Knowledge Article


กาแฟ…ระวังในโรคใด?


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://cdn.shopify.com/s/files/1/0835/4099/files/coffee-bp_large.jpg?v=1478547623
114,893 View,
Since 2020-04-02
Last active: 10m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่บริโภคกันแพร่หลาย ในกาแฟมีสารสำคัญหลายอย่างทั้งชนิดที่ให้ผลดีและชนิดที่ให้ผลเสียต่อร่างกาย สารสำคัญที่รู้จักกันดีคือคาเฟอีน ทำให้สมองตื่นตัวและรู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่ทำให้บางคนนอนไม่หลับ ใจสั่นและความดันโลหิตเพิ่มชั่วขณะ นอกจากนี้ในกาแฟยังมีสารที่ส่งผลรบกวนระดับไขมันในเลือด ด้วยเหตุนี้การดื่มกาแฟโดยเฉพาะในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่เป็นโรคบางอย่าง อย่างไรก็ตามในกาแฟมีสารประเภทแอนติออกซิแดนต์ (antioxidants) ซึ่งช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระ จึงอาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางอย่าง ในบทความนี้นอกเหนือจากการให้ข้อมูลถึงข้อควรระวังในการบริโภคกาแฟที่อาจส่งผลกระทบต่อโรคบางอย่างแล้ว ยังให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสารสำคัญในกาแฟ การแสดงฤทธิ์ของสารสำคัญต่อร่างกาย และผลต่อสุขภาพ

กาแฟมีสารใดบ้าง?

ในกาแฟมีสารหลายอย่างมากกว่า 1,000 ชนิด ตัวอย่างสารสำคัญ เช่น คาเฟอีน (caffeine) มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง; สารกลุ่มไดเทอร์พีน (diterpenes) เช่น คาเฟสทอล (cafestol) คาเวออล (kahweol) เพิ่มโคเลสเตอรอล (และไตรกลีเซอไรด์) ในเลือด; สารกลุ่มแอนติออกซิแดนต์ ซึ่งมีหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenols) เช่น กรดคลอโรจินิก (chlorogenic acid) กรดคาเฟอิก (caffeic acid), กลุ่มเมลานอยด์ (melanoids), กลุ่มควิไนด์ (quinides), กลุ่มลิกแนน (lignans) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีทริโกเนลลีน (trigonelline) และแมกนีเซียมซึ่งเป็นแอนติออกซิแดนต์ด้วย แอนติออกซิแดนต์เหล่านี้ช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระ ปริมาณสารต่าง ๆ ในเมล็ดกาแฟ อาจมีมากหรือน้อยขึ้นกับชนิด แหล่งที่มา และระยะเวลาในการคั่ว การกรองกาแฟก่อนดื่มจะลดปริมาณคาเฟสทอลและคาเวออล ส่วนกาแฟผงสำเร็จรูปไม่พบคาเฟสทอลและคาเวออล กาแฟที่ผ่านการกรองและกาแฟผงสำเร็จรูปอาจมีปริมาณสารอื่นลดลงด้วย

กาแฟมีคาเฟอีนมากน้อยเพียงใด?

ในเครื่องดื่มกาแฟ 1 แก้วมีปริมาณคาเฟอีนมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของผงกาแฟที่ใช้ รูปแบบการชงและความนิยมในการบริโภค โดยทั่วไปในปริมาตร 1 แก้ว (ขนาด 240-250 มิลลิลิตร) มีคาเฟอีน 60-200 มิลลิกรัม กาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออก (decaffeinated coffee) ยังคงมีคาเฟอีนเหลืออยู่เล็กน้อย โดยในเครื่องดื่ม 1 แก้วอาจมีปริมาณคาเฟอีนราว 3 มิลลิกรัม

สารสำคัญในกาแฟมีผลต่อร่างกายอย่างไร?

ในกาแฟมีสารสำคัญมากมายซึ่งแสดงฤทธิ์แตกต่างกันไป ส่งผลต่อร่างกายหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น
  1. คาเฟอีน มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองให้ตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่าและนอนไม่หลับ คาเฟอีนยังกระตุ้นการหลั่งอะดรีนาลีน (adrenaline) ทำให้หัวใจทำงานเพิ่มขึ้น (หัวใจเต้นเร็วและเต้นแรงขึ้น) และหลอดเลือดหดตัว จึงส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น คาเฟอีนยังทำให้หลอดลมขยาย ต้านฤทธิ์อินซูลิน (ความไวต่ออินซูลินลดลงซึ่งส่งผลเสียต่อโรคเบาหวาน) เพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ (ส่งผลเสียต่อโรคกระดูกพรุน) ผู้บริโภคกาแฟมีความไวต่อคาเฟอีนต่างกันได้ขึ้นกับพันธุกรรม ทำให้มีความแตกต่างกันของตัวรับคาเฟอีน (เกี่ยวข้องกับการออกฤทธิ์ของคาเฟอีน) และความสามารถของเอนไซม์ที่กำจัดคาเฟอีน (โดยการเปลี่ยนคาเฟอีนไปเป็นสารอื่น)
  2. สารกลุ่มไดเทอร์พีน (ดูหัวข้อ "กาแฟมีสารใดบ้าง?") แม้ในเมล็ดกาแฟไม่มีโคเลสเตอรอล แต่สารในกลุ่มนี้ทำให้โคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มขึ้น จึงอาจรบกวนการคุมระดับไขมันในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
  3. สารกลุ่มแอนติออกซิแดนต์ (ดูหัวข้อ "กาแฟมีสารใดบ้าง?") มีฤทธิ์ต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระ จึงลดปฏิกิริยาการอักเสบและการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง นอกจากนี้สารบางชนิดยังทำให้กระบวนการใช้กลูโคสและไขมันเกิดได้ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ให้ผลดีต่อร่างกาย


กาแฟกับสุขภาพ

ในกาแฟมีสารสำคัญหลายอย่างที่ให้ผลต่อร่างกายแตกต่างกันดังกล่าวข้างต้น การดื่มกาแฟมีทั้งให้ผลดีและผลเสียต่อร่างกาย (ดูรูป) ในด้านผลดีนั้นคาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองให้ตื่นตัวและรู้สึกกระปรี้กระเปร่า จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นอกจากนี้ในกาแฟมีสารพวกแอนติออกซิแดนต์หลายอย่าง สารเหล่านี้ลดการเกิดอนุมูลอิสระ จึงลดปฏิกิริยาการอักเสบ ลดการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และช่วยให้กระบวนการใช้กลูโคสและไขมันเกิดได้ดี ผลการศึกษาด้านระบาดวิทยา (epidemiological study) หลายการศึกษาพบว่า ในผู้ที่มีสุขภาพดีทั่วไปการดื่มกาแฟปริมาณปานกลางซึ่งมีคาเฟอีนประมาณ 200 มิลลิกรัมต่อครั้งและรวมทั้งวันประมาณ 400 มิลลิกรัม (ปริมาณวันละ 3-4 แก้ว) ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงได้เล็กน้อยต่อการเกิดโรคบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง (ยกเว้นในผู้ที่สูบบุหรี่) โรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง) โรคเบาหวาน โรคความจำบกพร่องรวมถึงโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และยังทำให้อัตราการตายจากสาเหตุโดยรวมลดลง อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวนำมาจากหลากหลายการศึกษาและส่วนใหญ่เป็นการศึกษาด้านระบาดวิทยา ซึ่งผลการศึกษาอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยกวนบางอย่าง เช่น กิจวัตรในการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบที่มีการควบคุมปัจจัยกวนต่าง ๆ อย่างดีพอและน่าเชื่อถือ

ในด้านผลเสียนั้นกาแฟเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เป็นผลมาจากคาเฟอีนและสารกลุ่มไดเทอร์พีน ซึ่งคาเฟอีนเพิ่มการทำงานของหัวใจและทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้ ส่วนสารกลุ่มไดเทอร์พีนรบกวนระดับไขมันในเลือด การดื่มกาแฟปริมาณมากในคราวเดียว อาจทำให้เกิดใจสั่น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นชั่วขณะ กระสับกระส่าย และนอนไม่หลับ คาเฟอีนยังต้านฤทธิ์อินซูลินได้จึงอาจรบกวนการคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน (ในขณะที่สารกลุ่มแอนติออกซิแดนต์ในกาแฟให้ผลดีต่อการคุมระดับน้ำตาลในเลือด) นอกจากนี้การที่คาเฟอีนเพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ ผู้หญิงที่ดื่มกาแฟปริมาณมากเป็นประจำอาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลงเล็กน้อยโดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ผู้หญิงมีครรภ์ที่ดื่มกาแฟปริมาณมากตลอดช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือคลอดก่อนกำหนด อย่างไรก็ตามในคนที่มีสุขภาพดีโดยทั่วไปการดื่มกาแฟในชีวิตประจำวันไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย การดื่มกาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออกทำให้ได้รับผลเสียเกิดจากคาเฟอีนลดลง ส่วนการกรองกาแฟหรือการดื่มกาแฟผงสำเร็จรูปทำให้ลดผลกระทบจากสารที่เพิ่มโคเลสเตอรอล แต่อาจทำให้สารพวกแอนติออกซิแดนต์ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระลดลงด้วย นอกจากนี้หากจะดื่มกาแฟควรหลีกเลี่ยงการใส่น้ำตาลและครีม

กาแฟ..ระวังในโรคใด?

แม้ว่าผลการศึกษาด้านระบาดวิทยาที่ผ่านมาจะพบว่า การบริโภคกาแฟในคนสุขภาพดีทั่วไปไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งการบริโภคในปริมาณปานกลางอาจช่วยลดความเสี่ยงได้เล็กน้อยต่อโรคบางอย่าง อย่างไรก็ตามผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าวข้างล่างนี้ ควรระมัดระวังการบริโภคกาแฟ เพราะอาจได้รับผลกระทบจากฤทธิ์ของคาเฟอีนและสารกลุ่มไดเทอร์พีนในกาแฟได้
  1. โรคนอนไม่หลับ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟก่อนเข้านอน
  2. โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมอาการไม่ได้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟปริมาณมากในเวลาใกล้เคียงกัน เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตทั้งขณะหัวใจบีบตัวและคลายตัวเพิ่มขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังการดื่มและอาจเพิ่มอยู่นาน 3 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่คุมความดันโลหิตได้ดีอาจไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
  3. โรคไขมันในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟสดหรือกาแฟต้มที่ไม่ผ่านการกรอง เพราะอาจทำให้คุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือดได้ไม่ดี
  4. โรคกระดูกพรุน เนื่องจากคาเฟอีนเพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ อาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลงเล็กน้อย แม้ไม่ถึงระดับที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก แต่ควรระมัดระวังในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ
สำหรับผู้หญิงมีครรภ์หากดื่มกาแฟปริมาณมากตลอดช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือคลอดก่อนกำหนด บางการศึกษายังกล่าวถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ส่วนผู้หญิงที่ให้นมบุตรหากดื่มกาแฟจะมีคาเฟอีนถูกขับออกทางน้ำนมได้ ซึ่งแม้ว่าคาเฟอีนในน้ำนมไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อทารกแต่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมบางอย่างของทารกอันเกิดจากฤทธิ์คาเฟอีนที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เช่น นอนน้อยลง ตื่นง่าย กระสับกระส่าย งอแง อยู่ไม่สุข ดูดนมได้ไม่ดี (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง คาเฟอีนในน้ำนมแม่...มีผลอย่างไรต่อทารก?)

เอกสารอ้างอิง
  1. Bonyata K. Breastfeeding and caffeine [updated: January 13, 2018]. https://kellymom.com/bf/can-i-breastfeed/lifestyle/caffeine/. Accessed: January 2020.
  2. Hu GL, Wang X, Zhang L, Qiu MH. The sources and mechanisms of bioactive ingredients in coffee. Food Funct 2019; 10:3113-26.
  3. Hirakawa Y. Coffee drinking and risk of all-cause mortality and cardiovascular diseases. Circ J 2019; 83:711-2.
  4. Navarro AM, Martinez-Gonzalez MA, Gea A, Ramallal R, Ruiz-Canela M, Toledo E. Coffee consumption and risk of hypertension in the SUN Project. Clin Nutr 2019; 38:389-97.
  5. O'Keefe JH, DiNicolantonio JJ, Lavie CJ. Coffee for cardioprotection and longevity. Prog Cardiovasc Dis 2018; 61:38-42.
  6. Poole R, Kennedy OJ, Roderick P, Fallowfield JA, Hayes PC, Parkes J. Coffee consumption and health: umbrella review of meta-analyses of multiple health outcomes. BMJ 2017. doi:10.1136/bmj.j5024. Accessed: February 2020.
  7. Hallström H, Byberg L, Glynn A, Lemming EW, Wolk A, Michaëlsson K. Long-term coffee consumption in relation to fracture risk and bone mineral density in women. Am J Epidemiol 2013; 178:898-909.
  8. Nehlig A. Effects of coffee/caffeine on brain health and disease: What should I tell my patients? Pract Neurol 2016; 16:89-95.
  9. Rodríguez-Artalejo F, López-García E. Coffee consumption and cardiovascular disease: a condensed review of epidemiological evidence and mechanisms. J Agric Food Chem 2018; 66:5257-63.
  10. Baspinar B, Eskici G, Ozcelik AO. How coffee affects metabolic syndrome and its components. Food Funct 2017; 8:2089-101.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.