Knowledge Article


ยาแก้ไอ เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (dextromethorphan) และการนำไปใช้ ในทางที่ผิด


บทความโดย คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
747,453 View,
Since 2010-02-04
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +

   Dextromethorphan เป็นยาลดอาการไอที่มีความนิยมใช้กันมานาน เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีและมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่พบรายงานการนำ dextromethorphan มาใช้ในทางที่ผิดและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยรุ่น

Dextromethorphan เป็นอนุพันธุ์ของ codeine มีฤทธิ์ต่อประสาทหลายอย่าง เช่น ปิดกั้น NMDA receptor, neuronal nicotinic receptor, เพิ่มปริมาณสารสื่อสมอง serotonin และกระตุ้น sigma receptor ยา dextromethorphanส่วนใหญ่ถูกผลิตอยู่ในรูปของยาเม็ดและยาน้ำเชื่อม ขนาดการรักษาปกติ คือ 15-30 mg ทุก 6-8 ชั่วโมง และขนาดยาต่อวันสูงสุด คือ 120 mg ซึ่งในขนาดยาปกติจะไม่มีผลทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุขหรือมีฤทธิ์แก้ปวดหรือทำให้เกิดความเป็นพิษ แต่มีผู้ที่นำไปใช้ในทางที่ผิดโดยใช้ยาในขนาดสูง คือ มากกว่า 360 mg เพื่อทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข (euphoria)หรือลดความปวด ซึ่งในปัจจุบันพบรายงานการได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาและการเสียชีวิตจากการใช้ยาในทางที่ผิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  อาการพิษเฉียบพลันจากการได้รับ dextromethorphan เกินขนาดจะขึ้นกับขนาดของการรับประทานยา ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกันหรือแข็งเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก พูดไม่ชัด ม่านตาขยาย เคลิบเคลิ้ม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง มึนงง ประสาทหลอน กระวนกระวาย สั่น ชัก ปวดศีรษะ สูญเสียความทรงจำ หมดสติ กดการหายใจ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ อาการผิดปกติทางประสาทมักเกิดขึ้นหลังจากรับประทานยาไปแล้ว 15-60 นาที และอาการจะคงอยู่ประมาณ 6ชั่วโมง

Dextromethorphan เป็นสาเหตุของการติดยาทางจิตใจ แต่ไม่ทำให้ติดทางร่างกาย อย่างไรก็ดีพบรายงานการติดยาและทำให้เกิดอาการอยากยาจากการใช้ยาโดยวิธีสูดผงทางจมูกเป็นเวลานานประมาณ 2-3 เดือน และพบรายงานในผู้ป่วยอีกรายหนึ่งที่กินยาน้ำเชื่อมแก้ไอที่มียา dextromethorphan เป็นเวลา 8 ปี และเริ่มมีอาการประสาทหลอน แต่อาการนี้จะหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อหยุดยา ผลของ dextromethorphan ในระยะยาวต่อจิตใจยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีรายงานว่ามีผู้กิน dextromethorphan 1,500 mg ในครั้งเดียว จะมีอาการประสาทหลอนเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมงหลังจากกินยา จากนั้นตามด้วยอาการ ซึมเศร้า  อยากฆ่าตัวตาย และนอนไม่หลับ  เมื่อหยุดยาอาการจะหายไป

การให้ความรู้เรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องและแก้ไขความเชื่อผิดๆ เช่น กินยาแล้วจะมีความสุข หรือกินยาแล้วถูกตีจะไม่เจ็บ เป็นวิธีหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะช่วยลดการนำยา dextromethorphan และยาอีกหลายชนิดมาใช้ในทางที่ผิดซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทุกฝ่ายควรให้ความสนใจและร่วมมือกันในการแก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่องและมีการติดตามผลอย่างจริงจัง

 

Reference:

1. Dextromethorphan. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2010 Jan 22. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010 Feb 4].

Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.