Knowledge Article


ยารักษาโรคเบาหวานกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ


นศภ. ปาณิสรา อุทัยสินศักดิ์
นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : อาจารย์ ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย)
ภาพประกอบจาก : https://www.gvokeglucagon.com/assets/images/efficacy-icon.png
45,751 View,
Since 2020-06-15
Last active: 1 days ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นหนึ่งในอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งเกิดจากร่างกายมีระดับกลูโคสในเลือดต่ำกว่าปกติ (ต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) โดยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย และในบางกรณีอาจเกิดความรุนแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ[1,2]

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมีอาการอะไรบ้าง

อาการที่อาจพบจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่ ใจสั่น รู้สึกหิว เหงื่อออก มือสั่น กระสับกระส่าย คลื่นไส้ และชา เป็นต้น ส่วนกรณีที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรงอาจเกิดอาการอ่อนเพลีย มึนงง ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว ง่วงซึม หลงลืม เกิดอัมพฤกษ์ครึ่งซีก หมดสติ และชักได้จากการที่สมองขาดกลูโคส[1,2]

ยารักษาโรคเบาหวานตัวไหนบ้างที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ยารักษาโรคเบาหวานที่มีรายงานการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมากที่สุด คือ ยาฉีดอินซูลิน (insulin) และยารับประทานกลุ่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนในร่างกาย (ตารางที่ 1) โดยเฉพาะยาในกลุ่มซัลโฟนีลยูเรีย (sulfonylureas) ซึ่งยา glibenclamide อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมากที่สุดในกลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้นาน[3] และยากลุ่มที่ไม่ใช่ซัลโฟนีลยูเรีย เช่น repaglinide และ nateglinide เป็นต้น ในขณะที่ยากลุ่มอื่นนั้นมีโอกาสทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำน้อยกว่า (ตารางที่ 1) แต่สามารถเกิดได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากใช้ร่วมกับยาฉีดอินซูลินหรือยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน[1,2,4]



ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากยารักษาโรคเบาหวานเกิดได้อย่างไร

เมื่อผู้ป่วยได้รับยาฉีดอินซูลินหรือยากลุ่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินเข้าไปในร่างกายจะทำให้มีระดับของอินซูลินในเลือดสูงขึ้น ซึ่งทำให้ตับสร้างน้ำตาลกลูโคสลดลง และเพิ่มการเก็บกลูโคสเข้าสู่เซลล์เพื่อนำไปใช้สร้างพลังงาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง ทั้งนี้ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่เกิดจากยารักษาโรคเบาหวานนั้น ขึ้นกับชนิดของยา ขนาดยา (ขนาดสูงขึ้นอาจเสี่ยงมากขึ้น) หรือการได้รับยาในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม รวมถึงมีการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าปกติ หรือมีการออกกำลังกายมากกว่าปกติระหว่างที่ใช้ยา[5,6]

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  1. รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างครบถ้วนและตรงเวลา[1] โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยาฉีดอินซูลินและยา กลุ่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ซึ่งยาแต่ละชนิดถูกออกแบบวิธีการรับประทานมาให้เหมาะสมกับการออกฤทธิ์ของยาเพื่อให้ผู้ป่วยมีระดับอินซูลินในเลือดเพิ่มขึ้นในช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดกำลังสูงขึ้นจากการรับประทานอาหาร แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหาร หรือรับประทานยาและอาหารไม่ตรงเวลา อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้[5]
  2. ควรรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตในปริมาณเท่าเดิม เช่นเดียวกันกับการออกกำลังกาย โดยหากมีการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารหรือการออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์[1]
  3. หมั่นวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอร่วมกับสังเกตอาการของตนเอง[1]
การแก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเบื้องต้น

หากมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ให้รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม (ตารางที่ 2) แล้วติดตามอาการหลังจากรับประทานคาร์โบไฮเดรต 15 นาที โดยสามารถใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา หากระดับน้ำตาลในเลือดยังคงต่ำอยู่ (ต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตอีก 15 กรัม แล้วติดตามอาการและระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้งหลังจากนั้น 15 นาที[1]



กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น หมดสติ หรือไม่ตอบสนองต่อวิธีการแก้ไขข้างต้น หรือเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยแม้รับประทานยาและอาหารครบถ้วนตามเวลา และไม่ได้ปรับเปลี่ยนปริมาณการรับประทานอาหารรวมถึงการออกกำลังกาย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยา[1] โดยห้ามปรับเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง

เอกสารอ้างอิง
  1. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560. พิมพ์ครั้งที่ 3. ปทุมธานี: ร่มเย็น มีเดีย, 2560.
  2. Brunton LL, Dandan RH, Knollmann BC. Goodman & Gliman's the pharmacological basis of therapeutics. 13th ed. New York: McGraw-Hill, 2018.
  3. Gangji AS, Cukierman T, Gerstein HC, Goldsmith CH, Clase CM. A systematic review and meta-analysis of hypoglycemia and cardiovascular events: a comparison of glyburide with other secretagogues and with insulin. Diabetes Care 2007; 30(2): 389-94.
  4. American Diabetes Association. Standards of medical care in diabetes—2020. Diabetes Care 2020; 43 (Suppl 1): S1-S212.
  5. Kumar V, Abbas AK, Aster JC. Robbins basic pathology. 10th ed. Pennsylvania: Elsevier, 2018.
  6. Hammer GD, Mcphee SJ. Pathophysiology of disease: an introduction to clinical medicine. 7th ed. New York: McGraw-Hill, 2014.
  7. Whitney E, Debruyne LK, Pinna K, Rolfes SR. Nutrition for health and health care. 4th ed. Belmont: Wadsworth, 2011.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.