลเท้าด้วยสบู่ที่มียาฆ่าเชื้อ และอาจต้องใช้สารระงับเหงื่อ เช่น 20% aluminium chloride (อะ-ลู-มิ-เนียม-คลอ-ไรด์) ซึ่งมีทั้งชนิดผงโรยเท้าและน้ำยาทาเท้า วันละ 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าร่วมด้วย นอกจากนี้ บางกรณีแพทย์อาจจ่ายยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดรับประทานให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเป็นบริเวณกว้าง หรือใช้ยาทาแล้วไม่หาย แต่ยารับประทานอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้มากกว่า เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการแพ้ยา เป็นต้น



วิธีการดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันการเกิดโรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย

สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แล้วมักเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้น จึงควรดูแลเท้าให้แห้งอยู่เสมอ และปฏิบัติตัวดังนี้
  • ล้างหรือฟอกเท้าด้วยสบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่ผสมยาฆ่าเชื้อ แล้วเช็ดให้แห้ง
  • ทาสารระงับเหงื่อที่เท้า (ดังกล่าวมาแล้ว) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
  • สวมถุงเท้าที่ดูดซับเหงื่อได้ดี เช่น ถุงเท้าที่ทำจากผ้าฝ้าย หรือ wool เป็นต้น
  • เปลี่ยนถุงเท้าบ่อยขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีเหงื่อออกมาก
  • สวมรองเท้าหุ้มส้น เช่น รองเท้าบูท รองเท้ากีฬา รองเท้าคัทชู ในช่วงเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • ไม่ควรสวมรองเท้าเดิมติดต่อกันเกินสองวัน ควรสลับการใช้เพื่อจะได้นำไปตากให้แห้ง
  • ควรสวมรองเท้าแตะที่มีการระบายอากาศที่ดี เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องสวมใส่ชุดพิธีการมากนัก
  • ไม่ควรใช้ถุงเท้า รองเท้า หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น แม้โรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่าอาการเท้าเหม็นและเป็นรูนั้นสามารถป้องกันและรักษาได้ หากใครสงสัยว่าตัวเองมีอาการคล้ายโรคนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง หรือในเบื้องต้นสามารถไปปรึกษาเภสัชกรในร้านยาใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับคำแนะนำหรือส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาอย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง
  1. Bristow IR, Lee YL. Pitted keratolysis: a clinical review. J Am Podiatr Med Assoc 2014;104:177-82.
  2. Pranteda G, Carlesimo M, Pranteda G, Abruzzese C, Grimaldi M, De Micco S, et al. Pitted keratolysis, erythromycin, and hyperhidrosis. Dermatol Ther 2014;27:101-4.
  3. Leung AK, Barankin B. Pitted Keratolysis. J Pediatr 2015;167:1165.
  4. Gao Y, Liu Z. Pits on the sole of the foot. BMJ 2018;361.
  5. Law RWY, So E, Chu AKC, Logan DB. Pitted keratolysis: a case report and review of current literature. Proceedings of Singapore Healthcare 2018.
  6. Oakley A. Pitted keratolysis [Internet]. Dermnetnz.org. 2016 [cited 26 Jun 2020]. Available from: https://dermnetnz.org/topics/pitted-keratolysis/

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.